×

ทำความสะอาดพื้นที่และสิ่งรอบตัวอย่างไรให้ปลอดจากโควิด-19

07.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS. READ
  • การทำความสะอาดในบทความนี้จะพูดถึงพื้นที่ที่มีการ ‘สัมผัสเชื้อ’ หรือมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 พักอาศัยอยู่เป็นหลัก เพราะกรมควบคุมโรคมีแนวทางชัดเจน นึกภาพว่าผู้ป่วยอาจมีอาการไอ จาม แล้วละอองน้ำมูกน้ำลายก็หล่นไปเกาะตามพื้นผิวแนวราบ เช่น โต๊ะ พื้นห้อง หรือใช้มือปิดปากเวลาไอ จาม แล้วไปหยิบจับพนักพิงเก้าอี้ เป็นต้น เราจึงต้องการกำจัดเชื้อที่เหลืออยู่ตามสิ่งแวดล้อมเหล่านี้
  • การฉีดหรือพ่นน้ำยาจะทำให้เกิดละอองน้ำกระจายขึ้นมา ซึ่งถ้ามีเชื้อค้างอยู่บนพื้นผิวนั้น ก็จะทำให้เชื้อฟุ้งลอยมาเปื้อนตัวผู้ทำความสะอาดและเครื่องเรือนเครื่องใช้ในบริเวณนั้นได้ ดังนั้นวิธีการทำความสะอาดที่ดีที่สุดคือการเช็ดถูอย่างต่อเนื่อง (Steady Sweeping Motion) ไม่ว่าจะเป็นพื้นหรือผิวสัมผัสแนวราบ
  • ถ้าเป็นสถานที่ทั่วไปที่ไม่ได้มีผู้ป่วยพักอาศัยอยู่ เช่น พื้นที่ส่วนกลางในสำนักงาน ร้านอาหาร สถานที่ออกกำลังกาย ควรมีการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสเป็นประจำ อย่างน้อยวันละครั้ง ด้วยน้ำผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาด หรือแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70%

ภาพการฉีดพ่นน้ำยาตามถนนในต่างประเทศเริ่มเป็นที่คุ้นตามากขึ้นเรื่อยๆ และถ้าผมจำไม่ผิด ตอนที่มีนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ติดโควิด-19 จากคุณปู่ที่เดินทางกลับมาจากประเทศญี่ปุ่น ก็มีภาพของเจ้าหน้าที่สวมชุดป้องกันตัวเหมือนนักบินอวกาศ เครื่องที่สะพายหลังไม่ใช่ถังออกซิเจน แต่น่าจะเป็นน้ำยาฆ่าเชื้อมากกว่า เดินฉีดพ่นตามอาคาร อาจทำให้ใครหลายคนเข้าใจผิดว่าการทำความสะอาดพื้นที่สัมผัสเชื้อต้องใช้การพ่นยาหรือฉีดล้างสถานที่

 

ทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับโควิด-19 อีกครั้ง

โควิด-19 มีชื่อเรียกในทางการแพทย์ว่า SARS-CoV-2 เนื่องจากมีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกับซาร์สที่เคยระบาดเมื่อสิบกว่าปีก่อน เป็นไวรัสชนิดที่มีเปลือกหุ้ม (Enveloped) ซึ่งทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ต่ำกว่าไวรัสชนิดเปลือย (Naked) และถูกทำลายได้ด้วยแอลกอฮอล์ (เพราะเปลือกหุ้มเป็นไขมัน) แต่ถึงอย่างนั้น SARS-CoV-2 นี้ก็สามารถอยู่บนพื้นผิววัสดุได้อย่างน้อย 2-3 วันเลยทีเดียว

 

ไวรัสสายพันธุ์นี้ติดต่อผ่านช่องทางหลัก 2 ทางคือ การสูดลมหายใจเอาละอองน้ำมูกน้ำลาย (Droplet) ที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป กลไกนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราถูกผู้ป่วยไอ จามรดใส่ หรือพูดคุยกับผู้ป่วยเป็นระยะเวลานาน ส่วนอีกทางหนึ่งคือการสัมผัส (Contact) กับละอองเหล่านั้น โดยมักจะเป็นมือของเราที่หยิบจับของหรือพื้นผิวที่มีการสัมผัสร่วมกับผู้อื่น เช่น ราวบันได ลูกบิดประตู ปุ่มกดลิฟต์ แล้วเอามาจับบริเวณใบหน้า ตา จมูก และปาก

 

จึงเป็นที่มาของคำแนะนำให้ทุกคนล้างมือบ่อยๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์ความเข้มข้นอย่างน้อย 70% (พลิกอ่านฉลากกันสักเล็กน้อย) หรือฟอกสบู่แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ถ้ามือเปื้อนสิ่งสกปรก และตามสถานที่ที่มีผู้คนอยู่จำนวนมาก เช่น โรงเรียน สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ควรจัดหาแอลกอฮอล์เจลตั้งไว้ประจำจุดต่างๆ เช่น ประตูทางเข้า-ออก และหน้าลิฟต์ เพื่อให้คนที่ผ่านไปมาทำความสะอาดมือตัวเองก่อนไปหยิบจับของที่ใช้ร่วมกัน

 

เตรียมตัวก่อนทำความสะอาด

การทำความสะอาดในบทความนี้จะพูดถึงพื้นที่ที่มีการ ‘สัมผัสเชื้อ’ หรือมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 พักอาศัยอยู่เป็นหลักนะครับ เพราะกรมควบคุมโรคมีแนวทางชัดเจน นึกภาพว่าผู้ป่วยอาจมีอาการไอ จาม แล้วละอองน้ำมูกน้ำลายก็หล่นไปเกาะตามพื้นผิวแนวราบ เช่น โต๊ะ พื้นห้อง หรือใช้มือปิดปากเวลาไอ จาม แล้วไปหยิบจับพนักพิงเก้าอี้ เป็นต้น เราจึงต้องการกำจัดเชื้อที่เหลืออยู่ตามสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ (แต่ไม่ได้ลอยอยู่ในอากาศ)

 

อย่างแรกคือต้องเตรียมตัวผู้ทำความสะอาดและอุปกรณ์ให้พร้อมก่อน โดยผู้ที่จะทำความสะอาดจะต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง เรียงจากหัวจรดเท้าดังนี้ 

1.หมวกคลุมผม 

2.แว่นใสขนาดใหญ่ (แว่นกันลม) 

3.หน้ากากอนามัย 

4.ผ้าพลาสติกกันเปื้อน 

5.ถุงมือยางชนิดยาว 

6.รองเท้าบู๊ต

 

เพื่อป้องกันคราบสกปรกกระเด็นเปื้อนตัวเรา นอกจากนี้จะต้องเลือกอุปกรณ์ทำความสะอาดที่มีด้ามจับ เช่น ที่โกยผง (เอาไว้โกยทิชชู่ได้) ไม้ถูพื้น

 

ต่อมาคือน้ำยาที่ใช้ทำความสะอาดที่สามารถหาซื้อและเตรียมได้ง่าย มีทั้งหมด 3 อย่างด้วยกัน ซึ่งผมขอตั้งชื่อให้เป็นน้ำยา A B C ดังต่อไปนี้ครับ

 

น้ำยา A แอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70% สำหรับเช็ดพื้นผิวสัมผัสหรือผิวโลหะ

 

น้ำยา B สารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรต์ 500 ppm (0.05%) สำหรับถูพื้นห้อง วิธีการเตรียมคือ ไฮเตอร์ (ความเข้มข้น 6%) 1 ฝาเล็ก (10 มิลลิลิตร) + น้ำ 1 ลิตร (จะได้ความเข้มข้นเกือบ 600 ppm)

 

น้ำยา C สารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรต์ 5,000 ppm (0.5%) สำหรับทำความสะอาดพื้นที่ปนเปื้อนน้ำมูก/น้ำลาย/เสมหะ/อุจจาระ/ห้องน้ำ วิธีการเตรียมคือ ไฮเตอร์ (ความเข้มข้น 6%) 1 ขวดเล็ก (500 มิลลิลิตร) + น้ำ 5 ลิตร (อย่างนี้จะได้ความเข้มข้นเกือบ 5,500 ppm)

 

เริ่มทำความสะอาด

คนพร้อม ของพร้อม ก็มาเริ่มกัน! 

 

เริ่มจากกั้นบริเวณที่ปนเปื้อนเชื้อก่อน จากนั้นเปิดประตู หน้าต่าง ให้อากาศถ่ายเทสะดวก สำหรับพื้นห้องใช้ผ้าถูพื้นชุบน้ำยา B หมาดๆ แล้วเช็ดอย่างต่อเนื่อง 

 

ส่วนพื้นห้องน้ำที่ปนเปื้อนน้ำมูก/น้ำลาย/เสมหะ/อุจจาระ ให้ราดน้ำยา C ทิ้งไว้อย่างน้อย 15 นาที แล้วทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาล้างห้องน้ำตามปกติ หรือถ้าเป็นพื้นห้องหรือพื้นโต๊ะที่เปื้อน ให้ใช้ทิชชู่วางทับลงไปก่อน แล้วค่อยราดน้ำยา C ลงไป ทิ้งไว้อย่างน้อย 15 นาทีเช่นกัน แล้วเช็ดด้วยน้ำยา C อีกครั้ง

 

พื้นผิวสัมผัส เช่น ลูกบิดประตู สวิตช์ไฟ โต๊ะ เก้าอี้ โทรศัพท์ส่วนกลาง รีโมตทีวี คีย์บอร์ด ให้ใช้ผ้าชุบน้ำยา A หรือ B เช็ด 

 

ในขณะที่ผ้าม่าน/ผ้าห่ม ให้ซักด้วยผงซักฟอกในน้ำร้อนอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 25 นาที เมื่อแล้วเสร็จ อุปกรณ์ทำความสะอาดที่ทำจากผ้า เช่น ผ้าถูพื้น ผ้าเช็ดให้ทิ้งลงถุงขยะติดเชื้อ 

 

อุปกรณ์ที่ต้องการนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น ที่โกยผง ให้แช่ในน้ำยา B นาน 15 นาที แล้วนำขึ้นมาผึ่งให้แห้ง ส่วนถังน้ำให้แช่ในน้ำยา B หรือล้างในน้ำร้อน

 

สุดท้ายหลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ในวันถัดมาเป็นเวลา 1 วัน

 

ห้ามฉีดหรือพ่นน้ำยา

จะสังเกตว่าผมไม่ได้พูดถึงการฉีดหรือพ่นน้ำยาเลยนะครับ เพราะกรมควบคุมโรคไม่แนะนำให้ทำเช่นนี้ (ทั้งไทยและสิงคโปร์เขียนไว้ตรงกัน) เนื่องจากการฉีดหรือพ่นน้ำยาจะทำให้เกิดละอองน้ำกระจายขึ้นมา ซึ่งถ้ามีเชื้อค้างอยู่บนพื้นผิวนั้นก็จะทำให้เชื้อฟุ้งลอยมาเปื้อนตัวผู้ทำความสะอาดและเครื่องเรือนเครื่องใช้ในบริเวณนั้นได้ 

 

ดังนั้นวิธีการทำความสะอาดที่ดีที่สุดคือการเช็ดถูอย่างต่อเนื่อง (Steady Sweeping Motion) ไม่ว่าจะเป็นพื้นหรือผิวสัมผัสแนวราบ

 

วิธีทำความสะอาดสถานที่ทั่วไป

ส่วนถ้าเป็นสถานที่ทั่วไปที่ไม่ได้มีผู้ป่วยพักอาศัยอยู่ เช่น พื้นที่ส่วนกลางในสำนักงาน ร้านอาหาร สถานที่ออกกำลังกาย ควรมีการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสเป็นประจำอย่างน้อยวันละครั้ง ด้วยน้ำผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาด หรือแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 70% หากมีผู้คนพลุกพล่าน เช่น ห้างสรรพสินค้า ระบบขนส่งสาธารณะ อาจเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดขึ้น (กรมควบคุมโรคแนะนำอย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง)

 

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ได้รับการร้องขอให้ไปทำความสะอาดสถานที่ต่างๆ จำนวนมาก หากท่านสังเกตเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้เครื่องฉีดพ่นน้ำยาอย่างปรากฏให้เห็นในข่าว ก็ขอให้ท่านสบายใจว่าพวกเขาปฏิบัติถูกต้องแล้ว 

 

หรือถ้าท่านเห็นว่าเจ้าหน้าใช้การฉีดพ่นน้ำยาทำความสะอาด ก็ควรอธิบายให้เขาเข้าใจว่าเชื้อก่อโรคโควิด-19 สามารถติดต่อผ่านละอองน้ำที่ฟุ้งขึ้นมาได้ ซึ่งกรมควบคุมโรคไม่แนะนำ

 

ขณะเดียวกันวิธีการทำความสะอาดนั้นสามารถใช้อุปกรณ์และน้ำยาที่มีอยู่ในครัวเรือนของเราเอง (แต่ถ้ามีผู้ป่วยอาศัยอยู่จะต้องทิ้งลงถุงขยะติดเชื้อนะครับ)

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X