×

สงคราม 18 ปี สหรัฐฯ-ตอลิบัน ข้อตกลงสงบศึกในอัฟกานิสถาน และกลเกมการเมืองในสภาวะมหาอำนาจหลายขั้ว

09.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

15 MINS. READ
  • สหรัฐฯ และกองกำลังนาโต รัฐบาลอัฟกานิสถาน และกลุ่มตอลิบัน ตระหนักดีว่า สงครามยืดเยื้อกว่า 18 ปีนี้ ไม่มีทางจบ หากไม่มีการเจรจาพูดคุยกัน จึงเป็นที่มาของกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างสหรัฐฯ กับตอลิบัน จนสามารถบรรลุข้อตกลงระหว่างกันได้ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
  • ถึงแม้เป็นข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ที่สร้างความหวังสู่การยุติสงครามและความรุนแรงในประเทศนี้ แต่ก็ยังมีความเปราะบางอยู่ไม่น้อย เพราะรัฐบาลอัฟกานิสถานไม่ได้ร่วมลงนามด้วย และการพักรบหรือการยุติการต่อสู้ระหว่างสหรัฐฯ กับตอลิบัน ไม่ได้ครอบคลุมถึงการต่อสู้ระหว่างตอลิบันกับรัฐบาลอัฟกานิสถาน
  • สหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่สงครามกับตอลิบัน เป็นฝ่ายที่ถูกกดดันว่า ถ้าไม่เจรจากับตอลิบัน ตอลิบันก็จะไปคุยกับจีนและรัสเซีย ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเจรจากันโดยตรงได้ระหว่างตอลิบันกับรัฐบาลอัฟกานิสถาน เมื่อนั้นบทบาทของสหรัฐฯ ในประเทศนี้อาจลดลง ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์คือ เสียอัฟกานิสถานให้กับมหาอำนาจคู่แข่งของตัวเอง 
  • สหรัฐฯ จึงจำต้องเจรจาหาข้อตกลงกับตอลิบัน ในขณะเดียวกันก็ต้องผลักดันให้ตอลิบันเจรจากับรัฐบาลอัฟกานิสถาน เพื่ออย่างน้อยที่สุดคือ รักษาบทบาทของตัวเองและสกัดไม่ให้มหาอำนาจอื่นเข้ามาแทรกแซง

หากนับจากสหรัฐฯ เริ่มถล่มรัฐบาลตอลิบันในเดือนตุลาคม ปี 2001 อาจกล่าวได้ว่า สงครามอัฟกานิสถานเป็นหนึ่งในสมรภูมิที่ยาวนานที่สุดของสหรัฐฯ หรือ 18 ปี 5 เดือน ที่สหรัฐฯ ติดหล่มอยู่ในดินแดนแห่งนี้ แม้สหรัฐฯ และกองกำลังนาโตจะโค่นรัฐบาลตอลิบัน และยึดอัฟกานิสถานได้ แต่ก็ไม่สามารถขจัดอิทธิพลของตอลิบันไปได้

 

หลายพื้นที่สำคัญใกล้กรุงคาบูลและรอบๆ อัฟกานิสถานยังอยู่ภายใต้การควบคุมของตอลิบัน รายงานชิ้นหนึ่งได้แบ่งพื้นที่ในอัฟกานิสถานตามเขตอิทธิพลของกลุ่มต่างๆ โดยระบุว่า ในจำนวนเกือบ 400 เขตเทศบาลทั่วประเทศนั้น 133 เขต อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลคาบูล และ 70 เขตอยู่ภายใต้อิทธิพลของตอลิบัน ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ อีก 194 เขต ยังเป็นพื้นที่ต่อสู้แย่งชิงอิทธิพลระหว่างกัน สะท้อนให้เห็นว่า 18 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลคาบูลภายใต้การสนับสนุนของกองทัพสหรัฐฯ และนาโตยังไม่สามารถเอาชนะตอลิบันได้เลย ในทางกลับกัน ขณะนี้ตอลิบันยังแข็งแกร่งขึ้นมาก 

 

คริสโตเฟอร์ อาร์. โจนส์ นักข่าวที่เข้าไปหาข้อมูลในอัฟกานิสถาน กล่าวถึงการรุกคืบของตอลิบันที่พยายามเข้าไปมีอิทธิพลในจังหวัดปันจ์ชีร์ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของกรุงคาบูล เป็นจังหวัดที่ว่ากันว่ามีความสำคัญมากในทางยุทธศาสตร์ และเต็มไปด้วยนักรบมุญาฮิดีนเก่า แม้ในช่วงที่ตอลิบันเรืองอำนาจ ก็ยังไม่สามารถเข้าไปควบคุมจังหวัดนี้ได้ กล่าวกันถึงขนาดว่า ถ้าใครยึดปันจ์ชีร์ได้ ก็ยึดอัฟกานิสถานได้ ตอนนี้ตอลิบันได้เข้าไปมีอิทธิพลในจังหวัดบาดักชาน ซึ่งอยู่ติดกับปันจ์ชีร์ทางตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว และกำลังพยายามขยายอิทธิพลเข้าไปยังปันจ์ชีร์ คริสโตเฟอร์ โจนส์ กล่าวว่า ถ้าตอลิบันสามารถควบคุมปันจ์ชีร์ได้ จะชี้ให้เห็นว่า “ตอลิบันในวันนี้มีอิทธิพลมากกว่าในอดีตที่ผ่านๆ มา หรือแม้แต่มากกว่าในยุคที่พวกเขาเคยเป็นผู้ปกครองอัฟกานิสถานโดยพฤตินัยเสียอีก (ทศวรรษ 90)”

 

อัฟกานิสถานตกอยู่ในภาวะของสงครามมาอย่างยาวนาน การต่อสู้ที่มองไม่เห็นจุดสิ้นสุดได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง คนอัฟกานิสถาน ทั้งนักรบและชาวบ้านทั่วไป ต้องเสียชีวิตล้มตายกันนับแสน ทหารสหรัฐฯ เสียชีวิตกว่า 2,400 นาย ในด้านงบประมาณ สหรัฐฯ ก็สูญเสียเงินและทรัพยากรมหาศาลไปกับการรบตลอด 18 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอดีตในยุคสงครามเย็นที่สนับสนุนมุญาฮิดีนรบกับโซเวียตเป็นเวลา 10 ปี ใช้เงิน 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในสงครามกับตอลิบันนับตั้งแต่ปี 2001 สหรัฐฯ ใช้งบไปแล้วกว่า 7.37 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคำนวณได้ว่า ใช้เงินจากภาษีของคนอเมริกัน 3,714 ดอลลาร์ต่อหัว ดังนั้น สงครามในอัฟกานิสถานจึงสร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงสำหรับทุกฝ่าย 

 

สหรัฐฯ และกองกำลังนาโต รัฐบาลอัฟกานิสถาน และกลุ่มตอลิบันตระหนักดีว่า สงครามยืดเยื้อนี้ไม่มีทางจบ หากไม่เจรจาพูดคุยกัน จึงเป็นที่มาของกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างสหรัฐฯ กับตอลิบัน จนกระทั่งสามารถบรรลุข้อตกลงระหว่างกันได้ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ แม้จะถือเป็นข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ที่สร้างความหวังสู่การยุติสงครามและความรุนแรงในประเทศนี้ แต่ก็ยังมีความเปราะบางอยู่ไม่น้อย เพราะรัฐบาลอัฟกานิสถานไม่ได้ร่วมลงนามด้วย และยังต้องจับตาว่า คู่ขัดแย้งจะเคารพหรือปฏิบัติตามข้อตกลงหรือไม่ อย่างไร นอกจากนี้ตัวแสดงทางการเมือง ทั้งในการเมืองอัฟกานิสถานและบทบาทของมหาอำนาจอื่นๆ ยังมีความซับซ้อนอยู่มาก การพักรบหรือการยุติการต่อสู้ระหว่างสหรัฐฯ กับตอลิบัน ไม่ได้ครอบคลุมถึงการต่อสู้ระหว่างตอลิบันกับรัฐบาลอัฟกานิสถาน

 

 

 

ตอลิบันกับการต่อรองและการถ่วงดุลมหาอำนาจหลายขั้ว

ความคิดในการเจรจากับกลุ่มตอลิบันมีมานานแล้วตั้งแต่สมัยของ ฮามิด การ์ซัย อดีตประธานาธิบดีคนแรกหลังสหรัฐฯ โค่นรัฐบาลตอลิบัน โดยอังกฤษกับปากีสถานก็เห็นด้วยว่าควรเจรจากัน แต่ในขณะนั้นสหรัฐฯ ไม่เห็นด้วย 

 

ต่อมาในปี 2007 ฮามิด การ์ซัย ได้ยื่นข้อเสนอขอเจรจากับกลุ่มตอลิบัน แต่ตอลิบันปฏิเสธที่จะเจรจาด้วย เพราะตอลิบันต้องการให้ทหารต่างชาติออกไปจากอัฟกานิสถานก่อนเท่านั้น ต่อมาในปี 2010 หรือหลังการ์ซัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 (ปี 2009) เขายังมุ่งมั่นต้องการที่จะเจรจากับกลุ่มตอลิบันและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ในอัฟกานิสถาน แต่ไม่รวมกลุ่มอัลกออิดะห์ 

 

การ์ซัยต้องการให้ตอลิบันวางอาวุธ เพื่อเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองและรัฐสภาของประเทศ การ์ซัยถึงกับกล่าวเชิญชวนตอลิบันที่กระจัดกระจายกันอยู่ทั้งในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน และที่อื่นๆ ว่า “อยากให้พี่น้องตอลิบันของพวกเราได้กลับบ้านและได้โอบกอดดินแดนของพวกเขาเสียที” ในช่วงนี้สหรัฐฯ เริ่มมีท่าทีสนับสนุน แต่ในขณะเดียวกัน กลับเสริมทหารเข้าไปในอัฟกานิสถานจำนวนมาก 

 

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2010 มีการพบหารือกันระหว่างตัวแทนของรัฐบาลอัฟกานิสถานกับ อับดุล กานี บาราดาร์ ผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการตอลิบัน และเป็นรองผู้บัญชาการของกลุ่ม แต่ไม่นานหลังจากการเจรจากันในครั้งนั้นปรากฏว่า บาราดาร์ถูกทางการปากีสถานร่วมกับทหารสหรัฐฯ จับกุมตัวระหว่างปฏิบัติการในเมืองการาจี ประเทศปากีสถาน เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้การ์ซัยไม่พอใจมาก และทำให้รัฐบาลคาบูลสงสัยว่า ฝ่ายข่าวกรองของปากีสถานต้องการขัดขวางหรือไม่ต้องการให้มีการเจรจาเกิดขึ้น

 

ไม่นานหลังเหตุการณ์จับกุมบาราดาร์ สหรัฐฯ กลับเป็นฝ่ายที่เปลี่ยนจุดยืน และหันมาให้ความสนใจที่จะเจรจากับกลุ่มตอลิบันเสียเอง ทำให้มีการเจรจากันอย่างไม่เป็นทางการเกิดขึ้น ส่งผลให้ตอลิบันเปลี่ยนท่าทีเป็นไม่เจรจาใดๆ กับรัฐบาลอัฟกานิสถาน โดยมองว่า ไม่มีประโยชน์ เพราะรัฐบาลคาบูลเป็นเพียง ‘หุ่นเชิด’ ของสหรัฐฯ เท่านั้นเอง

 

การเจรจาลับระหว่างสหรัฐฯ กับตอลิบันเกิดขึ้นเป็นระยะๆ มีรายงานออกมาว่า แกนนำคนสำคัญๆ ของกลุ่มตอลิบันหลายคนที่อยู่ในปากีสถานได้เดินทางกลับเข้ามาในอัฟกานิสถาน โดยมากับเครื่องบินขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) นอกจากนั้นยังมีการประชุมกันในประเทศที่สามด้วย เช่น เยอรมนี และกาตาร์ อย่างไรก็ตาม การเจรจาต้องสะดุดลงในช่วงกลางปี 2011 เพราะข้อมูลลับหรือรายละเอียดเกี่ยวกับการประชุม โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนของแกนนำตอลิบันรั่วไหลไปถึงมือสื่อกระแสหลักอย่าง Washington Post และ Der Spiegel 

 

ชื่อของ ต็อยยิบ อักฮา ปรากฏในสื่อดังกล่าวที่รายงานว่า เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายตอลิบัน ทำให้ฝ่ายตอลิบันไม่ไว้ใจสหรัฐฯ เพราะมองว่า อาจต้องการจัดประชุมเพื่อให้เกิดการแตกแยกระส่ำระสายในกลุ่มตอลิบันที่มีความหวาดระแวงสหรัฐฯ และไม่เห็นด้วยกับการตั้งโต๊ะเจรจาตั้งแต่แรก

 

การที่สหรัฐฯ เปิดเจรจากับตอลิบัน ทำให้สถานะของตอลิบันได้รับการยอมรับมากขึ้น จนในปี 2013 นำไปสู่การเปิด ‘สำนักงานทางการเมือง (Taliban Political Office)’ ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ (การเจรจาพูดคุยระหว่างสหรัฐฯ กับตอลิบันส่วนใหญ่จึงมีขึ้นที่โดฮา แต่ต่อมาแม้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จะกดดันจนทำให้สำนักงานนี้ต้องถูกปิดตัวลง กระนั้น แกนนำตอลิบันยังเคลื่อนไหวและจัดเจรจาอยู่ในประเทศกาตาร์) รัฐบาลอัฟกานิสถานไม่พอใจอย่างมาก เนื่องจากมองว่า การตั้งสำนักงานเช่นนี้หมายถึงการยินยอมให้ตอลิบันตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้น อีกทั้งยังเป็นการยกสถานะและสร้างความชอบธรรมในสายตานานาประเทศด้วย ทำให้ตอลิบันสามารถเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศต่างๆ ได้อย่างชอบธรรม

 

นอกจากสหรัฐฯ แล้ว ยังมีปากีสถานที่พยายามแสดงบทบาทเข้ามาประสานการเจรจาพูดคุย โดยเชิญจีน อเมริกา และรัฐบาลอัฟกานิสถาน มาประชุมหารือร่วมกันในช่วงปี 2016 แต่ตอลิบันปฏิเสธที่จะเข้าร่วม เพราะตอลิบันไม่ต้องการร่วมโต๊ะเจรจากับรัฐบาลอัฟกานิสถาน กระนั้นก็ตาม มีรายงานข่าวว่า ในปีเดียวกันนี้ ตอลิบันก็มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับตัวแทนรัฐบาลอัฟกานิสถาน

 

แม้จะมีการเจรจากันหลายรอบ แต่สถานการณ์ในอัฟกานิสถานกลับยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กล่าวคือคุยกันไปยิงกันไป โดยเฉพาะในปี 2018 สถานการณ์รุนแรงหนักมาก จนกระทั่ง อัชร็อฟ กานี ประธานาธิบดีอัฟกานิสถานขณะนั้น เสนอขอเจรจากับตอลิบันอย่างไม่มีเงื่อนไข และเสนอให้ตอลิบันมีพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย เสนอเงื่อนไขปล่อยนักโทษตอลิบันด้วย จากนั้นสถานการณ์ก็ดีขึ้นมาบ้าง และมีการทำข้อตกลงหยุดยิงกันเป็นระยะๆ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีการสู้รบกันสลับไปมา 

 

สถานการณ์รุนแรงจนสหรัฐฯ ต้องเปิดเจรจาลับๆ อีกครั้งกับกลุ่มตอลิบันที่กรุงโดฮาในเดือนกรกฎาคม ปี 2018 หลังจากนั้นไม่ถึง 2 เดือน หรือในเดือนกันยายน ประธานาธิบดีทรัมป์ได้แต่งตั้ง ซัลเมย์ คาลิลซาด อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักการทูตอเมริกันเชื้อสายอัฟกานิสถาน เป็นที่ปรึกษาพิเศษด้านอัฟกานิสถานประจำกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ โดยทำหน้าที่เป็นผู้แทนสหรัฐฯ ในการเจรจากับกลุ่มตอลิบันอย่างเป็นทางการ โดยมีเป้าหมายคือ ผลักดันให้เกิดการเจรจาสงบศึกในอัฟกานิสถาน และทำให้เกิดการเจรจาสันติภาพภายในระหว่างตอลิบันกับรัฐบาลอัฟกานิสถาน (Intra-Afghan Political Peace Talk) แต่กระนั้นตอลิบันก็ยังปฏิเสธที่จะคุยกับรัฐบาลอัฟกานิสถาน ในอีกด้านหนึ่ง รัสเซียก็ได้จัดประชุมหารือระหว่างตอลิบันกับสภาสันติภาพระดับสูงของอัฟกานิสถาน (Afghanistan’ High Peace Council) ทำให้เห็นว่า รัสเซียก็พยายามเข้ามามีบทบาทเช่นกัน

 

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2019 มีการเจรจาครั้งสำคัญระหว่างสหรัฐฯ กับตอลิบันที่กรุงโดฮา โดยหัวหน้าคณะพูดคุยในครั้งนี้ของกลุ่มตอลิบันคือ บาราดาร์ ซึ่งถูกปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำปากีสถานตามคำร้องขอของสหรัฐอเมริกา ซัลเมย์ คาลิลซาด ยอมรับว่า การเจรจาครั้งนี้มีความคืบหน้ามากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา มีการเห็นพ้องในร่างข้อตกลงร่วมกันหลายประการ โดยเฉพาะในประเด็นของการถอนทหารสหรัฐฯ และทหารต่างชาติทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถาน ในขณะเดียวกัน ตอลิบันต้องไม่ปล่อยให้กลุ่มติดอาวุธภายนอกเข้ามาเคลื่อนไหวในอัฟกานิสถาน

 

รัฐบาลอัฟกานิสถานนำเรื่องนี้เข้าหารือในสภาฯ โดยเชิญตัวแทนตอลิบันมาเข้าร่วม แต่ก็ถูกตอลิบันปฏิเสธเช่นเคย กระนั้นก็ตามปรากฏว่า ในเดือนพฤษภาคม ปี 2019 ตัวแทนตอลิบันได้เดินทางไปพูดคุยกับนักการเมืองอัฟกานิสถานบางกลุ่มที่มอสโก 

 

สหรัฐฯ กับตอลิบันยังเดินเจรจากันต่อเนื่อง ซึ่งในการเจรจารอบที่ 8 ในเดือนสิงหาคม ปี 2019 ประสบความสำเร็จอย่างมาก Washington Post รายงานว่า ทั้งสองฝ่ายใกล้จะบรรลุข้อตกลงร่วมกันแล้ว ตกลงกันได้หลายเรื่อง เช่น การแลกเปลี่ยนนักโทษตอลิบัน 5,000 คน สหรัฐฯ ยอมถอนทหาร 5,400 คน และคงไว้ 8,600 คน ปิดฐานทัพสหรัฐฯ 5 แห่ง ภายในกรอบเวลา 135 วัน

 

ต่อมาการเจรจาครั้งที่ 9 ในเดือนกันยายน ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นชอบร่วมกันในทุกระดับ และพร้อมสำหรับการลงนามในข้อตกลงแล้ว รอเพียงคำสั่งอนุมัติขั้นสุดท้ายจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเขาเองก็เตรียมที่จะประชุมลับกับผู้นำตอลิบันและประธานาธิบดีอัฟกานิสถานที่แคมป์เดวิด โดยทั้งสองได้เดินทางมาสหรัฐฯ ในคืนก่อนที่จะมีการพบกัน แต่ปรากฏว่า ทรัมป์ได้สั่งยุติการเจรจาทั้งหมดกับกลุ่มตอลิบัน เพราะตอลิบันก่อเหตุโจมตีในกรุงคาบูล ทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 ราย รวมทหารอเมริกัน 1 ราย ทั้งนี้ แม้จะเป็นช่วงของการเจรจา แต่การโจมตีกันก็ยังดำเนินไปด้วย เพราะต่างฝ่ายต่างถือว่ายังไม่ได้ทำการตกลงหยุดยิงกัน ทรัมป์ไม่พอใจมาก และประกาศจะไม่มีการเจรจาอีกแล้ว แต่กระนั้นก็ตาม ทั้ง ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ และมุจาฮิด โฆษกกลุ่มตอลิบัน ยังส่งสัญญาณว่า “ยังมีโอกาสที่จะกลับมาเจรจากันต่อ” ตอลิบันเน้นว่า “ประตูเจรจายังเปิดอยู่ หากทรัมป์ต้องการกลับมาสานต่อในอนาคต” 

 

แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ในวันที่ 23 กันยายน บาราดาร์ หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายตอลิบัน ได้เดินทางไปปักกิ่ง เพื่อไปเจรจาแผนสันติภาพกับ เติ้งซีจวิน ผู้แทนพิเศษจีนว่าด้วยกิจการอัฟกานิสถาน ดังนั้น ไม่เพียงสหรัฐฯ กับรัสเซียเท่านั้นที่พยายามเข้ามาจัดการสันติภาพในอัฟกานิสถาน แต่ยังมีจีนด้วย ซึ่งอัฟกานิสถานเองก็ใช้ประโยชน์จากการถ่วงดุลและสร้างอำนาจต่อรองกับมหาอำนาจเหล่านี้ด้วยเช่นกัน 

 

การเดินทางไปจีนของตอลิบันอาจมีผลให้สหรัฐฯ ต้องทบทวนแนวทางใหม่ โดยในเดือนธันวาคมสหรัฐฯ กับตอลิบันได้กลับมาเจรจากันอีกครั้ง จนกระทั่งในเดือนธันวาคมทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงหยุดยิง 7 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 22-28 กุมภาพันธ์ ปี 2020 ปรากฏว่า ความรุนแรงในช่วงนี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงทำให้สหรัฐฯ เห็นว่า ตอลิบันปฏิบัติตามข้อตกลงได้จริง และมีอำนาจสั่งได้จริง ดังนั้น ในวันที่ 29 จึงมีการลงนามในข้อตกลงร่วมกันครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างสองฝ่าย หรือระหว่าง ซัลเมย์ คาลิลซาด ผู้แทนพิเศษสหรัฐฯ ว่าด้วยกิจการอัฟกานิสถาน กับ อับดุล กานี บาราดาร์ หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายตอลิบัน

 

หากดูในสาระสำคัญของข้อตกลงครั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า สหรัฐฯ เป็นฝ่ายยอมทำตามเงื่อนไขของตอลิบันมากกว่าเดิม โดยเฉพาะเรื่องการถอนทหารสหรัฐฯ และทหารต่างชาติจากเดิมที่เคยจะคงไว้บางส่วน แต่ในข้อตกลงคือ จะถอนทหารทั้งหมด 14,000 นาย ออกจากอัฟกานิสถานภายใน 14 เดือน (หากตอลิบันปฏิบัติตามข้อตกลง) โดยจะเริ่มถอนทันที 8,600 นาย ภายใน 135 วัน ส่วนตอลิบันต้องไม่ปล่อยให้กลุ่มอัลกออิดะห์และกลุ่มติดอาวุธภายนอกเข้ามาปฏิบัติการในอัฟกานิสถาน หลังจากนี้จะเป็นระยะทำงานเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน โดยจะมีการเริ่มกระบวนการเจรจาภายในระหว่างรัฐบาลอัฟกานิสถานกับกลุ่มตอลิบัน และการแลกเปลี่ยนนักโทษกัน โดยรัฐบาลอัฟกานิสถานจะปล่อยนักโทษตอลิบัน 5,000 คน แลกกับเจ้าหน้าที่อัฟกัน 1,000 คน ที่อยู่ในการควบคุมของตอลิบัน

 

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตคือ ข้อตกลงยุติการสู้รบดังกล่าวเป็นข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับตอลิบัน รัฐบาลอัฟกานิสถานไม่ได้ลงนามด้วย ดังนั้น การยุติการสู้รบจึงไม่ครอบคลุมการต่อสู้ระหว่างตอลิบันกับอัฟกานิสถาน ซึ่งต่อมาหลังการลงนามแล้ว ตอลิบันก็ยืนยันชัดว่า การต่อสู้กับรัฐบาลอัฟกานิสถานยังคงจะดำเนินไป แม้จะมีการประชุมร่วมกันในวันที่ 10 มีนาคมที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ เป็นการใช้กลยุทธ์เดียวกันกับการเจรจากับสหรัฐฯ กล่าวคือ เจรจาไปด้วยสู้รบกันไปด้วย เพราะไม่ได้มีข้อตกลงหยุดยิง รัฐบาลอัฟกานิสถานเองก็ยืนยันว่า ไม่ได้ยอมรับการแลกเปลี่ยนนักโทษตามที่ระบุไว้ในข้อตกลง เรื่องนี้จะต้องนำมาคุยกันบนโต๊ะเจรจา ไม่ใช่เงื่อนไขที่รัฐบาลจะต้องทำก่อนจะมีการเจรจา

 

 

 

วิเคราะห์เบื้องหลังปัจจัยสู่ข้อตกลงสันติภาพสหรัฐฯ-ตอลิบัน

อาจมีหลากเหตุผลหลายปัจจัยที่ทำให้สหรัฐฯ กับตอลิบันสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ ความสูญเสียที่มากมายตลอด 18 ปีที่ผ่านมา มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดกระบวนการเจรจา ทั้งในทางลับและเปิดเผย แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย โดยจะขอกล่าวถึงบางปัจจัยที่สำคัญๆ ดังนี้

 

1.หัวหน้าคณะเจรจาของทั้งสองฝ่าย

อาจกล่าวได้ว่า การกำหนดตัวหัวหน้าคณะพูดคุยในกระบวนการเจรจาสหรัฐฯ-ตอลิบัน มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ อับดุล กานี บาราดาร์ ของฝ่ายตอลิบัน เป็นแกนนำที่มีแนวคิดสนับสนุนให้มีการเจรจากับสหรัฐฯ มาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการต่อสู้ของตอลิบัน ที่ผ่านมาก็ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนการเจรจาของฝ่ายตอลิบันมาตั้งแต่สมัย ฮามิด การ์ซัย 

 

เขาคนนี้สำคัญมากจนกระทั่งสหรัฐฯ ต้องขอให้ปากีสถานปล่อยตัว เพื่อมาทำหน้าที่หัวหน้าคณะเจรจาของฝ่ายตอลิบัน แสดงว่า ได้รับการยอมรับจากทั้งสองฝ่าย ส่วน ซัลเมย์ คาลิลซาด ผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ ในกิจการอัฟกานิสถาน เกิดที่กรุงคาบูล เป็นอเมริกันเชื้อสายอัฟกานิสถาน มีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน เคยช่วยสหรัฐฯ สนับสนุนมุญาฮิดีนในยุคสงครามโซเวียต ซึ่งตอนนั้นคาลิลซาดเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เคยเป็นทูตสหรัฐฯ ประจำอิรัก อัฟกานิสถาน และสหประชาชาติ จนกระทั้งเมื่อ ไมค์ ปอมเปโอ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ คาลิลซาดก็ถูกเลือกให้มาทำหน้าที่สำคัญในการเจรจากับตอลิบัน

 

2.การเลือกตั้งสหรัฐฯ และนโยบายของทรัมป์ 

หนึ่งในความหมายของนโยบายอเมริกาต้องมาก่อน (America First) ที่ทรัมป์ชูในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งปี 2016 คือ การนำทหารอเมริกันในต่างประเทศกลับอเมริกา แต่จนถึงขณะนี้ทรัมป์ก็ยังไม่ได้ทำตามที่หาเสียงไว้ ทหารอเมริกันในอิรัก ซีเรีย อัฟกานิสถาน ยังคงประจำการในสมรภูมิรบมาอย่างต่อเนื่อง บางครั้งทรัมป์ก็ประกาศจะถอนทหารจากบางประเทศ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้ถอนจริง ในทางกลับกันยังแสดงที่ท่าทีจะส่งกองทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าไปเสริมอีก กรณีของอัฟกานิสถานเช่นกัน ในกลางปี 2017 โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่สำหรับอัฟกานิสถานว่า “จะสู้จนกว่าจะได้รับชัยชนะ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความผิดพลาดเหมือนกรณีที่เกิดขึ้นกับอิรัก สหรัฐฯ จะคงกำลังของตนในอัฟกานิสถานต่อไป (สวนทางกับนโยบายของ บารัก โอบามา ที่ปูทางสู่การถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถาน และขัดแย้งกับนโยบาย America First ของเขาเองด้วย) ทรัมป์มองว่า การถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานจะทำให้เกิดภาวะสุญญากาศที่จะเอื้อให้ผู้ก่อการร้ายผงาดขึ้นมา”

 

ดังนั้น หากจะนำทหารกลับตามนโยบายเดิม ทรัมป์ต้องจบสงครามในอัฟกานิสถานให้ได้ โดยเฉพาะก่อนที่ทรัมป์จะลงสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 2020 ซึ่งประเด็นนี้คงจะถูกพูดถึงในวงกว้าง พรรคเดโมแครตอาจหยิบมาโจมตีด้วย ในความเป็นจริงสหรัฐฯ เข้าใจดีว่าไม่สามารถเอาชนะตอลิบันได้ด้วยกำลัง จึงต้องหันมาเจรจาเพื่อทำข้อตกลงและเปิดทางสู่การนำทหารกลับประเทศก่อนการเลือกตั้ง ส่วนจะปฏิบัติตามข้อตกลงหรือไม่ หรืออาจมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลังที่เป็นเงื่อนไขให้ต้องคงกำลังต่อหรือแม้แต่เสริมกำลังเพิ่ม ทรัมป์ก็ยังสามารถอธิบายได้ว่า เขาได้พยายามทำตามที่ได้หาเสียงไว้แล้ว คล้ายมาตรการแบนมุสลิมเข้าประเทศ

 

 

 

1.การเมืองภายในและผู้นำอัฟกานิสถาน

รัฐบาลอัฟกานิสถานมีนโยบายที่ต้องการจะเจรจากับตอลิบันมาตั้งแต่สมัย ฮามิด การ์ซัย มาจนถึง อัชร็อฟ กานี แม้ตอลิบันจะไม่ยอมเจรจาด้วยก็ตาม รัฐบาลอัฟกานิสถานมองว่า การบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายที่จะนำมาสู่การสร้างสันติภาพในประเทศนั้นต้องเกิดขึ้นมาจากการเจรจาภายในเท่านั้น การเจรจาหรือข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับตอลิบันคือเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การเจรจาภายใน 

 

อย่างไรก็ตาม การเมืองภายในอัฟกานิสถานอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับตอลิบัน โดยเฉพาะจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน ปี 2019 ระหว่าง อัชร็อฟ กานี กับ อับดุลลอห์ อับดุลลอห์ ที่มีความสูสีกันมาก และอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ พิจารณาตัดสินใจยุติการเจรจากับตอลิบันไม่กี่สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง (นอกเหนือจากเหตุผลการก่อเหตุของกลุ่มตอลิบันตามที่กล่าวไว้แล้ว) อับดุลลอห์เคยลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีแข่งกับ อัชร็อฟ กานี เมื่อปี 2014 ผลปรากฏว่า อับดุลลอห์แพ้การเลือกตั้ง แต่เขาไม่ยอมรับ เพราะมองว่ามีความพยายามเปลี่ยนแปลงผลโดยฝ่ายรัฐบาล ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างหนักระหว่างทั้งสองฝ่าย จนกระทั่งสหรัฐฯ ต้องเข้ามาไกล่เกลี่ยหาทางออก โดยให้มีการตั้งรัฐบาลร่วมกัน อัชร็อฟ กานี เป็นประธานาธิบดี ส่วนอับดุลลอห์ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารสูงสุด (Chief Executive) หรือเทียบได้กับนายกรัฐมนตรี 

 

อับดุลลอห์เป็นคนหนึ่งที่มีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการเจรจากับตอลิบัน หลายครั้งที่เขาวิจารณ์ตอลิบันอย่างหนัก แม้ในช่วงของการเจรจาก็ตาม ทั้งนี้ หากย้อนประวัติของอับดุลลอห์จะเห็นว่า เขาเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของการเมืองอัฟกานิสถานมายาวนาน อับดุลลอห์เป็นหนึ่งในบุคคลที่สนับสนุนการต่อสู้ของนักรบมุญาฮิดีนในสงครามต่อต้านโซเวียตยุคสงครามเย็น ซึ่งขณะนั้นสหรัฐฯ เองก็ให้การสนับสนุนนักรบเหล่านี้ ในปี 1985 อับดุลลอห์ซึ่งเป็นหมอ ทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยรักษาพยาบาลในเมืองหนึ่ง ดูแลนักรบมุญาฮิดีนที่บาดเจ็บจากการต่อสู้ ทำให้อับดุลลอห์ได้ใกล้ชิดและเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของ อะหมัด ชาห์ มาส์ซูด ผู้บัญชาการของกลุ่มตอลิบัน ต่อมาหลังโซเวียตออกไปจากอัฟกานิสถานแล้ว ในปี 1992 ดินแดนแห่งนี้ถูกสถาปนาขึ้นเป็นรัฐอิสลามแห่งอัฟกานิสถาน (Islamic State of Afghanistan) โดยมี บุร์ฮานุดดีน ร็อบบานี หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มมุญาฮิดีน เป็นประธานาธิบดี, ชาห์ มาส์ซูด เป็นรัฐมนตรีกลาโหม ส่วนอับดุลลอห์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการ ควบตำแหน่งโฆษกกระทรวงกลาโหม จนกระทั่งในปี 1996 ก็ถูกตอลิบันยึดอำนาจ และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น ‘อิสลามิกเอมิเรตแห่งอัฟกานิสถาน (Islamic Emirate of Afghanistan)’ 

 

กลุ่มที่ถูกโค่นอำนาจก็ไปรวมตัวกันทางเหนือภายใต้การนำของ ชาห์ มาส์ซูด หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘พันธมิตรฝ่ายเหนือ (Northern Alliance)’ และมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘แนวร่วมอิสลามปลดปล่อยอัฟกานิสถาน (United Islamic Front for Salvation of Afghanistan)’ ทำให้อัฟกานิสถานในยุคนี้มีรัฐบาลซ้อนกัน 2 ชุด ประเทศที่ให้การยอมรับรัฐบาลของกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือ ได้แก่ รัสเซีย อิหร่าน ตุรกี ทาจิกิสถาน อินเดีย และอีกหลายประเทศ ส่วนรัฐบาลตอลิบันได้รับการรับรองจากปากีสถาน ซาอุดีอาระเบีย และยูเออี ทั้งนี้ กลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือจะได้รับการยอมรับมากกว่าในเวทีระหว่างประเทศ อับดุลลอห์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือ

 

ในช่วงต้นปี 2001 ทั้ง ชาห์ มาส์ซูด และอับดุลลอห์ เดินทางไปบรัสเซลส์ เพื่อไปปราศรัยที่สหภาพยุโรป ขอให้สหภาพยุโรปและสังคมโลกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อชาวอัฟกานิสถาน นอกจากนั้นยังได้รายงานต่อสหภาพยุโรปว่า ตอลิบันได้บังคับใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่ไม่ได้มาจากคำสอนที่ถูกต้องของศาสนาอิสลาม และบอกว่า กลุ่มตอลิบันดำรงอยู่ได้เพราะการสนับสนุนจากปากีสถานและกลุ่มอัลกออิดะห์

 

หลังเหตุการณ์ 9/11 สหรัฐฯ ได้ร่วมมือกับพันธมิตรฝ่ายเหนือทำสงครามอัฟกานิสถานโค่นล้มรัฐบาลตอลิบันจนสำเร็จ หลังจากนั้นกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือก็ครองอำนาจมาโดยตลอด ฮามิด การ์ซัย ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีรักษาการ ช่วงเปลี่ยนผ่านของประเทศ การ์ซัยเองเข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือ ทำงานกับ ชาห์ มาส์ซูด มาตั้งแต่ปี 1999 หรือหลังจากที่พ่อของเขาถูกลอบสังหาร ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นฝีมือของกลุ่มตอลิบัน ส่วนอับดุลลอห์ถูกตั้งให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ต่อมาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2004 การ์ซัย ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีต่อ ที่น่าสนใจคือ อับดุลลอห์เป็นเพียงไม่กี่คนในคณะบริหารชุดเดิมที่ถูกเลือกให้มาทำงานต่อร่วมกับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ อับดุลลอห์จึงได้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศต่อ แต่ในปี 2005 เขาก็ได้ลาออกจากตำแหน่ง  

 

อับดุลลอห์กลายมาเป็นคู่แข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับ ฮามิด การ์ซัย ในการเลือกตั้งปี 2009 ซึ่งอับดุลลอห์ได้คะแนนมาเป็นอับดับ 2 หรือร้อยละ 27 ในขณะที่การ์ซัย แม้จะได้คะแนนเสียงมากกว่าและมาเป็นอันดับ 1 แต่ก็ไม่มากพอที่จะตั้งรัฐบาล จึงต้องเลือกตั้งรอบสอง แต่อับดุลลอห์ไม่เข้าร่วมด้วย เพราะไม่เชื่อว่าการ์ซัยจะจัดการเลือกตั้งได้อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม และมองว่า การเลือกตั้งรอบแรกก็มีปัญหามากมาย แสดงถึงความไม่โปร่งใส กกต. จึงประกาศให้การ์ซัยชนะการเลือกตั้งแบบไร้คู่แข่ง ส่วนอับดุลลอห์ได้ตั้งกลุ่มใหม่เรียกว่า ‘พันธมิตรเพื่อการเปลี่ยนแปลงและความหวัง (Coalition of Change and Hope)’ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านต่อต้านรัฐบาลของการ์ซัย จุดยืนที่ต่างกันเรื่องหนึ่งที่ชัดเจนระหว่างการ์ซัยกับอับดุลลอห์ในขณะนั้น คือ การ์ซัยต้องการเจรจากับตอลิบัน อับดุลลอห์ไม่เห็นด้วยกับการเจรจา แต่ควรใช้การทหารมากกว่า

 

อับดุลลอห์มีฐานคะแนนนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2014 ซึ่ง BBC รายงานผลว่า อับดุลลอห์ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนร้อยละ 44 ส่วน อัชร็อฟ กานี ได้เพียงร้อยละ 33 ต้องมีการจัดเลือกตั้งครั้งที่ 2 ผลการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ปรากฏว่า อัชร็อฟ กานี พลิกกลับมาเอาชนะได้ อับดุลลอห์ไม่ยอมรับผลดังกล่าว และยืนยันว่า รัฐบาลกับคณะกรรมการการเลือกตั้งรวมหัวกันเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างสองฝ่าย จนสหรัฐฯ เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยให้มีการตั้งรัฐบาลผสมโดย อัชร็อฟ กานี เป็นประธานาธิบดี ส่วนอับดุลลอห์เป็นหัวหน้าคณะบริหารหรือเทียบได้กับนายกรัฐมนตรี แต่ในทางปฏิบัติ อับดุลลอห์ก็ทำหน้าที่คล้ายเป็นฝ่ายค้านในรัฐบาลเพื่อตรวจสอบ อัชร็อฟ กานี อีกทาง

 

อับดุลลอห์ต้องผิดหวังอีกครั้งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน ปี 2019 ที่ผ่านมา ปัญหาของการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ต้องใช้เวลากว่า 5 เดือนถึงจะสามารถประกาศผลออกมาได้ ทั้งนี้ เพราะมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาความโปร่งใสมากมาย พอผลออกมาในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ปรากฏว่า อัชร็อฟ กานี ชนะอับดุลลอห์ อัชร็อฟ กานี ได้คะแนนเสียงร้อยละ 50.64 อับดุลลอห์ได้ร้อยละ 39.52  ทำให้ อัชร็อฟ กานี ได้เป็นประธานาธิบดีต่อสมัยที่ 2 แต่อับดุลลอห์ไม่ยอมรับผลดังกล่าว และมองว่า เป็นการฉ้อฉลที่น่าละอายครั้งประวัติศาสตร์ อับดุลลอห์ประกาศจะจัดตั้งรัฐบาลรวม (Inclusive Government) คู่ขนานขึ้นมา การเมืองอัฟกานิสถานจึงส่อเค้าขัดแย้งกันหนักขึ้นในกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือเดิมที่เคยได้รับการสนับสนุนจากทั้งสหรัฐฯ และรัสเซีย 

 

ในสถานการณ์ความขัดแย้งภายในเช่นนี้ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่สหรัฐฯ ต้องนำมาพิจารณาในการวางยุทธศาสตร์การเจรจากับตอลิบัน เนื่องจากคู่ขัดแย้งทางการเมืองภายในมีจุดยืนต่างกัน แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาว่า อัชร็อฟ กานี ชนะ ประกอบกับข้อตกลงหยุดยิงที่ทำกับตอลิบันประสบความสำเร็จ สหรัฐฯ จึงลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับตอลิบันเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

 

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง สหรัฐฯ อาจไม่สบายใจนักที่ อัชร็อฟ กานี ปล่อยให้จีนและรัสเซียเข้ามามีอิทธิพลในอัฟกานิสถานมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการผลักดันกระบวนการสันติภาพคู่ขนานไปกับสหรัฐฯ และการวางโครงการเส้นทางสายไหมของจีนที่ครอบคลุมถึงอัฟกานิสถานด้วย แต่กระนั้น หากข้อตกลงกับตอลิบันมีอันต้องล้มเหลวหรือสหรัฐฯ จะกลับไปใช้กำลังจัดการกับตอลิบัน หรือหาก อัชร็อฟ กานี หันไปหาจีนหรือรัสเซียในระดับที่สหรัฐฯ มองว่า กระทบต่ออิทธิพลและผลประโยชน์ของตัวเอง สหรัฐฯ อาจหันไปหนุนฝ่ายของอับดุลลอห์ให้ขึ้นมามีอำนาจก็เป็นได้ ในทางกลับกันหาก อัชร็อฟ กานี เอียงไปทางสหรัฐฯ มาก จีนหรือรัสเซียก็มีโอกาสไปหนุนอับดุลลอห์เช่นกัน รวมไปถึงกลุ่มตอลิบันด้วย หรือแม้แต่ปากีสถานก็อาจจะไปหนุนตอลิบัน เราจะเห็นได้ว่า อดีตกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือเคยได้รับการสนับสนุนมาแล้วจากมหาอำนาจต่างๆ ในช่วงต่างกรรมต่างวาระ 

 

 

 

1.ตอลิบันและรัฐบาลอัฟกานิสถานในยุคมหาอำนาจหลายขั้ว ไพ่หลายหน้า เล่นหลายวง

ในขณะที่สหรัฐฯ พยายามเจรจากับตอลิบัน เพื่อยุติสงครามในอัฟกานิสถาน จีนและรัสเซียก็พยายามแสดงบทบาทในกระบวนการสันติภาพอัฟกานิสถานเช่นกัน แต่ที่น่าสนใจคือ ไม่เพียงแต่อิทธิพลของจีนและรัสเซียที่เพิ่มมากขึ้นในอัฟกานิสถานเท่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจนี้กับตอลิบันยังสะท้อนแนวโน้มว่า จีนกับรัสเซียเป็นตัวแสดงที่มีพลังหรือศักยภาพในการทำให้ทั้งสองฝ่ายมานั่งเจรจากันได้ ทั้งที่ในกระบวนการเจรจากับสหรัฐฯ ตอลิบันปฏิเสธไม่ยอมเจรจากับรัฐบาลอัฟกานิสถานเด็ดขาด กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ตอลิบันกำลังเล่นเกมต่อรองกดดันกับสหรัฐฯ ในสภาวะหลายขั้วอำนาจหรือคุยกับจีนและรัสเซียคู่ขนานไปด้วย หรือจะคุยกับตัวแทนรัฐบาลอัฟกานิสถานหากรัสเซียเป็นผู้ประสาน เช่น กรณีที่ตอลิบันไปคุยกับ AHPC (สภาสันติภาพระดับสูงของอัฟกานิสถาน) ที่กรุงมอสโก หรือที่ไปคุยกับนักการเมืองอัฟกานิสถานที่รัสเซียเช่นกัน ตอลิบันยังส่งสัญญาณชัดว่า ถ้าสหรัฐฯ ไม่เจรจากับตน ตนก็จะไปคุยกับจีนต่อ ตัวอย่างกรณีที่ทรัมป์ประกาศยุติการเจรจา ซึ่งไม่นานหลังจากนั้นตอลิบันก็เดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน 

 

อัฟกานิสถานเป็นประเทศหนึ่งที่จีนมุ่งหวังที่จะเข้าไปมีบทบาท ทั้งในแง่ของความมั่นคงว่า ด้วยการป้องกันการก่อการร้ายหรือการขยายอิทธิพลของกลุ่มไอเอสจากอัฟกานิสถานเข้าสู่เอเชียกลางและจีน นอกจากนี้จีนยังให้ความสำคัญกับอัฟกานิสถานมากขึ้น เพราะจีนได้ประกาศแผนขยายเส้นทางสายไหมที่ครอบคลุมอัฟกานิสถานด้วย ที่สำคัญคือการขยายโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (CPEC) ไปถึงเพื่อนบ้านอย่างอัฟกานิสถาน

 

อีกตัวแสดงที่สำคัญคือ รัสเซีย ที่เข้ามามีอิทธิพลมากขึ้นในอัฟกานิสถานในหลายมิติ ก่อนหน้านี้ก็เคยมีข่าวว่า รัสเซียและอิหร่านแอบให้การสนับสนุนด้านอาวุธกับกลุ่มตอลิบันแบบลับๆ แต่ทางรัสเซียปฎิเสธว่าไม่เป็นความจริง และกล่าวหาสหรัฐฯ ว่าสร้างข่าวนี้ขึ้นมาเพื่อให้ร้ายรัสเซีย หากมองในแง่ยุทธศาสตร์ของรัสเซียกับกลุ่มตอลิบัน ก็มีความเป็นไปได้ว่า จะมีความสัมพันธ์กันในทางลับ เพราะมีสหรัฐฯ เป็นปฏิปักษ์ร่วม อัฟกานิสถานอาจเป็นสมรภูมิตัวแทนคล้ายซีเรียที่สหรัฐฯ ไปติดอาวุธให้กับกลุ่มกบฏ แต่ในอัฟกานิสถานรัสเซียสนับสนุนตอลิบัน 

 

รัสเซียพยายามวางนโยบายไม่ให้กระทบต่อความสัมพันธ์กับรัฐอัฟกานิสถาน รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ ย้ำเสมอถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างมอสโกกับคาบูล ประธานาธิบดีกานี ก็มีความสนใจที่จะซื้อเฮลิคอปเตอร์ MI35 ของรัสเซีย โฆษกกระทรวงต่างประเทศของอัฟกานิสถาน อัชร็อฟ ไฮดาร์ ยังเคยร้องขอให้รัสเซียช่วยสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุงให้กับกองทัพและตำรวจอัฟกานิสถาน

 

ในความสัมพันธ์ลักษณะนี้ นักวิเคราะห์บางคนมองว่า การที่รัสเซียขายอาวุธให้กับกลุ่มตอลิบัน ในที่สุดแล้วอาจนำไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์กับอัฟกานิสถาน เพราะจะบีบให้รัฐบาลอัฟกานิสถานต้องพูดคุยเจรจากับรัสเซีย หรือถ้าต่อต้านรัสเซียก็จะยิ่งส่งผลต่อความมั่นคงของอัฟกานิสถานเอง

 

รัสเซียยังเสนอตัวเป็นตัวกลางจัดการเจรจาระหว่างรัฐบาลอัฟกานิสถานกับกลุ่มตอลิบัน เหตุที่รัสเซียต้องการเข้ามาจัดการปัญหาในอัฟกานิสถาน เพราะรัสเซียมีความกังวลว่า อัฟกานิสถานอาจจะกลายเป็นสมรภูมิที่กลุ่มก่อการร้ายไอเอสหลั่งไหลเข้ามาหลังจากพ่ายแพ้ในอิรักและซีเรีย รัสเซียกลัวว่า ปัญหากลุ่มก่อการร้ายจะสั่นคลอนเสถียรภาพในเอเชียกลาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัสเซียได้ ความเคลื่อนไหวของรัสเซียในลักษณะนี้อาจทำให้บทบาทของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานลดลงไปด้วย

 

รัสเซียเคยจัดประชุมหารือร่วมกับจีนและปากีสถานถึงประเด็นความขัดแย้งในอัฟกานิสถานมาตั้งแต่ปี 2016 และในปี 2017 ได้เชิญรัฐบาลอัฟกานิสถาน อินเดีย และอิหร่านมาร่วมพูดคุยด้วย ที่สำคัญคือรัสเซียได้เชิญสหรัฐฯ ด้วยแต่สหรัฐฯ ตัดสินใจไม่เข้าร่วม แสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ ไม่เห็นด้วยกับบทบาทของรัสเซียต่อกรณีปัญหาอัฟกานิสถาน 

 

ด้วยเหตุนี้ หากสหรัฐฯ ไม่เจรจากับตอลิบันหรือไม่ผลักดันกระบวนการสันติภาพร่วมกับรัฐบาลอัฟกานิสถาน จีนและรัสเซียก็พร้อมที่จะแสดงบทบาทดังกล่าว ส่วนตอลิบันหรือแม้กระทั่งรัฐบาลอัฟกานิสถาน ก็สามารถใช้ประโยชน์จากสภาวะโครงสร้างมหาอำนาจหลายขั้วต่อรองและถ่วงดุลไปมาในลักษณะเล่นไพ่หลายหน้าพูดคุยหลายวง 

 

การที่จีนและรัสเซียสามารถเข้าไปเชื่อมประสานกับกลุ่มเหล่านี้ได้ไม่ยากก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะนอกจากเหตุผลทางยุทธศาสตร์แล้ว ตัวแสดงต่างๆ เหล่านี้มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาตั้งแต่อดีต หรือพูดอีกแบบคือ เป็นคนคุ้นเคยกันมาก่อนทั้งนั้น จีนเองก็เป็นประเทศหนึ่งที่สนับสนุนนักรบมุญาฮิดในสมัยสงครามต่อต้านโซเวียตเช่นเดียวกับสหรัฐฯ ส่วนรัสเซียก็เคยสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฝ่ายเหนือ (ซึ่งก็คืออดีตนักรบมุญาฮิดีนในช่วงปี 1996-2001) เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ที่ร่วมมือกับพันธมิตรกลุ่มนี้ในสงครามอัฟกานิสถาน (ปี 2001)

 

สถานการณ์ขณะนี้ จีนและรัสเซียจึงสามารถเชื่อมต่อกับทุกฝ่ายได้แบบไม่ได้เป็นศัตรูคู่ขัดแย้งกับใคร แต่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่สงครามกับตอลิบันกลับเป็นฝ่ายที่ถูกกดดันว่า ถ้าไม่เจรจากับตอลิบัน ตอลิบันก็จะไปคุยกับจีนและรัสเซีย ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเจรจากันโดยตรงระหว่างตอลิบันกับรัฐบาลอัฟกานิสถานได้ เมื่อนั้นบทบาทของสหรัฐฯ ในประเทศนี้อาจลดลง ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์คือ เสียอัฟกานิสถานให้กับมหาอำนาจคู่แข่งของตัวเอง สหรัฐฯ จึงจำต้องเจรจาหาข้อตกลงกับตอลิบัน ในขณะเดียวกันก็ต้องผลักดันให้ตอลิบันเจรจากับรัฐบาลอัฟกานิสถาน เพื่ออย่างน้อยที่สุดคือ รักษาบทบาทของตัวเอง และสกัดไม่ให้มหาอำนาจอื่นเข้ามาแทรกแซง

 

ฉากทัศน์และความท้าทายหลังข้อตกลงสหรัฐฯ กับตอลิบัน

หลังสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์กับตอลิบัน สถานการณ์ในอัฟกานิสถานและเสถียรภาพความมั่นคง รวมทั้งการเมืองระหว่างประเทศ มีแนวโน้มเป็นไปได้หลายทาง ซึ่งควรจับตามอง โดยอาจนำไปสู่ฉากทัศน์ต่างๆ ดังนี้ 

1.ความรุนแรงระหว่างสหรัฐฯ กับตอลิบันอาจลดลงอย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง แต่อัฟกานิสถานยังคงต้องเผชิญปัญหาความรุนแรงต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลอัฟกานิสถานกับตอลิบันยังไม่มีข้อตกลงหยุดยิงระหว่างกัน นอกจากนี้ในอัฟกานิสถานยังมีกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ และกลุ่มไอเอสอยู่จำนวนไม่น้อย ความรุนแรงยังคงเป็นความท้าทายของประเทศนี้ต่อไป ฉากทัศน์นี้ค่อนข้างหลีกเลี่ยงยาก

 

2.ข้อตกลงสหรัฐฯ-ตอลิบันล้มเหลวและกลับมาสู้รบกันอีกครั้ง เพราะความเปราะบางของสถานการณ์หรือความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน เช่น ในวันที่ 3 มีนาคม 2020 สหรัฐฯ ได้โจมตีทางอากาศถล่มนักรบตอลิบันในเมืองเฮลมานด์ เป็นการโจมตีครั้งแรกของสหรัฐฯ หลังทำข้อตกลงกับตอลิบัน โดยสหรัฐฯ อ้างว่า เป็นการโจมตีเชิงป้องกัน เพราะตอลิบันได้โจมตีด่านตรวจของกำลังรักษาความมั่นคงแห่งชาติของอัฟกานิสถานก่อน (Afghan National Security Forces) ทำให้เจ้าหน้าที่กว่า 20 คน เสียชีวิต สหรัฐฯ เรียกร้องตอลิบันให้งดการโจมตีที่ไม่จำเป็น เพราะจะสุ่มเสี่ยงต่อข้อตกลงหยุดยิงที่เปราะบาง และเพื่อสร้างบรรยากาศสู่การเจรจากับรัฐบาลอัฟกานิสถานที่กำลังจะมีขึ้น ตามฉากทัศน์นี้สหรัฐฯ และตอลิบันจะไม่ทำตามข้อตกลงระหว่างกัน สหรัฐฯ จะคงทหารของตนและต่อสู้ในอัฟกานิสถานต่อไป 

 

3.สหรัฐฯ สามารถผลักดันกระบวนการเจรจาสันติภาพภายในได้สำเร็จและถอนกำลังทหารของออกไปตามข้อตกลงกับตอลิบัน ตอลิบันและรัฐบาลอัฟกานิสถานสามารถเจรจาตกลงเกี่ยวกับอนาคตของประเทศร่วมกันได้ด้วยวิถีทางการเมืองอย่างประนีประนอม ฉากทัศน์นี้ค่อนข้างเป็นไปได้ยากในระยะสั้น

 

4.สหรัฐฯ เดินหน้าถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานตามข้อตกลงและตามนโยบายของทรัมป์ โดยให้รัฐบาลอัฟกานิสถานดูแลความมั่นคงของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากสำหรับอัฟกานิสถานที่จะป้องกันตนเองได้หากปราศจากกำลังทหารของต่างชาติ ทรัมป์พูดเองว่า อัฟกานิสถานต้อง “ดูแลตัวเอง” สหรัฐฯ อยู่ที่นี่มาเกือบ 20 ปีแล้ว และคงไม่สามารถอยู่ต่อไปอีก 20 ปีได้ เมื่อนักข่าวถามว่า ถ้าสหรัฐฯ ถอนทหารออกไปหมด ตอลิบันก็อาจจะยึดอำนาจจากรัฐบาลที่สหรัฐฯ สนับสนุนมาตลอดใช่หรือไม่ ทรัมป์ตอบเพียงว่า “เขาไม่ได้ต้องการให้มันเป็นแบบนั้น แต่มันก็เป็นไปได้” หากเป็นเช่นนี้ ฉากทัศน์ที่น่าสนใจคือ รัฐบาลอัฟกานิสถานมี 2 แนวทาง 1. คือยอมตอลิบัน หรือ 2. มองหาตัวช่วยภายนอกและคงไม่มีตัวเลือกไหนดีเท่ากับจีนและรัสเซีย ซึ่งจีนกับรัสเซียก็คงต้องสร้างดุลที่เหมาะสมระหว่างคู่ขัดแย้งนี้ หาไม่แล้วอาจส่งผลกระผลต่อความสัมพันธ์กับปากีสถาน ซึ่งมีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับตอลิบัน ในขณะเดียวกันจีนกับปากีสถานก็เป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อกัน ส่วนสหรัฐฯ อาจสนับสนุนกลุ่มของอับดุลลอฮ์ อับดุลลอฮ์ ก็เป็นได้

 

5.ฉากทัศน์สุดท้าย สหรัฐฯ ไม่ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน สถานการณ์ความรุนแรงและภาวะสงครามยังดำรงอยู่ต่อไป แต่บทบาทของจีน รัสเซีย รวมทั้งปากีสถาน เพิ่มมากขึ้นในลักษณะที่เข้ามาผลักดันกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างตอลิบันกับรัฐบาลอัฟกานิสถาน ซึ่งหากสามารถหาทางออกร่วมกันหรือทำข้อตกลงร่วมกันได้หรือเห็นร่วมกันว่า สหรัฐฯ ควรถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน และถ้าสหรัฐฯ ปฏิเสธ โดยอาจอ้างภารกิจต่อต้านการก่อการร้ายหรือเหตุผลใดก็ตามแต่ กระแสเรียกร้องกดดันให้ทหารสหรัฐฯ ถอนทหารจะขยายตัวมากขึ้นในอัฟกานิสถานและเอเชียใต้ เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นในอิรักและตะวันออกกลางขณะนี้ 

 

ข้อตกลงยุติสงคราม 18 ปี สหรัฐฯ-ตอลิบัน ความมั่นคงในอัฟกานิสถาน และกลเกมการเมืองระหว่างประเทศในสภาวะมหาอำนาจหลายขั้ว เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปครับ

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X