×

บุคลากรทางการแพทย์ติดโควิด-19 ความผิดใคร? แล้วเราจะช่วยอะไรได้บ้าง?

26.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • นายแพทย์หลี่เหวินเลี่ยง ไม่ได้เป็นแพทย์เพียงคนเดียวของจีนที่เสียชีวิตจากโรคนี้ แต่จากรายงานข่าวยังมีอีกอย่างน้อย 20 ท่าน (ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563) ที่ต้องเสียสละชีวิตของตนเองในการดูแลผู้ป่วย 
  • ​“โชคร้าย ที่แพทย์บางคนปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันเพียงพอ” ตัวแทนแพทย์ในมาดริด เมืองหลวงของสเปน กล่าวถึงสาเหตุการติดเชื้อของบุคลากรฯ ผลที่ตามมาคือบุคลากรที่ปฏิบัติงานไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น และแพทย์ที่ป่วยอาจกลายเป็นพาหะของการแพร่ระบาดภายในโรงพยาบาลด้วย 
  • ถ้าเราเคยโศกเศร้ากับการสูญเสียนายแพทย์หลี่เหวินเลี่ยง เราคงไม่อยากให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ในฐานะประชาชน หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ควรแจ้งให้โรงพยาบาลทราบ ถึงแม้จะไปตรวจด้วยโรคอื่น เช่น อุบัติเหตุ เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้ระมัดระวังตัว อาจบริจาคอุปกรณ์ เช่น หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ให้กับโรงพยาบาลในอำเภอหรือจังหวัดของตน ในขณะที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการอุปกรณ์ป้องกันตัวให้กับบุคลากรฯ ที่จะต้องดูแลผู้ป่วยในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าอย่างเพียงพอ
  • ส่วนผมในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ ขอเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขทบทวนบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ก่อนที่ระบบสาธารณสุขจะเข้าสู่ภาวะใกล้จะล่มสลายเหมือนประเทศในทวีปยุโรป
  •  

​ถ้ายังจำนายแพทย์หลี่เหวินเลี่ยงได้ เขาเป็นแพทย์คนแรกที่ส่งข้อความบอกเพื่อนในกลุ่มว่ามีการระบาดของโรคที่คล้ายกับโรคซาร์สในเมืองอู่ฮั่น เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2562 ซึ่งคนจำนวนมากส่งต่อข้อความของเขา จนทำให้ถูกทางการจีนจับกุมในข้อหาเผยแพร่ข่าวลือ แต่เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 ขึ้นจริง เขาก็ได้รับการปล่อยตัว  

 

​ทว่าเขากลับติดเชื้อนี้ด้วย และเสียชีวิตในอีก 1 เดือนถัดมา 

 

​กรณีของนายแพทย์หลี่เหวินเลี่ยงสะท้อนให้เห็นถึงการควบคุมการแสดงความคิดเห็นอย่างเข้มงวดของประเทศจีน และการปิดข่าวในช่วงแรกไม่ให้ประชาชนรับรู้ว่ามีการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ แต่อีกแง่หนึ่งเขาก็เป็น ‘บุคลากรทางการแพทย์’ ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล และมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าผู้อื่น 

 

ตัวอย่างจากจีน แพทย์เสียชีวิตจากโควิด-19 อย่างน้อย 20 ราย

​จากรายงานของคณะทำงานร่วมระหว่างองค์การอนามัยโลกและประเทศจีน ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 มีบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศจีนจำนวน 2,055 ราย ป่วยเป็นโควิด-19 โดยส่วนใหญ่ 8 ใน 10 คนอยู่ในมณฑลหูเป่ย ซึ่งเป็นการติดเชื้อในช่วงแรกที่มีการระบาด เพราะยังขาดอุปกรณ์และประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วย  

 

​หากแบ่งระยะเวลาในเมืองอู่ฮั่นก่อนที่จะปิดเมืองออกเป็น 3 ช่วง คือ

  • ก่อนวันที่ 1 มกราคม
  • ช่วงวันที่ 1-11 มกราคม 
  • และ 12-22 มกราคม 2563 

 

จะพบว่า บุคลากรทางการแพทย์ป่วยเป็นโควิด-19 เพิ่มขึ้นเท่ากับ 0%, 3% และ 7% ของผู้ป่วยทั้งหมดตามลำดับ 

 

แต่ถ้าเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการระบาด จะมีบุคลากรฯ เป็นสัดส่วนลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 4% โดย​เกือบทั้งหมดเป็นบุคลากรฯ ที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยทั่วไป รองลงมาเป็นห้องฉุกเฉิน และส่วนน้อยเป็นหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU) ซึ่งนายแพทย์หลี่เหวินเลี่ยงไม่ได้เป็นแพทย์เพียงคนเดียวที่เสียชีวิตจากโรคนี้ แต่จากรายงานข่าวยังมีอีกอย่างน้อย 20 ท่าน (ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563) ที่ต้องเสียสละชีวิตของตนเองในการดูแลผู้ป่วย 

 

 

ตัวอย่างจากประเทศอิตาลีและสเปน ชะตากรรมของแพทย์ที่แขวนไว้บนความขาดแคลน

​อย่างที่หลายท่านทราบว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในอิตาลีนั้นย่ำแย่กว่าประเทศจีนมาก 

 

ล่าสุด (25 มีนาคม 2563) มีผู้ป่วยรวม 67,814 ราย และมีโอกาสเสียชีวิตมากถึง 9% (2 เท่าของจีน) ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้มากถึง 6,205 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 9% ของผู้ป่วยทั้งหมด และเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 18 ราย 

 

​ส่วนสเปนที่มียอดผู้ป่วยตามหลังอิตาลีมาเป็นอันดับที่ 2 ของยุโรป พบบุคลากรทางการแพทย์ป่วยเป็นโควิด-19 แล้วมากกว่า 5,400 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 14% ของผู้ป่วยทั้งหมด แสดงว่าในผู้ป่วย 10 ราย จะต้องมีแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลป่วยอย่างน้อย 1 ราย! (ผมขยี้ตาซ้ำอย่างไม่เชื่อสายตาตัวเอง) 

 

​“โชคร้าย ที่แพทย์บางคนปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันเพียงพอ” ตัวแทนแพทย์ในมาดริด เมืองหลวงของสเปน กล่าวถึงสาเหตุการติดเชื้อของบุคลากรฯ ผลที่ตามมาคือบุคลากรที่ปฏิบัติงานไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น และแพทย์ที่ป่วยอาจกลายเป็นพาหะของการแพร่ระบาดภายในโรงพยาบาลด้วย 

 

หันกลับมามองที่ประเทศไทย

​สำหรับประเทศไทย วันนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเกิน 1 พันรายแล้ว ขณะเดียวกันก็มีข่าวบุคลากรทางการแพทย์ป่วยเป็นโควิด-19 เพิ่มขึ้นด้วย คือ 1+4+2+3 = รวมทั้งหมด 10 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 26 มีนาคม 2563) 

 

โดยบุคลากรฯ รายแรกของไทยมีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยที่เสียชีวิตรายแรก แต่ในขณะนั้นผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน 

 

​อีก 1 เดือนกว่าถัดมา (24 มีนาคม 2563) ถึงมีรายงานบุคลากรฯ ติดเชื้อขึ้นมาอีกครั้ง จำนวน 4 ราย ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ภูเก็ต ยะลา บุรีรัมย์ (เป็นวิสัญญีแพทย์ที่มีประวัติเดินทางไปต่างจังหวัด รวมถึงกรุงเทพฯ ก่อนจะมีอาการ) และนครปฐม (แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมแถลงว่าไม่มีบุคลากรฯ ติดเชื้อตามข่าว)  

เมื่อวาน (25 มีนาคม) 2 ราย และวันนี้ (26 มีนาคม) เพิ่มอีก 3 ราย เป็นแพทย์ 1 ราย และพยาบาล 2 ราย ที่โรงพยาบาลบันนังสตา จังหวัดยะลา ทำให้ต้องกักตัวเพื่อสังเกตอาการ (Home Quarantine) บุคลากรฯ รวม 21 คน ของโรงพยาบาลจึงต้องงดบริการผ่าตัด งดการบริการทางรังสีวิทยา ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน เลื่อนนัดผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และแพทย์ในจังหวัดต้องผลัดกันไปช่วยตรวจที่โรงพยาบาลดังกล่าวด้วย 

 

​จะเห็นว่าถ้าหากมีบุคลากรทางการแพทย์ป่วยแม้เพียงคนเดียว ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบบริการของทั้งโรงพยาบาลได้ เพราะลักษณะการทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพ ทำให้มีผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงจำนวนมาก และกระทบทุกแผนกที่ให้บริการ ซึ่งถ้าหากไม่กักตัวเจ้าหน้าที่ ก็มีบทเรียนจากโรคซาร์สแล้วว่า โรงพยาบาลจะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อในที่สุด 

 

สาเหตุมาจากไหน

​“เนื่องจากผู้ป่วยปกปิดประวัติเสี่ยง ทำให้บุคลากรฯ ไม่ได้ป้องกันตัวเองและติดเชื้อตามไปด้วย” 

 

เป็นสาเหตุฝั่ง ‘ผู้ป่วย’ ที่มีการกล่าวถึงในช่วง 1-2 วันมานี้ จึงมีการรณรงค์ให้ผู้ป่วยแจ้งประวัติเสี่ยง ได้แก่ การเดินทางกลับมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดในต่างประเทศ การทำงานที่ใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยว การสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือการเข้าไปในสถานที่ในช่วงเวลาเดียวกันกับผู้ป่วย เช่น สนามมวย สถานบันเทิง แก่โรงพยาบาลตามความจริง 

 

ซึ่งในขณะนี้ทุกโรงพยาบาลได้มีคลินิกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน (ARI Clinic) แยกจากห้องตรวจปกติออกมาต่างห่าง หากมีประวัติเหล่านี้ร่วมด้วย เจ้าหน้าที่ก็จะส่งตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ให้ 

 

 

แต่การที่บุคลากรฯ ติดเชื้อยังอาจมีสาเหตุจากฝั่ง ‘บุคลากรฯ’ ด้วย กล่าวคือไม่ได้ป้องกันตัวเองอย่างเหมาะสม ทั้งข้างนอกและในโรงพยาบาล ซึ่งความเหมาะสมนี้ขึ้นกับระดับความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ เช่น เจ้าหน้าที่ซักประวัติ-คัดกรองไม่จำเป็นต้องสวม ‘ชุดหมี’ หรือชุดนักบินอวกาศคลุมทั้งตัวเหมือนกับแพทย์ที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย

 

ทว่าปัญหาก็มักไม่ได้อยู่ที่ระดับ ‘บุคคล’ เพราะเจ้าหน้าที่ทุกคนจะระมัดระวังตัวเองเต็มที่อยู่แล้ว (ไม่มีใครอยากติดเชื้อ) แต่อาจเป็นปัญหาที่ระดับ ‘ระบบ’ การบริหารทรัพยากร ดังจะเห็นได้จากช่วงหลังนี้หน้ากากอนามัยขาดแคลน แม้กระทั่งในโรงพยาบาล ซึ่งบุคลากรฯ จะถูกจำกัดปริมาณหน้ากากต่อสัปดาห์ หรือต้องเย็บหน้ากากผ้าใช้กันเอง

 

ซึ่งความจริงแล้วบุคลากรฯ ไม่ควรใช้หน้ากากผ้า เพราะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสทางเดินทางหายใจ เนื่องจากไม่กันน้ำและต้องสวมเป็นเวลานาน นอกจากนี้การออกแบบสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดสถานที่ตรวจให้มีอากาศถ่ายเท การทำความสะอาด การคัดกรองและแยกผู้ป่วยก็ล้วนแล้วแต่จะช่วยปกป้องเจ้าหน้าที่จากการติดเชื้อได้

 

ถ้ายังจำนายแพทย์หลี่เหวินเลี่ยงได้ เราเคยโศกเศร้ากับการเสียชีวิตของเขา และคงไม่อยากให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ในฐานะประชาชน หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ควรแจ้งให้โรงพยาบาลทราบ ถึงแม้จะไปตรวจด้วยโรคอื่น เช่น อุบัติเหตุ เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้ระมัดระวังตัว อาจบริจาคอุปกรณ์ เช่น หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ให้กับโรงพยาบาลในอำเภอหรือจังหวัดของตน ในขณะที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการอุปกรณ์ป้องกันตัวให้กับบุคลากรฯ ที่จะต้องดูแลผู้ป่วยในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าอย่างเพียงพอ

 

ส่วนผมในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ ขอเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขทบทวนบทบาทหน้าที่ของตน ก่อนที่ระบบสาธารณสุขจะเข้าสู่ภาวะใกล้จะล่มสลายเหมือนประเทศในทวีปยุโรป

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์ 

อ้างอิง:

  •  Nearly 1 in 10 of Italy’s infected are health care workers https://edition.cnn.com/world/live-news/coronavirus-outbreak-03-22-20/h_e27a10efe9dfe61900b2ae6583e13189
  • Italy National Health Institute https://www.epicentro.iss.it/coronavirus/bollettino/Infografica_25marzo%20ENG.pdf
  • Virus Knocks Thousands of Health Workers Out of Action in Europe https://www.nytimes.com/2020/03/24/world/europe/coronavirus-europe-covid-19.html
  • รายงานข่าวกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประจำวันที่ 15 ก.พ. 63 https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/04/138717/
  • ครั้งแรกในไทย หมอ พยาบาล 4 ราย ติดโควิด-19 รับเชื้อจากผู้ป่วย ปิดประวัติเสี่ยงhttps://www.thairath.co.th/news/society/1802634
  • วิสัญญีแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 มีหมอ-พยาบาล คนไข้เสี่ยงสัมผัสเชื้อ กักตัวอีก 40 คน https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/872583
  • หมอ-พยาบาล บันนังสตายะลา ติดโควิด กักตัวเจ้าหน้าที่ 21 รายhttps://www.matichon.co.th/covid19/covid19-alert/news_2091546
  • นิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/g_srrt/g_srrt_200363.pdf
  • แนวทางการใช้อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/g_health_care/G32_1.pdf
  • ใครที่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยบ้าง? หน้ากากผ้าช่วยได้จริงไหม? คลายข้อสงสัยหน้ากากอนามัยป้องกันโควิด-19 https://thestandard.co/who-should-wear-a-face-mask-during-the-coronavirus-outbreak/
  • แนวทางการจัดระบบบริการของโรงพยาบาล กรณีมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในวงกว้าง https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/g_health_care/G33_2.pdf
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X