×

ธุรกิจเพลงยังโตแต่ต้องเพิ่มท่ายาก ‘จีเอ็มเอ็ม มิวสิค’ ชู 7 กลยุทธ์หลักขับเคลื่อนธุรกิจ 5 ปี

โดย THE STANDARD TEAM
11.03.2020
  • LOADING...

‘จีเอ็มเอ็ม มิวสิค’ ธุรกิจดนตรีในเครือ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในตัวอย่างของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดนตรีที่ยังสามารถโลดแล่นในสังเวียนนี้ได้อย่างแข็งแกร่ง โดยในปีที่ผ่านมาพวกเขาสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทถึง 4,014 ล้านบาท มากที่สุดในรอบ 10 ปี มีกำไรที่ 472 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตของกำไรที่ 13.2%

 

โดยหน่วยธุรกิจของจีเอ็มเอ็ม มิวสิคทั้ง 3 หน่วยหลักๆ ล้วนแล้วแต่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจ Digital Music ที่เติบโตสูงถึง 31% มียอดรายรับสูงที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งแผนกที่ 1,123 ล้านบาท ส่วนธุรกิจ Showbiz ก็เติบโตขึ้น 36% มียอดรายรับที่ 524 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจการบริหารลิขสิทธิ์ เติบโตขึ้น 25% มียอดรายรับที่ 313 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่ทำการบริหารจัดการ

 

ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “แผนยุทธศาสตร์ของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้ถูกวางแผนไว้ล่วงหน้าอย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นเป็นบันได 3 ขั้นที่ต้องปีนขึ้นไปเพื่อการเติบโตสู่อนาคตที่มั่นคง สดใส และยั่งยืน”

 

โดยปัจจุบัน จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้เข้าสู่กลยุทธ์บันไดขั้นที่ 2 (Build-Invest-Aggregate) ที่จะนำบริษัทไปสู่ความสำเร็จ ประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะขับเคลื่อนธุรกิจดนตรีในอีก 5 ปีข้างหน้า (2020-2025) ประกอบด้วย

 

1.New Content Strategy & New Artist Development – นโยบาย 5 ปีต่อจากนี้ที่จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จะเน้นประกอบด้วย 2 เรื่องหลักคือ ‘New Content Strategy’ สร้างศิลปินและแนวเพลงให้มีประสิทธิภาพทุกหมวดหมู่ เปิดกว้างการทำงานร่วมกับค่ายเพลงอื่นๆ และ ‘New Artist Development’ สร้างศิลปินใหม่ซึ่งจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท เพื่อแสวงหา พัฒนา และออกอัลบั้มให้กับศิลปินรุ่นใหม่

 

2.Showbiz Expansion – ขยายธุรกิจ Music Festival ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ยุทธศาสตร์ ทุกภาค ทั่วประเทศ, ขยายธุรกิจ Solo Concert ครอบคลุมทั้งศิลปินปัจจุบันที่มีความพร้อม ศิลปินหน้าใหม่ที่ต้องการโอกาส และศิลปินกลุ่มโทรที่มีแฟนคลับเหนียวแน่น, ขยายธุรกิจ Theme Concert ด้วยการร่วมมือกับ Creator ใหม่ๆ ที่มาจากอุตสาหกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย และขยายธุรกิจสู่การเป็น Promoter ในการจัด International Showbiz ในประเทศไทย

 

3.Artist Product – เปิดตัวบริษัทใหม่ในเร็วๆ นี้ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ของศิลปินที่ศิลปินเป็นเจ้าของจริงๆ ได้รับกำไรขาดทุนจริงๆ โดยมีจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เป็นผู้ลงทุนซึ่งจะโฟกัสเฉพาะศิลปินที่อยู่ภายใต้สังกัดจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่เท่านั้น โดยคาดว่าการเติบโตของธุรกิจประเภทนี้จะสามารถทำตัวเลข 9 หลักได้ภายใน 2 ปี

 

4.Industry Aggregation – เดินหน้า Aggregate รวบรวมพันธมิตรในวงการเพลงเพื่อสร้างประโยชน์ทางรายได้จากทุกช่องทางการค้าร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ช่องทาง Digital Platform, Karaoke Platform หรือการสร้างโปรเจกต์ร่วมกัน โดยปัจจุบันทางจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้ร่วม Aggregate กับค่ายเพลงต่างๆ เกือบทุกค่ายแล้วเพียงแต่จะอยู่ในธุรกิจของการทำ MP3 เท่านั้น ดังนั้นการเดินหน้าจับมือกับทุกค่ายเพลงก็เป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ในการสร้างผลประโยชน์ร่วมกันและยังสามารถสร้างรายได้ที่สูงขึ้นให้กับค่ายเพลงทุกค่าย

 

5.Media Partnership – ร่วมมือกับสื่อชั้นนำทั่วประเทศแบบครบวงจร รวมถึง Platform รายใหญ่เพื่อการขยายฐานการเข้าถึงและการรับรู้ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สื่อทีวี, สื่อวิทยุ, สื่อ Outdoor และสื่อโรงภาพยนตร์

 

6.M&A – เข้าซื้อกิจการที่สามารถสร้างโอกาสในการเกิด Leap Growth เพื่อการเติบโตอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดทางธุรกิจ โดยบริษัทมีเป้าหมายที่ชัดเจนในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะเข้าซื้อภายในระยะเวลา 5 ปีต่อจากนี้

 

7.Data Creativity – ให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์กับการดำเนินธุรกิจ เช่น การคำนวณโอกาสการสร้างเพลงฮิต, การสร้างคอนเสิร์ตที่น่าจะ ขายบัตรหมดหรือการสร้างยอดขายของ Merchandising แม่นยำ เป็นรูปธรรม แถมยังเข้าใจและวิเคราะห์ความเชื่อมโยงต่อการตัดสินใจซื้อของแฟนคลับได้อีกด้วย

 

โดยปัจจุบันได้พัฒนาการทำ Data และมีทีม Data Scientist ที่เชี่ยวชาญในธุรกิจเพลงโดยเฉพาะ ซึ่งบริษัทกำลังจะเดินเข้าไปสู่การทำ Personalization เพื่อให้เกิด ‘New Product Experience’ มากขึ้น

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X