ภาวะความกังวลของประชาชนที่หวาดกลัวต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากจะก่อให้เกิดปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ล้างมือแล้ว ตอนนี้สินค้าอย่างกระดาษชำระ ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่กำลังขาดแคลนในหลายประเทศ
ภาวะขาดแคลนกระดาษชำระที่เกิดขึ้น ทำให้บรรดาห้างร้านค้าปลีกทั้งในสหรัฐฯ และแคนาดาต้องจำกัดจำนวนในการซื้อกระดาษชำระของลูกค้า ขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในอังกฤษหลายแห่งไม่มีกระดาษชำระเหลืออยู่ในชั้นวางขาย ส่วนออสเตรเลียร้านสะดวกซื้อบางแห่งถึงขั้นต้องจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยเดินตรวจตราลูกค้าที่ซื้อกระดาษชำระ เพื่อไม่ให้ซื้อเกินปริมาณที่จำกัด ขณะที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นต้องพิมพ์หน้าพิเศษ 8 หน้า เพื่อให้ลูกค้าใช้แทนกระดาษชำระกรณีฉุกเฉิน
แต่คำถามสำคัญที่หลายคนอยากรู้คือ ทำไมผู้คนถึงพากันแห่กักตุนกระดาษชำระ ในเมื่อกระดาษชำระนั้นไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้ อีกทั้งยังไม่เข้าขั้นขาดแคลนฉุกเฉิน
คำตอบของคำถามเหล่านี้มีหลายสาเหตุและปัจจัย ดังนี้
เหตุผลที่ 1: ผู้คนเตรียมพร้อมขั้นสูงสุดเมื่อได้ยินข้อความขัดแย้งเกี่ยวกับอันตรายและความเสี่ยงที่กำลังใกล้เข้ามา
สตีเฟน เทย์เลอร์ นักจิตวิทยา และผู้เขียนหนังสือจิตวิทยาของโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก เปรียบเทียบประวัติศาสตร์และพฤติกรรมของผู้คนในการรับมือต่อโรคระบาดใหญ่ในอดีต พบว่า การรับมือของผู้คนทั่วโลกต่อการระบาดของโควิด-19 นั้นก่อให้เกิดความตื่นตระหนกเป็นวงกว้าง
“ในด้านหนึ่ง การรับมือนั้นเข้าใจได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันก็ดูจะเกินขอบเขต เราสามารถเตรียมพร้อมรับมือได้โดยไม่ต้องตื่นตระหนก” เทย์เลอร์กล่าว
โควิด-19 ทำให้ผู้คนหวาดกลัว เพราะมันเป็นสิ่งใหม่ และมีอีกหลายอย่างเกี่ยวกับเชื้อไวรัสชนิดนี้ที่ยังไม่มีใครรู้ ดังนั้น เมื่อใครได้ยินข้อความขัดแย้งเกี่ยวกับความเสี่ยงในการแพร่เชื้อและความจริงจังที่ต้องรับมือ พวกเขาก็จะหันไปพึ่งพิงวิธีการเตรียมพร้อมรับมือขั้นสูงสุด
เหตุผลที่ 2: บางคนเตรียมรับมือ เพราะความไม่ชัดเจนในทิศทางการรับมือของทางการ
บารุช ฟิชฮอฟฟ์ นักจิตวิทยา และศาสตราจารย์จากสถาบันการเมืองและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ชี้ว่า การเตรียมพร้อมของประชาชนในการซื้อเสบียง กระดาษชำระ และข้าวของเครื่องใช้จำเป็น เป็นการเตรียมรับมือ เพราะไม่ได้รับข้อมูลหรือคำมั่นสัญญาที่ชัดเจนจากทางการว่า ประชาชนทุกคนจะได้รับการดูแล
“หากประชาชนไม่ได้เห็นคำสัญญาจากทางการว่าทุกคนจะได้รับการดูแล พวกเขาจะคาดเดาเอาเองถึงความน่าจะเป็นที่กระดาษชำระจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องกักตุนในไม่ช้า” ฟิชฮอฟฟ์กล่าว
เหตุผลที่ 3: การซื้อด้วยความตื่นตระหนก ก่อให้เกิดการซื้อด้วยความตื่นตระหนกไปตามๆ กัน
นักจิตวิทยายังชี้ว่า ภาพชั้นวางที่ว่างเปล่าและรถเข็นช้อปปิ้งที่เต็มไปด้วยเสบียงที่เผยแพร่ไปในโลกโซเชียล เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ประชาชนที่เห็นภาพเกิดความตื่นตระหนก และสรุปเอาเองว่า มีเหตุผลที่จำเป็นต้องรีบซื้อหาเสบียงและสิ่งของเครื่องใช้ด้วยเช่นกัน
ขณะที่โซเชียลมีเดียถือเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการแพร่กระจายความหวาดกลัวจากโควิด-19 การเผยแพร่ข้อมูลผิดพลาดได้ง่าย และการเป็นแพลตฟอร์มเปิดก็ช่วยขยายเสียงแห่งความตื่นตระหนกได้มากขึ้น
เหตุผลที่ 4: เป็นธรรมชาติของผู้คนในการเตรียมรับมือที่เกินกว่าเหตุ
แฟรงค์ ฟาร์ลีย์ ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเทมเพิลในเมืองฟิลาเดลเฟียของสหรัฐฯ มองว่า การกักตุนเสบียงและของใช้จำเป็นที่เกิดขึ้นนั้นอาจเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล เนื่องจากการที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด (CDC) และหน่วยงานด้านสาธารณสุขออกมาให้คำแนะนำประชาชนให้อยู่บ้านและเลี่ยงการติดต่อกับผู้อื่นหรือเลี่ยงฝูงชน ก็เป็นธรรมชาติที่ผู้คนจะต้องการเตรียมพร้อมด้วยการกักตุนเสบียง
“เชื้อโควิด-19 นั้นก่อให้เกิดจิตวิทยาการเอาชีวิตรอด ซึ่งพวกเราต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านให้มากที่สุด และจำเป็นต้องกักตุนสิ่งของจำเป็น ซึ่งแน่นอนว่า รวมถึงกระดาษชำระ ซึ่งหากมันหมดลง เราจะเอาอะไรมาใช้แทน?” ฟาร์ลีย์กล่าว
เหตุผลที่ 5: ทำให้เกิดความรู้สึกควบคุมสถานการณ์ได้
นักจิตวิทยาชี้ว่า ประชาชนที่กักตุนเสบียงนั้นคำนึงถึงตัวเองและครอบครัว และสิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องจัดเตรียม ไม่ใช่เจ้าหน้าที่แพทย์ ผู้ป่วย หรือคนอื่นๆ ที่อาจจะเผชิญภาวะขาดแคลนกระดาษชำระ
แต่การกระทำของพวกเขาเป็นไปเพราะความกลัว ซึ่งการเตรียมรับมือสถานการณ์อย่างการกักตุนกระดาษชำระ ทำให้เกิดความรู้สึกในการควบคุมสถานการณ์ที่ดูเหมือนจะหมดหนทาง
อ้างอิง: