×

สถานการณ์โควิด-19 ระบาดในไทย (21 มี.ค. 2563)

โดย THE STANDARD TEAM
21.03.2020
  • LOADING...

 

วันนี้ (21 มีนาคม) กระทรวงสาธารณสุขแถลงความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ล่าสุด พบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 89 ราย รวมยอดสะสม 411 ราย แบ่งเป็น รักษาหายแล้ว 44 ราย ยังรักษาอยู่ 366 ราย ในนี้มีอาการหนัก 7 ราย โดยแบ่งผู้ติดเชื้อออกเป็น 2 กลุ่ม

 

กลุ่มที่ 1 จำนวน 51 ราย ประกอบด้วย

  • สนามมวย 32 ราย ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดอื่นๆ
  • สถานบันเทิง 2 ราย คือ เอกมัย และสุขุมวิท และเดินทางไปเชียงราย
  • เข้าร่วมพิธีทางศาสนาที่มาเลเซีย 6 ราย ที่ปัตตานี นราธิวาส ยะลา
  • สัมผัสกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 11 ราย

กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มรายใหม่ พบจำนวน 38 ราย

  • เดินทางมาจากต่างประเทศ 12 ราย หลายคนกลับจากการท่องเที่ยวในผับ
  • ค้าขาย พนักงานเสิร์ฟ พนักงานสถานบันเทิง พนักงานขับรถ 6 ราย
  • รอการสอบสวนโรค 20 ราย

 

ทั้งนี้ เมื่อกระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานผู้ป่วยรายใหม่ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะเข้าควบคุมสอบโรคทันทีภายใน 12 ชั่วโมง และรายงานจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ไปยังองค์การอนามัยโลกทุกวัน ในการรายงานผู้ป่วยต้องมีผลสอบสวนโรคประกอบกับผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้ข้อมูลที่รายงานแต่ละวันเป็นการทบยอดข้อมูลสะสม บางวันอาจมีรายงานผู้ป่วยจำนวนมากหรือไม่ตรงกับข้อมูลในพื้นที่ ดังนั้นเพื่อให้ทันเหตุการณ์ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ให้จังหวัดรายงานผู้ป่วยรายใหม่เบื้องต้นได้ทันทีหลังจากมีผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการ

 

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยรายใหม่ที่พบในช่วงนี้เป็น วัยหนุ่มสาว วัยทำงาน มีพฤติกรรมเสี่ยง ไม่ลดกิจกรรมทางสังคม ไม่เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล อาจทำให้นำโรคไปติดคนใกล้ชิดในครอบครัว รวมทั้งเพื่อนๆ ที่สำคัญโรคนี้มีความรุนแรงในกลุ่มเปราะบาง คือ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้มีโรคประจำตัว ขอให้ประชาชนยึดหลักปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข งดร่วมกิจกรรมทางสังคม เว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก งด/ลด การเดินทางโดยไม่จำเป็น ไม่ไปในพื้นที่แออัด ทำงานอยู่ที่บ้าน หากประชาชนช่วยกันปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด จะทำให้ช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคได้

 

สำหรับผู้ที่เคยไปในพื้นที่ที่มีรายงานผู้ป่วย เช่น สนามมวย สถานบันเทิง สนามชนไก่ ชมมหรสพ ให้กักกันตัวเองที่บ้านอย่างเคร่งครัด อย่างน้อย 14 วัน ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้อื่น สังเกตอาการ หากยังไม่มีอาการ ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ยังไม่ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อ เพราะหากยังไม่มีอาการ โอกาสตรวจพบเชื้อมีน้อยมาก จะทำให้ขาดการระมัดระวังตัวเองนึกว่าไม่ติดเชื้อ

 

ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X