วันนี้ (28 มีนาคม) นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ว่า สถานการณ์ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 109 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้
กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 39 ราย ได้แก่
– กลุ่มสนามมวย 10 ราย
– กลุ่มสถานบันเทิง 8 ราย
– กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 21 ราย
กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 17 ราย ได้แก่
– กลุ่มที่เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงทั้งคนไทยและคนต่างชาติ 8 ราย
– กลุ่มผู้ทำงานหรืออาศัยในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมาก หรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ 7 ราย
– บุคลากรทางการแพทย์ 2 ราย
กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอประวัติและสอบสวนโรค 53 ราย
โดยวันนี้มีผู้ป่วยเสียชีวิต 1 ราย เป็นหญิงอายุ 55 ปี มีประวัติป่วยเป็นโรคเบาหวาน ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี และไขมันในเลือดสูง เข้ามารักษาอาการเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ด้วยอาการหอบเหนื่อย
ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก 17 รายมีอาการปอดอักเสบ ใส่เครื่องช่วยหายใจและเฝ้าระวังอาการใกล้ชิด ในจำนวนนี้ 1 รายใช้เครื่อง ECMO อาการอยู่ในภาวะวิกฤต
สรุปวันนี้มีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 100 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 1,139 ราย เสียชีวิต 6 ราย รวมมีผู้ป่วยสะสม 1,245 ราย
ขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจำนวน 17 ราย รับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ กลาโหม และกรุงเทพมหานคร จำนวน 12 ราย ส่วนอีก 5 รายอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี เพชรบูรณ์ นครราชสีมา และบุรีรัมย์ มีอายุระหว่าง 31-76 ปี และมีประวัติเสี่ยงทำงานที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว อาทิ ขับรถบริการ พนักงานร้านนวด และไปสนามมวย และครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยอาการหนักมีอายุมาก
ทั้งนี้สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 นั้น ผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว มีอัตราป่วยตายไม่ถึง 1% แต่ถ้ามีโรคประจำตัวและอายุมาก อัตราป่วยตายมากกว่า 10% จึงเป็นที่มาของการรณรงค์ไม่ให้ผู้สูงอายุติดเชื้อโควิด-19
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ที่พบนอกจากจะเป็นกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในสถานบันเทิง สนามมวย ที่มีรายงานผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังพบเป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ผู้มีอาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด ใกล้ชิดสัมผัสกับชาวต่างชาติ แสดงให้เห็นว่าประชาชนบางส่วนยังไม่งดการเดินทาง และยังมีการป้องกันตัวเองไม่ดีพอในขณะทำงาน จึงขอย้ำเตือนให้ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทั้งในที่ทำงานและที่บ้าน โดยอยู่ห่างกันระยะ 1-2 เมตร สวมหน้ากากป้องกัน ล้างมือบ่อยๆ แยกสำรับอาหารและของใช้ส่วนตัว