×

เมื่อโควิด-19 แพร่เชื้อผ่านอุจจาระ ถึงเวลาต้องปิดฝาชักโครก และทำความสะอาดห้องน้ำบ่อยขึ้น

11.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • กลางเดือนกุมภาพันธ์ Yong Zhang จากสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น ได้รายงานผลการค้นพบใน China CDC Weekly ว่าสามารถ ‘เพาะ’ แยกเชื้อโควิด-19 ได้จากอุจจาระของผู้ป่วยรายหนึ่งที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง และมีอาการป่วยมาแล้วถึงครึ่งเดือน เท่ากับว่าเราสามารถสรุปได้แล้วว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ยังมีชีวิตอยู่ในอุจจาระของผู้ป่วย และคงเป็นที่มาของคำแนะนำให้ประชาชน ‘ปิดฝาก่อนกดชักโครก’
  • 4 มีนาคมที่ผ่านมา Sean Wei Xiang Ong แห่งสถาบันโรคติดเชื้อสิงคโปร์ ได้ตีพิมพ์งานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่ามีการปนเปื้อนของเชื้อภายใน ‘ห้องน้ำ’ ของผู้ป่วย 1 ราย โดยตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อที่โถส้วม อ่างล้างมือ และมือจับประตู ซึ่งเมื่อตรวจอุจจาระก็พบสารพันธุกรรมของเชื้อ ทั้งที่ผู้ป่วยรายนี้มีอาการเพียงแค่ทางเดินหายใจส่วนบนเท่านั้น ไม่เป็นโรคปอดอักเสบ (อาการไม่รุนแรง) และไม่มีอาการท้องเสีย 
  • กลไกการเข้าสู่เซลล์ของเชื้อไวรัสเหมือนเวลาเปิดประตูด้วยลูกกุญแจ ร่างกายเรามีแม่กุญแจหรือตัวรับ (Receptor) ที่ชื่อ ‘ACE2’ (Angiotensin converting enzyme II) ซึ่งนอกจากจะพบที่เซลล์ปอดแล้วยังพบอยู่ที่หลอดอาหารส่วนบน ลำไส้เล็กส่วนปลาย และลำไส้ใหญ่ จึงเป็นคำอธิบายว่าทำไมผู้ป่วยจึงมีการติดเชื้อในทางเดินอาหาร และตรวจพบไวรัสปนเปื้อนออกมาในอุจจาระ

ถ้าสังเกตคำแนะนำประชาชนของหน่วยงานสาธารณสุขฮ่องกง จะเห็นข้อความที่เขียนว่า ‘ให้ปิดฝาก่อนกดชักโครก’ มาพักใหญ่แล้ว นอกจากนี้ฮ่องกงยังมีการทำสื่อแยกออกมาต่างหากว่า ‘การกดชักโครกอาจทำให้เชื้อโรคกระจายออกไปปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมในระยะ 1 เมตร’ ซึ่งในภาพก็คือ ‘ม้วนทิชชู’ ที่แขวนอยู่บริเวณผนังด้านข้าง 

 

สำหรับประเทศไทย ผมเห็นคำแนะนำนี้อยู่ในบางอินโฟกราฟิก แต่ยังไม่มีผู้ออกมาขยายความชัดเจนว่าทำไมจึงต้องทำเช่นนั้น เพราะที่ผ่านมาเรายังไม่รู้จักเชื้อก่อโรคโควิด-19 ดีพอ แต่ตอนนี้เริ่มมีหลักฐานยืนยันแล้วว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้สามารถปนเปื้อนออกมาในอุจจาระของผู้ป่วยได้

 

ภาพคำแนะนำเรื่องการปิดฝาชักโครก
(อ้างอิง: หน่วยงานสาธารณสุขฮ่องกง)

 

ย้อนรอยการตรวจพบเชื้อในอุจจาระ

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2020 Wei Zhang แห่งสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น ได้ตีพิมพ์งานวิจัยว่าเขาพบ ‘สารพันธุกรรม’ ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้จากการป้ายทวารหนัก (Anal Swab) คนไข้ 4 ราย จากทั้งหมด 178 ราย (2.2%) แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่าไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อผ่านทางอุจจาระได้ เพราะการพบสารพันธุกรรมไม่ได้หมายความว่าเชื้อนั้นมีชีวิตอยู่หรือไม่ โดยอาจเป็นเศษซากของเชื้อที่ตายแล้วก็ได้

 

ต่อมาเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ Yong Zhang เพื่อนร่วมสถาบันเดียวกัน ได้รายงานผลการค้นพบใน China CDC Weekly ว่าเขาสามารถ ‘เพาะ’ แยกเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้จากอุจจาระของผู้ป่วยรายหนึ่งที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง และมีอาการป่วยมาแล้วถึงครึ่งเดือน เท่ากับว่าเราสามารถสรุปได้แล้วว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ยังมีชีวิตอยู่ในอุจจาระของผู้ป่วย และคงเป็นที่มาของคำแนะนำให้ประชาชน ‘ปิดฝาก่อนกดชักโครก’

 

ผู้ป่วยโควิด-19 ต้องมีอาการท้องเสียหรือไม่

จากรายงานคณะทำงานขององค์การอนามัยโลกที่ประเทศจีน ในผู้ป่วยยืนยันจำนวน 55,924 รายมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ คลื่นไส้หรืออาเจียน 5% และท้องเสีย 3.7% ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับอาการไข้ (87.9%) และไอ (67.7%) แต่ในรายที่มีอาการอาเจียนและท้องเสียอย่างผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายแรกของสหรัฐอเมริกาที่มีอาการก่อนหน้าที่จะมาโรงพยาบาล 2 วัน เมื่อตรวจอุจจาระก็พบสารพันธุกรรมของเชื้อ

 

วันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา Sean Wei Xiang Ong แห่งสถาบันโรคติดเชื้อสิงคโปร์ ได้ตีพิมพ์งานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่ามีการปนเปื้อนของเชื้อภายใน ‘ห้องน้ำ’ ของผู้ป่วย 1 ราย โดยตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อที่โถส้วม อ่างล้างมือ และมือจับประตู ซึ่งเมื่อตรวจอุจจาระก็พบสารพันธุกรรมของเชื้อ ทั้งที่ผู้ป่วยรายนี้มีอาการเพียงแค่ทางเดินหายใจส่วนบนเท่านั้น ไม่เป็นโรคปอดอักเสบ (อาการไม่รุนแรง) และไม่มีอาการท้องเสีย 

 

การติดต่อผ่านอุจจาระเข้าสู่ปาก

กลไกการเข้าสู่เซลล์ของเชื้อไวรัสเหมือนเวลาเปิดประตูด้วยลูกกุญแจ ร่างกายเรามีแม่กุญแจหรือตัวรับ (Receptor) ที่ชื่อ ‘ACE2’ (Angiotensin converting enzyme II) ซึ่งนอกจากจะพบที่เซลล์ปอดแล้ว (จึงทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ) ยังพบอยู่ที่หลอดอาหารส่วนบน ลำไส้เล็กส่วนปลาย และลำไส้ใหญ่ จึงเป็นคำอธิบายว่าทำไมผู้ป่วยจึงมีการติดเชื้อในทางเดินอาหารและตรวจพบไวรัสปนเปื้อนออกมาในอุจจาระ

 

ล่าสุดวันที่ 6 มีนาคม สมาคมแพทย์ทางเดินอาหารของสหรัฐอเมริกา (American Gastroenterological Association – AGA) ได้ออกคำแนะนำว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการติดต่อผ่านทางการรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ (Fecal-oral Transmission) ดังนั้นการควบคุมโรคโควิด-19 จึงควรคำนึงถึงช่องทางการติดต่อนี้ด้วย ซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อใช้มือไม่สะอาดหยิบจับอาหาร หรือเชื้อปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ

 

การป้องกันโรค

ช่องทางการติดเชื้อหลักของโรคโควิด-19 ยังผ่านทางละอองน้ำมูก น้ำลาย (Droplet Transmission) และการสัมผัส (Contact Transmission) ละอองเหล่านั้นมาป้ายตาหรือจมูก 

 

ส่วนทางอุจจาระเข้าสู่ปากเป็นช่องทางรอง อย่างไรก็ตาม หลักการป้องกันยังคงเหมือนเดิมคือการล้างมือบ่อยๆ เพียงแต่เพิ่มความใส่ใจในการล้างมือหลังจากเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร ส่วนการใช้ห้องส้วม ควรทิ้งทิชชูที่ใช้แล้วลงถังขยะ และปิดฝาชักโครกก่อนกดปล่อยน้ำ 

 

นอกจากนี้ห้องน้ำสาธารณะควรมีการทำความสะอาดบ่อยขึ้น ในขณะที่แม่บ้านต้องสวมหน้ากากอนามัย ถุงมือ และใช้อุปกรณ์ที่มีด้ามจับในการทำความสะอาด เช่น คีมคีบขยะ 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X