เกิดอะไรขึ้น:
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 22 มีนาคม 2563 ได้นัดประชุมวาระพิเศษเพื่อพิจารณามาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบสนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่จำนวน 10 GB ต่อคนต่อเดือน จนถึงเดือนมิถุนายน 2563 เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนทำงานที่บ้าน ตามที่รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ผู้ใช้บริการปัจจุบัน จะได้รับการเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตสู่ระดับ 100 Mbps โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ซึ่งมาตรการเหล่านี้ กสทช. จะชดเชยให้ผู้ให้บริการด้วยการลดค่าธรรมเนียม USO ให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มสื่อสาร
สำหรับขั้นตอนต่อไป กสทช. จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติมาตรการก่อนที่จะมีผลบังคับใช้จริง
กระทบอย่างไร:
นับตั้งแต่มีการประชุมพิเศษของ กสทช. ในวันที่ 22 มีนาคม 2563 จนถึงวันนี้ พบว่า
- ราคาหุ้น บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เพิ่มขึ้น 6.4% สู่ระดับ 37.25 บาท
- ราคาหุ้น บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เพิ่มขึ้น 0.3% สู่ระดับ 198 บาท
- ราคาหุ้น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ลดลง 4.3% สู่ระดับ 3.08 บาท
ทั้งนี้ ดูเหมือนว่าราคาหุ้นกลุ่มสื่อสารยังไม่ค่อยตอบสนองต่อประเด็นนี้มากนัก ซึ่งคาดว่าตลาดกำลังรอความชัดเจนจากการอนุมัติของที่ประชุม ครม. ก่อน
มุมมองระยะสั้น:
ในระยะสั้น SCBS คาดว่ามาตรการแจกอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ 10 GB จะเป็นปัจจัยบวกต่อรายได้ของผู้ให้บริการมากกว่า เนื่องจากมาตรการดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มสื่อสารได้รายได้เพิ่มขึ้นราว 50-100 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน
โดย SCBS ประเมินว่า มาตรการนี้จะทำให้ประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ของ
- ADVANC เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมราว 8-16% สำหรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2563
- DTAC เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมราว 26-52%
- สำหรับ TRUE มาตรการนี้จะช่วยให้บริษัทพลิกกลับมามีกำไรสุทธิในปี 2563 ได้
สำหรับมาตรการเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ขึ้นเป็น 100 Mbps SCBS คาดว่าจะไม่ช่วยหนุนต่อทิศทางกำไรสุทธิปี 2563 ของผู้ประกอบการสื่อสารได้อย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ ต้องติดตามการพิจารณาอนุมัติมาตรการดังกล่าวจาก ครม. หากมีการเลื่อนการพิจารณาออกไป หรือปรับเปลี่ยนเงื่อนไขที่เป็นผลกระทบเชิงลบต่อผู้ประกอบการกลุ่มสื่อสาร จะเป็นความเสี่ยงกดดันต่อราคาหุ้นกลุ่มสื่อสารได้
มุมมองระยะยาว:
ในระยะยาวยังคงต้องติดตามการสร้างรายได้เชิงพาณิชย์จากการให้บริการ 5G หลังจากการประมูลคลื่น 5G เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งยังคงเป็นความท้าทายที่ต้องติดตามของผู้ประกอบการกลุ่มสื่อสารต่อไป รวมถึงติดตามทิศทางจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จบลงแล้ว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์