×

ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ‘กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์’ รุกปล่อยกู้ช่างตกแต่งบ้าน ด้วยข้อมูล Big Data

13.03.2020
  • LOADING...

เมื่อวัยทำงานในไทยกว่า 50% ไม่ได้ทำงานประจำ เมื่อไม่มีเงินเดือน การขอกู้เงินในระบบธนาคารก็ซับซ้อนขึ้น บางรายขอสินเชื่อไม่ได้ก็บริหารการเงินยากขึ้น ดังนั้นในยุคที่มี ‘ข้อมูล’ อยู่ทุกที่ แต่จะใช้ข้อมูลที่ไม่ใช่ทางการเงินมาขอสินเชื่อให้ง่ายขึ้นได้อย่างไร? 

 

เมื่อการขอสินเชื่อไม่จำกัดที่สเตทเมนต์และเงินเดือนจะใช้อะไรแทน? 

 

1-2 ปีมานี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พูดถึง Information Based Lending  หรือการใช้ข้อมูลอื่นๆ ซึ่งรวมถึง Big Data เพื่อขอสินเชื่อมากขึ้น เช่น รายได้แบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินเดือน การใช้ข้อมูลการจ่ายค่าไฟฟ้า เพื่อให้เห็นพฤติกรรมของผู้กู้ว่าจ่ายเงินตรงเวลาไหม เพื่อช่วยประเมินการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ฯลฯ ขึ้นอยู่กับการปรับใช้ในแต่ละธุรกิจ และกลุ่มลูกค้าที่ต่างกัน 

 

ล่าสุด ‘กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์’ ที่ปัจจุบันให้บริการสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล (Ploan) เตรียมปล่อยสินเชื่อผ่านการใช้ Information Based Lending คือการใช้ข้อมูลที่ไม่ใช่แค่ข้อมูลทางการเงิน อย่างสเตทเมนต์หรือเงินเดือน และประวัติทางการเงิน เท่านั้น  

 

ที่ผ่านมามีหลายสถาบันการเงินทดลองใช้ข้อมูลอื่นๆ เพื่อการประเมินและพิจารณาการปล่อยสินเชื่อ เช่น ข้อมูลการจ่ายค่าไฟฟ้า ข้อมูลธุรกรรม ฯลฯ ซึ่งจะนำมาคำนวณความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น 

 

กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์เตรียมปล่อยสินเชื่อเจาะลูกค้าช่างทำบ้าน ไม่ต้องมีรายได้ประจำก็กู้ได้ 

 

ณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการแบรนด์ กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ กล่าวว่า กลางเดือนมีนาคมนี้จะเริ่มใช้ข้อมูลอื่นๆ จากพันธมิตร เช่น HomePro, Mega Home อย่างข้อมูลการซื้อสินค้า ฯลฯ ซึ่งเป็นข้อมูลที่นอกเหนือจากข้อมูลทางการเงินแบบดั้งเดิม มาใช้พิจารณาและเสนอสินเชื่อให้ลูกค้ากลุ่มใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มช่าง และผู้ประกอบการด้านการแต่งบ้าน 

 

“ภายในไตรมาสนี้เราจะร่วมมือกับพันธมิตร Megahome, HomePro มาพิจารณาและให้สินเชื่อกับลูกค้ากลุ่มช่าง และผู้ประกอบการด้านการแต่งบ้าน ฯลฯ โดยจะดูข้อมูลว่าลูกค้าซื้อของจากห้างเท่าไร เพื่อนำมาประเมินความสามารถในการผ่อนชำระหนี้”

 

ทั้งนี้ ประเมินว่าลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการแต่งบ้าน กลุ่มช่าง คาดว่าจะมีราว 200,000 ราย โดยปีนี้จะเริ่มต้นจากการคัดกรองลูกค้าราว 50,000-60,000 ราย ดูจากยอดการใช้จ่ายในแต่ละเดือน เมื่อมีการซื้อสินค้า แสดงว่าลูกค้าต้องรับงานมาทำและมีรายได้ 

 

ในช่วงแรกจะเสนอสินเชื่อเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อผ่อนชำระให้ลูกค้าราว 20,000 ราย วงเงินสินเชื่อรายละ 40,000-50,000 บาท ซึ่งวงเงินที่ได้ขึ้นอยู่กับลูกค้าแต่ละราย เช่น สภาพคล่อง การเดินบัญชีซื้อวัตถุดิบ และประวัติการชำระหนี้ ฯลฯ 

 

ฝ่าปัญหาเศรษฐกิจชะลอ มองหาตลาดใหม่นอกจากมนุษย์เงินเดือน

 

ธุรกิจบัตรเครดิตปี 2563 มีความท้าทายหลายด้าน ทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อรายได้ และการใช้จ่ายของคนไทย โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ลดลงมาก เพราะคนกลัวการแพร่ระบาด ขณะที่การใช้จ่ายผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้นมาทดแทน

 

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากปัจจัยลบต่างๆ ยังสะท้อนผ่านความสามารถในการชำระหนี้ที่ต่ำลงด้วย โดยหนี้เสียปัจจุบันอยู่ที่ 2.8% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนที่อยู่ระดับ 2.7% ทำให้ทางบริษัทต้องออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกค้าในแต่ละราย เช่น ลดการจ่ายขั้นต่ำ พักการชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย ฯลฯ โดยปัจจุบันมีฐานลูกค้าราว 2.34 ล้านคน 

 

ดังนั้น ทางบริษัทไม่เน้นการเติบโตจากยอดการใช้จ่ายหรือฐานบัตรใหม่เท่านั้น แต่ต้องดูคุณภาพลูกหนี้ และมองหากลุ่มลูกค้าใหม่ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน เช่น กลุ่มผู้ประกอบการ ผู้มีรายได้ไม่ประจำ ฯลฯ รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลด้านต่างๆ ของลูกค้าผ่านพันธมิตรเช่น Grab, Lazada ธุรกิจรายย่อย เพื่อใช้ข้อมูลอื่นๆ มาประเมินความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อได้ดียิ่งขึ้น

 

“นอกจากนี้ยังพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ ใน UChoose ทั้งแจ้งเตือน และช่วยบริหารจัดการเงินส่วนบุคคลได้ดียิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อการปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพ และสร้างความเข้าใจในการบริหารการเงินให้ลูกค้าด้วย” ณญาณี กล่าว

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising