วันนี้ (11 มีนาคม) ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช. พัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยรูปแบบบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ‘แทนบัตร’ หรือ Mobile ID ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองใน Sandbox เพื่อขยายให้ประชาชนทดลอง โดยคาดว่าจะสามารถทยอยเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการ ‘แทนบัตร’ หรือ Mobile ID กับบริการภาครัฐและเอกชนต่างๆ ภายในไตรมาส 2 ของปี 2563 ได้แก่ กรมสรรพากร, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด
ทั้งนี้ทาง กสทช. เริ่มต้นพัฒนาระบบร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และธนาคารกรุงเทพ ซึ่งมีการทดสอบทดลองขั้นต้นเรียบร้อยแล้ว จึงได้ร่วมมือกับกรมการปกครอง กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานประกันสังคม เพื่อใช้ระบบ ‘แทนบัตร’ นี้ในแต่ละหน่วยงาน
นอกจากนี้สำนักงาน กสทช. จะร่วมหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เรื่องการพัฒนามาตรฐานการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยระบบ Digital ID ที่ควรมีการเชื่อมโยงกันระหว่างอุตสาหกรรมการธนาคารและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต่อไป
ทั้งนี้ Mobile ID จะทดสอบในหลายหน่วยงาน ได้แก่
กรมสรรพากร จะทดสอบระบบ Mobile ID โดยการนำมาใช้กับระบบการยื่นแบบชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน เพื่อเพิ่มความสะดวก ลดความซ้ำซ้อนในการลงทะเบียน และยกระดับความน่าเชื่อถือในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนก่อนการเข้ามาใช้บริการระบบของกรมสรรพากรได้ ซึ่งต่อไปในอนาคตกรมสรรพากรจะพิจารณาต่อยอดพัฒนานำระบบ Mobile ID ไปใช้ในการบริการประชาชนในด้านต่างๆ เพิ่มเติม เช่น ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ และระบบการพิมพ์ใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น
AIS ในฐานะผู้รับมอบอำนาจ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด จะทำการทดสอบทดลองใน Sandbox กับธนาคารกรุงเทพเป็นลำดับแรกใน 11 สาขาของ AIS และจะพิจารณาเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปในระยะ Sandbox ภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
CAT จะใช้ Mobile ID พัฒนาการให้บริการของ CAT ในช่องทางออนไลน์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะการบริการที่จำเป็นกับการพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลของผู้ใช้บริการ เป็นการซื้อซิมการ์ด การย้ายค่ายเบอร์เดิม โดยไม่ต้องเดินทางไปที่ศูนย์บริการ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มจุดให้บริการได้ทั่วประเทศโดยใช้ช่องทางออนไลน์
ธนาคารกรุงเทพ มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบ Mobile ID โดยจะใช้ระบบนี้เพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลของลูกค้าได้อย่างถูกต้องก่อนทำธุรกรรม เพื่อความปลอดภัย ความมั่นใจ และความน่าเชื่อถือให้กับสถาบันการเงิน
ไปรษณีย์ไทย นำระบบ Mobile ID มาใช้เพื่อพิสูจน์และยืนยันตนของลูกค้า และการแสดงข้อมูลการเป็นเจ้าของเลขหมายมือถือที่ถูกต้อง จะสามารถนำมายกระดับการให้บริการกับประชาชนได้ดีขึ้น โดยบริษัทมีจุดให้บริการ 1,500 สาขาทั่วประเทศไทย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์