‘AI จะแย่งงานเราไหม? มนุษย์จะสูญพันธ์ุหรือเปล่า?’ เหล่านี้คือคำถามโลกแตกประจำศตวรรษที่ 21 และน่าจะเป็นประเด็นถกเถียงกันไปอีกสักระยะ ตราบใดที่เรายังไม่ได้เห็นบทบาทและกฎระเบียบข้อบังคับที่ชัดเจนกับการควบคุมปัญญาประดิษฐ์
สำหรับ ‘ไมโครซอฟท์ (Microsoft)’ พวกเขาคือหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่ให้ความสำคัญกับ AI มาก วัดได้จากการนำเสนอแนวคิดต่างๆ ที่ภาครัฐจะสามารถดึงประโยชน์จาก AI ออกมาใช้ได้มากที่สุด ไม่สร้างผลกระทบเชิงลบกับผู้คน เช่นเดียวกับการตอกย้ำความเชื่อที่ว่า ‘AI ไม่ได้มาแทนมนุษย์ หากแต่เข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพ’
ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในงาน Digital Thailand Big Bang 2019 ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เพิ่งลงนามข้อตกลงร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา AI ขึ้นในประเทศไทย โดยมีภารกิจหลักมุ่งเน้นไปที่การยกระดับภาค ‘การเกษตร’ และ ‘สมาร์ทซิตี้’
ที่น่าสนใจคือ กรอบเวลาของ MOU ดังกล่าวยังมีอายุแค่ ‘1 ปี’ เท่านั้น หมายความว่า พวกเขาจะต้องดำเนินการตามแผนงานต่างๆ ที่ได้วางเอาไว้ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาแค่ปีเดียว ถือเป็นโจทย์ที่หินและท้าทายพอสมควร
THE STANDARD ชวน โอม ศิวะดิตถ์ ผู้บริหารด้านนโยบายภาครัฐ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย มาบอกเล่าเรื่องราวที่มาที่ไป แผนการขับเคลื่อน AI ใช้สร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย ตลอดจนเบื้องหลังและภาพใหญ่ที่ไมโครซอฟท์ฝันอยากจะเห็น AI ในสังคมไทย
25 ปีในประเทศไทย สู่แนวคิด ‘Democratizing AI’ ของไมโครซอฟท์
เป็นระยะเวลากว่า 25 ปีแล้ว ที่ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีเบอร์ต้นๆ ของโลกอย่างไมโครซอฟท์ได้ก้าวเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน ‘AI Country Plan’ หรือแผนงานประจำปีของบริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ได้มุ่งเน้นด้านการนำ AI เข้ามาใช้ประโยชน์ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและเพิ่มศักยภาพของแรงงานมนุษย์เป็นหลัก เพื่อให้คนในสังคมได้พร้อมรับการทรานส์ฟอร์มและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้
“ธีมของ AI ในปีนี้คือ การ ‘Democratizing AI’ (ทำให้ปัญญาประดิษฐ์กลายเป็นเรื่องที่คนทุกคนเข้าถึงได้และมีสิทธิ์ได้รับประโยชน์เท่าเทียม)” โอมเล่าต่อ “การจะทำเช่นนั้นได้ก็จะต้องเร่งเรื่องการทำ Digital Transformation ผ่านการร่วมงานกับหน่วยงานต่างๆ เป็นคู่คิดในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจด้วยเทคโนโลยีให้กับองค์กร”
ผู้บริหารด้านนโยบายภาครัฐ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย บอกเราว่า ใน AI Country Plan นั้น ไมโครซอฟท์ได้แยกเสาหลักที่จะเน้นย้ำให้ความสำคัญในการเดินหน้า ทำให้ AI สร้างประโยชน์ให้กับประเทศออกเป็น 4 ส่วนหลักๆ ประกอบด้วย
- Digital Transformation – ทำงานร่วมกับองค์กรเอกชนในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้าไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ โดยเฉพาะการทรานส์ฟอร์มองค์กร เช่น โครงการ ‘AI for Road Safety’ ที่ไมโครซอฟท์ทำร่วมกับ PTTGC นำ AI มาเพิ่มประสิทธิภาพในการขับรถยนต์รับ-ส่งพนักงานของคนขับรถ เป็นต้น
- Partnership กับรัฐบาล – ทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เช่น การนำเสนอร่างจริยธรรม AI Ethics Guideline รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ AI ด้านการเกษตร เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการเพิ่มผลผลิตสู่การทำการเกษตรแบบ Smart Farming
- Skill Gap – สนับสนุนนักพัฒนาและชุมชน Developer ในไทยให้เพิ่มพูนทักษะและสกิลด้านดิจิทัล รวมถึงสร้างทักษะที่จำเป็นด้าน AI กับบุคลากรจากโรงเรียนอาชีวะในย่าน EEC รวม 60 แห่ง ผ่านโปรแกรม ‘Future Ready Skill’ รองรับงานในอนาคต (นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ ที่ได้เซ็น MOU ร่วมกับมหาวิทยาลัยในไทยกว่า 25 แห่ง)
- นำ AI เข้ามาแก้ปัญหาสังคม – ทำโครงการ AI for Accessibility Hackathon หรือ AI for Earth คัดเลือกไอเดียการนำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับการใช้ชีวิตผู้คนที่น่าสนใจ ทั้งการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมในสังคม โดยทำร่วมกับองค์กรในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันไมโครซอฟท์ได้เริ่มเปิดฉากพูดคุยกับบริษัทที่มีแนวโน้มจะเป็นพาร์ตเนอร์ในโปรเจกต์ดังกล่าวรวมแล้วอย่างน้อย 2 แห่ง
ขณะที่แผนงาน AI Country Plan นี้ โอมเล่าว่า ได้เริ่มผลิดอกออกผลมาบ้างแล้วในรูปแบบโปรเจกต์ซอฟท์แวร์ของนักพัฒนาไทยที่มีแนวคิดน่าสนใจ เช่น PharmaSee (ฟาร์มาซี) แอปพลิเคชันที่สามารถระบุชนิดและสรรพคุณของยาเม็ดได้จากภาพถ่ายด้วยเทคโนโลยี Machine Learning ที่ทำงานอยู่บนแพลตฟอร์ม AI ของไมโครซอฟท์ ออกแบบมาเพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยที่พักอาศัยอยู่ที่บ้านและรับประทานยาด้วยตนเอง โดยเหมาะสมกับทั้งตัวผู้ป่วยเอง ผู้ดูแล และเภสัชกร
ซึ่งนอกจากการช่วยเหลือผู้ป่วยแล้ว PharmaSee ยังเป็นเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ของนิสิตนักศึกษาในสาขาเภสัชกรรม ด้วยฐานข้อมูลที่ครอบคลุมยาสำคัญกว่า 1,500 ตัว ซึ่งใช้ข้อมูลภาพถ่ายเม็ดยาที่รวบรวมจากนิสิต นักศึกษา และบุคลากรจากคณะเภสัชศาสตร์ของ 7 มหาวิทยาลัยทั่วไทย โดยปัจจุบัน แอปฯ ตัวนี้เปิดให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้งานฟรีในช่วงนำร่อง ก่อนจะเปิดใช้งานเต็มรูปแบบเร็วๆ นี้
ส่วนอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าจับตาคือ โครงการ Smart Energy Platform ผลงานการพัฒนาร่วมกันระหว่างทีมเอ็กสเพรสโซ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT ExpresSo) และเซอร์ทิส หนึ่งในเครือข่ายพันธมิตรของไมโครซอฟท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม AI และ Big Data ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะที่นำทั้งบล็อกเชนและ AI มาผสานกันให้เกิดเป็นแพลตฟอร์มที่เสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการใช้งานพลังงานทางเลือก
โดยทั้งเอ็กสเพรสโซและเซอร์ทิสยังคงพัฒนาแพลตฟอร์มพลังงานนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับให้รองรับการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ส่งต่อพลังงานที่เหลือใช้จากอาคารที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์ไปให้อาคารใกล้เคียงได้นำไปใช้
‘ร่างจริยธรรม AI’ เครื่องยืนยันว่า ปัญญาประดิษฐ์ไม่ควรสร้างความแตกแยกและ ‘ความเหลื่อมล้ำ’
หนึ่งในประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลมากที่สุดกับการเข้ามามีบทบาทในสังคมมนุษย์ของปัญญาประดิษฐ์คือ การสร้างให้เกิด ‘Bias’ หรืออคติที่จะนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ หลายครั้งหลายคราวหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องจึงพยายามนำเสนอแนวคิดการพัฒนาร่างจริยธรรมขึ้นมาควบคุมการใช้งาน AI เพื่อให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมในสังคม
โดยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ร่วมด้วยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยมหิดล และไมโครซอฟท์ ก็ได้ประกาศเปิดตัวร่างหลักการด้านจริยธรรมในการพัฒนา AI หรือ ‘Digital Thailand-AI Ethics Guideline’ ทั้ง 6 ข้อ เป็นครั้งแรก เพื่อเป็นแนวทางต่อยอดวิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้เป็นประโยชน์ ปลอดภัย น่าเชื่อถือ ไม่เป็นอคติ และสามารถอยู่ร่วมกับคนไทยได้อย่างลงตัว
โอมเปิดเผยว่า ร่างดังกล่าวเป็นร่างสำคัญระดับประเทศ โดยขั้นตอนต่อจากนี้ ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะร่วมกันผลักดันร่างให้กลายเป็นแนวทางข้อแนะนำด้านปัญญาประดิษฐ์ฉบับสมบูรณ์ที่ได้รับการยอมรับ พร้อมประกาศใช้จริงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีการนำ AI ไปใช้ในทางที่ผิดและสร้างความไม่แตกแยกในสังคม
“ที่ไมโครซอฟท์เราจะมีบอร์ด ‘Aether’ ซึ่งมาจากคำว่า AI, Ethics and Effects in Engineering และ Research มีจุดประสงค์ในการดำเนินงานด้านปัญญาประดิษฐ์โดยเฉพาะ เช่น เราจะศึกษาว่ายูสเคสการใช้งาน AI ที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนมีประเด็นใดบ้าง ยกตัวอย่างการนำข้อมูลของผู้ใช้งานมาตัดสินการปล่อยกู้ยืมสินเชื่อของคน หรือกรณีที่มีการนำ AI มาใช้งานด้านความปลอดภัยที่มีผลต่อชีวิตคน
“ไมโครซอฟท์มองว่า ถ้าเราจะมีความล้ำหน้าทางด้าน AI มันก็ควรจะล้ำหน้าแบบมีความรับผิดชอบควบคู่ไปพร้อมๆ กัน ผมเชื่อว่าในอนาคตถ้ามีการประกาศใช้ Guideline ด้าน AI จริงๆ ก็คงมีทั้งผู้ที่ปฏิบัติตามและละเลยในสังคม แต่ในระยะยาว ถ้าเกิดมันได้รับการยอมรับ องค์กรที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และข้อแนะนำดังกล่าวก็จะได้รับความน่าเชื่อถือขององค์กรสูงขึ้นตามไปด้วย”
AI Center และ ‘FarmBeats’ ต่อยอดปัญญาประดิษฐ์ เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตเกษตรกรไทย
นอกเหนือจากการผลักดันร่างจริยธรรม AI ให้กลายเป็นแนวทางคำแนะนำการปฏิบัติและการพัฒนาเพื่อการใช้งานจริงแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ทางไมโครซอฟท์เน้นย้ำและให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ การต่อยอดใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ให้เกิดผลกระทบเชิงบวกกับภาคเศรษฐกิจและธุรกิจให้ได้มากที่สุด
โอมเล่าว่า เป้าหมายสำคัญของบันทึกความเข้าใจที่ไมโครซอฟท์ได้เซ็นร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) ในฐานะตัวแทนรัฐบาล คือการร่วมจัดตั้งศูนย์ AI หรือ AI Center โดยเน้นมุ่งหน้าสู่การต่อยอดสร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมการเกษตรไทย และผลักดันแนวคิดเมืองอัจฉริยะ Smart City ให้เกิดขึ้นได้จริง
“ตอนนี้เราจะเริ่มจากการโฟกัสกับภาคการเกษตรเป็นหลัก โดยเราจะนำเอาโปรเจกต์ ‘FarmBeats’ ซึ่งเดิมทีเป็นงานวิจัยภายในองค์กรของไมโครซอฟท์ และเริ่มต้นการทดลองใช้งานจริงในอินเดียไปแล้วมาปรับใช้กับประเทศไทย
“FarmBeats เป็นแพลตฟอร์มสำหรับภาคการเกษตรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล Big Data (Data-Driven Agriculture) ซึ่งตัวแพลตฟอร์มจะวางอยู่บนคลาวด์ของ Microsoft Azure อีกที โดยข้อมูลที่เราจะต้องป้อนใส่ให้กับ FarmBeats ได้แก่ ภาพถ่ายดาวเทียม, ข้อมูลพยากรณ์อากาศ, ข้อมูลจากเซนเซอร์ต่างๆ (เซนเซอร์ในดินเพื่อวัดค่าสารอาหารและความชื้น) หรือภาพถ่ายทางอากาศจากโดรน เป็นต้น
“ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปประมวลผลสร้างโมเดล เพื่อให้สามารถพยากรณ์ผลผลิตได้ โดยวิเคราะห์จากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ คุณภาพดิน สภาพอากาศ ความชื้นในน้ำและดิน แล้วถ้าเรามีข้อมูลที่มีขนาดใหญ่มากๆ เราก็จะสามารถพยากรณ์ผลผลิตทางการเกษตรและพืชเศรษฐกิจได้ในระดับประเทศเลยว่า อีก 1-3 เดือนข้างหน้าเราจะมีพืชผลทางการเกษตรอะไรผลิตออกมาในปริมาณเท่าใดบ้าง ผลผลิตชนิดไหนมีแนวโน้มจะขาดแคลนหรือผลิตได้น้อยลง”
ผู้บริหารด้านนโยบายภาครัฐ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย บอกว่า ประโยชน์ของ FarmBeats จะช่วยให้เกิด ‘เกษตรแม่นยำ’ ขณะที่ตัวผู้ผลิตก็จะสามารถควบคุมคุณภาพของผลผลิตด้วยข้อมูลต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์ ให้น้ำให้ปุ๋ยแบบพอดีและถูกต้องตามที่ข้อมูลแนะนำ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำการเกษตรมากที่สุดด้วยต้นทุนที่ถูกลง โดยหลักๆ แล้วจะเน้นไปที่กลุ่มพืชเศรษฐกิจหลักของไทยทั้ง 5 อย่าง ประกอบด้วย ข้าว, ปาล์ม, มันสำปะหลัง, ยางพารา และอ้อย
“รัฐบาลเองก็จะได้ประโยชน์จากฐานข้อมูลชุดนี้ด้วย ซึ่งเราก็คาดหมายว่า น่าจะเอาไปใช้ประโยชน์กับ ‘Crop Insurance’ ประกันผลผลิตทางการเกษตรเวลาต้องเผชิญกับภัยพิบัติ ถ้าเราสามารถทำให้การพยากรณ์พืชผลทางการเกษตรเป็นสเกลระดับประเทศได้ เราก็จะเห็นภาพเลยว่า ในประเทศของเราจะมีการผลิตอะไรออกมาในปริมาณเท่าไร
“เมื่อเราสามารถเริ่มคาดการณ์ได้ ปัญหาเกษตรกรปลูกพืชผลผลิตที่ทับซ้อนกันก็จะน้อยลง หน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐบาล ก็สามารถเข้าไปดึงเวลาให้คำแนะนำเพื่อไม่ให้เกิดผลผลิตที่จะออกมาพร้อมกัน ซึ่งมีผลกระทบกับการควบคุมราคาผลผลิตทางการเกษตร” โอมกล่าวทิ้งท้ายในประเด็นดังกล่าว
อีกบทบาทที่สำคัญของศูนย์ AI คือ การมีส่วนร่วมพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้กับผู้ที่สนใจ โดยศูนย์ปัญญาประดิษฐ์แห่งนี้จะกลายเป็นพื้นที่รวมตัวของผู้เชี่ยวชาญ เช่น ในกรณีที่บริษัทเครื่องจักรกลทางการเกษตรแห่งหนึ่งมีไอเดียเจ๋งๆ แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยเหลือเกษตรกรอย่างไร ก็สามารถเข้ามาขอรับคำปรึกษาจากศูนย์ AI ได้ว่าจะนำนวัตกรรมไปช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งเป็นลูกค้าได้ด้วยวิธีใด
รวมไปถึงการสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านการเกษตรด้วยโปรแกรมต่างๆ ที่ไมโครซอฟท์จะเดินหน้าพัฒนาร่วมกับทาง Depa ก่อนจะขยายไปยังการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและ Artificial IoT (Artificial Intelligence of Things) ในอนาคต
จริงอยู่ที่ AI คือเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าและพัฒนาตัวเองได้อย่างรวดเร็ว การใช้งานพวกมันจึงอาจจะกลายเป็นดาบสองคมได้ ดังนั้นการวางรากฐานที่เหมาะสมเพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นภาพของการใช้งาน เพื่อสร้างประโยชน์โดยที่ไม่ก่อให้เกิดอคติและความแตกแยก จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง
เช่นเดียวกับการหล่อหลอมสร้างทักษะที่จำเป็นให้กับพลเมือง เพื่อเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต รู้เท่าทันการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลของโลกใบใหม่
เมื่อทำทั้งสองสิ่งควบคู่กันได้ ภาพการนำ AI เข้ามาเสริมประสิทธิภาพของมนุษย์ที่ทางไมโครซอฟท์ต้องการให้เกิดขึ้นก็จะไม่ใช่แค่ ‘ภาพฝัน’ อีกต่อไป ขณะเดียวกัน ‘AI แย่งงานมนุษย์’ ก็จะกลายเป็นแค่ค่าความเชื่อที่ผิดๆ ในสักวันหนึ่ง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า