วันนี้ (19 มีนาคม) ที่โรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพมหานคร ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมระบบบริหารจัดการรองรับผู้ป่วยกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า เนื่องจากผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้กรมการแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดระบบการรักษาพยาบาล เตรียมความพร้อมสำหรับสถานพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในกรณีที่มีการระบาดเกิดขึ้น จึงได้ให้โรงพยาบาลในเครือข่ายขยายพื้นที่และบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสม เพื่อการวินิจฉัยและตรวจทางห้องปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พร้อมเตรียมการระบบส่งต่อผู้ป่วยและบริหารทรัพยากรเตียงร่วมกันอย่างรวดเร็วและทั่วถึง โดยบูรณาการความร่วมมือของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลเครือข่าย UHosNet ซึ่งจะมีปริมาณเตียงรองรับที่เพียงพอกับผู้ป่วย และหากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวดเร็วจะมีการเตรียมแผนสำรอง เช่น ระบบโรงพยาบาลสนาม หรือผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงให้พักฟื้นในหอพักหรือโรงแรมทั้งตึก โดยมีทีมแพทย์พยาบาลคอยติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แนวทางปฏิบัติที่สำคัญที่สุดคือการป้องกันการแพร่กระจายของโรค จึงขอให้ประชาชนยึดหลักดังนี้
ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ แยกกินอาหารชุดของตัวเอง ไม่ใช้ภาชนะร่วมกัน สวมหน้ากากอนามัยแบบผ้าเมื่ออยู่ในที่คนแออัด ออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง
หากมีไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ให้สวมหน้ากากอนามัย และรีบไปพบแพทย์ทันที
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าสำหรับการคัดกรองในเบื้องต้น โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์และกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศได้จัดตั้งคลินิกไข้หวัด (Fever & ARI Clinic) โดยใช้ระบบบริการแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว ไม่ให้ผู้ป่วยที่เข้าข่ายเฝ้าระวังปะปนกับผู้ป่วยทั่วไปเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ โดยจะใช้โรงพยาบาลราชวิถีซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในสังกัดกรมการแพทย์เป็นต้นแบบและหน่วยงานประสานหลัก
ตั้งแต่จัดทำแผนรองรับ ระบบส่งต่อ คัดกรองผู้ป่วย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งหากพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จะใช้ระบบห้องแยกโรคเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อดังกล่าว โดยจะใช้วิธีจัดการสิ่งแวดล้อม สถานที่ รวมทั้งอุปกรณ์ในห้องผู้ป่วยให้เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ ได้แก่ เป็นห้องแยกเดี่ยว หรือถ้าเป็นห้องรวม ระยะห่างระหว่างเตียงต้องไม่น้อยกว่า 3 ฟุต พื้นผิวสัมผัสต่างๆ สามารถทำความสะอาดได้ง่าย มีการระบายอากาศได้ดี บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลต้องใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง มีอุปกรณ์ที่จำเป็นในการตรวจวินิจฉัยโรค เครื่องมือกู้ชีพที่จำเป็น เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดความดันโลหิต ชุดให้สารน้ำ อุปกรณ์เจาะเลือดเพื่อการวินิจฉัย เครื่องช่วยหายใจ ชุดกู้ชีพผู้ป่วย ฯลฯ ซึ่งจะเป็นระบบการรักษาที่ครบวงจร เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยและความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์