ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุ สั่งเข้มมาตรการลักลอบไปทำงานต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เผยสถิติเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สั่งระงับการเดินทางของคนหางานที่มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานต่างประเทศ และให้การยอมรับว่าจะไปทำงานในต่างประเทศจำนวน 260 คน โดยระงับไปเกาหลีใต้มากที่สุดจำนวน 220 คน รองลงมาเป็นบาห์เรน จำนวน 22 คน โอมาน จำนวน 8 คน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จำนวน 5 คน กาตาร์ จำนวน 4 คน และอินเดีย จำนวน 1 คน ขณะที่มีคนหางานเดินทางไปทำงานและฝึกงานในต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิในเดือนกุมภาพันธ์ทั้งหมดจำนวน 6,156 คน ส่วนใหญ่ไปทำงานในแถบทวีปเอเชียมากที่สุด จำนวน 4,509 คน 2 อันดับแรกคือ 1. ไต้หวัน 2,725 คน 2. เกาหลีใต้ 841 คน รองลงมาเป็นประเทศในแถบตะวันออกกลาง 723 คน และประเทศในแถบยุโรป 481 คน
ด้าน สุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และได้มีมาตรการตรวจเข้มคนหางานไปทำงานในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยได้สั่งการเร่งด่วนให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนหางานประจำท่าอากาศยานต่างๆ เข้มงวด ตรวจสอบ และระงับการเดินทางผู้ที่มีพฤติกรรมและต้องสงสัยว่าจะลักลอบไปทำงานในต่างประเทศ พร้อมกับชี้แจงให้ทราบถึงการไปทำงานหรือฝึกงานในต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายว่าต้องแจ้งหรือขออนุญาตต่อกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
“สาธารณรัฐเกาหลียังคงเป็นประเทศที่ถูกระงับการเดินทางมากที่สุด และคนงานไทยมีกระแสนิยมไปทำงานมากขึ้น เพราะได้รับอัตราค่าจ้างที่สูง ประกอบกับนายจ้างต้องการจ้างแรงงานไทย เนื่องจากขยัน อดทน จึงทำให้มีแรงจูงใจไปทำงานมากขึ้น ซึ่งทางด่านตรวจคนเข้าเมืองสาธารณรัฐเกาหลีก็เพิ่มความเข้มงวดคนไทยที่จะเดินทางเข้าประเทศมากขึ้นเช่นกัน เพราะปัจจุบันการเดินทางไปสาธารณรัฐเกาหลีไม่ต้องใช้วีซ่า ที่ผ่านมาพบว่าแรงงานไทยที่มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลีนิยมแอบแฝงไปกับบริษัททัวร์ที่มีโปรแกรมท่องเที่ยวในเกาหลี และเมื่อเดินทางถึงสนามบิน ก็จะแยกออกจากกรุ๊ปทัวร์ทันที หรืออาจจะเที่ยวตามโปรแกรมทัวร์จนครบกำหนดการ แต่เมื่อถึงวันเดินทางกลับก็หลบหนีออกจากโรงแรมที่พักเพื่อหาทางไปยังสถานที่ทำงานของนายจ้างชาวเกาหลี
ขณะที่การทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีอย่างถูกต้องตามกฎหมายทำได้ 2 วิธีคือ
1.ภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) อนุญาตให้ทำงานได้ 5 กิจการคือ กิจการอุตสาหกรรมการผลิต, กิจการเกษตรกรรม/ปศุสัตว์, กิจการก่อสร้าง, กิจการประมง และกิจการบริการ และ ‘จะต้องผ่านการทดสอบทักษะและภาษาเกาหลี’ ก่อน จึงจะได้รับการจัดส่งรายชื่อให้นายจ้างเกาหลีคัดเลือกให้เข้าไปทำงาน
2.แรงงานต่างชาติประเภทช่างฝีมือ ซึ่งจะต้องได้รับอนุมัติหรือขอวีซ่าจากกระทรวงยุติธรรมสาธารณรัฐเกาหลี
สุชาติกล่าวอีกว่า กรมการจัดหางานให้ความสำคัญกับปัญหาแรงงานไทยหลบหนีเป็นแรงงานผิดกฎหมาย โดยได้แจ้งเตือนคนหางานนับตั้งแต่วันที่ได้รับการคัดเลือกจากนายจ้าง แรงงานไทยที่หลบหนีไปทำงานอย่างผิดกฎหมายจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานและสวัสดิการใดๆ ทั้งจากการถูกโกงค่าแรง ทำร้าย รวมทั้งกรณีเจ็บป่วย พิการ หรือเสียชีวิต จะไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ ต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ เอง ดังนั้นจึงขอให้แรงงานไทยอย่าหลงเชื่อผู้ที่ชักชวนให้ไปทำงานในต่างประเทศโดยผิดกฎหมาย เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของคนไทย และไม่ให้กระทบต่อคนไทยที่ปฏิบัติถูกต้อง