×

สธ. แจงเอกสารรายงานผู้ป่วยโควิด-19 ฉบับภายในไม่ปกปิด แถลงช้าเพราะรอผล 2 แล็บยืนยัน – มีข้อมูลสิทธิผู้ป่วย

05.03.2020
  • LOADING...

วันนี้ (5 มีนาคม) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์โรคโควิด-19 ประจำวัน ตอบคำถามนักข่าวกรณีมีเอกสารรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 อีกแบบหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหารายละเอียดมากกว่าที่เปิดเผยต่อสาธารณะ และมีการตั้งข้อสังเกตว่าการแถลงข่าวผู้ป่วยยืนยันของทางกระทรวงสาธารณสุขนั้นล่าช้ากว่าวันที่ตรวจพบเชื้อหลายวัน

 

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่าประเด็นที่สงสัยคือเรื่องระยะเวลา แต่จะเห็นว่าจำนวนผู้ป่วยยืนยันตรงกัน เพราะเราสื่อสารตั้งแต่ต้นกระบวนการที่จะบอกว่าเป็นผู้ป่วยยืนยัน เนื่องจากมีทั้งข้อมูลทางคลินิก ข้อมูลทางระบาดวิทยา และมีการตรวจแล็บซึ่งมี 2 แล็บ แล้วถ้าเกิดมีผลแล็บที่ขัดแย้งกัน เราจะตรวจซ้ำ

 

ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวเพิ่มเติมว่า เวลาเรามีข้อมูลชุดหนึ่ง เราต้องการข้อมูลยืนยันว่าจะสามารถสรุปเป็นผู้ป่วยยืนยันได้หรือไม่ โดยในช่วงแรกเป็นเชื้อใหม่ การเก็บตัวอย่างต้องเก็บเพื่อส่งตรวจแล็บ 2 แห่ง และมีบางกรณีที่ผลแล็บไม่สอดคล้องกันจึงจำเป็นต้องตรวจซ้ำ ประกอบกับบางครั้งเราต้องเก็บข้อมูลว่าเขาติดเชื้อได้อย่างไร เพราะบางทีมันมีความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว 

 

ดังนั้นตรงนี้เองก็จะต้องใช้เวลา ซึ่งจริงๆ ไม่ช้า อย่างกรณี 4 รายล่าสุด ผลแล็บออกเมื่อวานตรงกัน เราก็เปิดเผยทันที แต่กรณีรายที่ผลแล็บไม่ตรงกัน เราต้องการความมั่นใจจึงต้องตรวจซ้ำ รวมถึงการสอบสวนโรคและเก็บข้อมูลเพิ่ม ตรงนี้ล่ะที่ทำให้บางคนมีระยะเวลาที่ทิ้งช่วงออกไป แต่จะสังเกตได้ว่าสุดท้ายทั้งจำนวนผู้ป่วย เพศ และอายุนั้นตรงกันทั้งหมด 

 

“จริงๆ ขึ้นอยู่กับความยากหรือง่าย ยกตัวอย่าง 4 รายล่าสุด มีทั้งวันที่เข้ามาถึงโรงพยาบาล วันที่ตรวจโรค และวันที่ยืนยัน ดังนั้นเราจะมีวันที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยให้เราเข้าใจ จะเห็นว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเข้าสู่การรักษาเร็วมาก แต่สมัยก่อนเมื่อ 2 เดือนที่แล้วที่ตรวจแล็บมีน้อย ตอนนี้ที่ตรวจแล็บมีเยอะขึ้น ตรงนี้ก็จะช่วยให้หาผลตรวจได้ง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม ซึ่งตอนนั้นจำนวนการตรวจเข้ามาเยอะ การตรวจจึงต้องมีบางส่วนที่เราต้องรอผลแล็บอีกแห่งหนึ่งยืนยัน” นพ.โสภณกล่าว

 

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวยืนยันว่าในกรณีนี้มีเจตนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ให้แพทย์รับทราบและรู้ทั่วถึงกัน เจตนาไม่ได้ต้องการให้ประชาชนได้เกิดความตื่นตระหนก แต่เราไว้ใช้สื่อสารกันเพื่อให้คุณหมอที่ดูแลกันได้รับทราบว่าข้อมูลทุกอย่างเราเข้าถึงกันได้

 

เราไม่ได้ปิดอะไรเลย ถามว่าทำไมมันต้องใช้หัวกระดาษคนละสี เพราะมันมีองค์ประกอบเฉพาะ ซึ่งเราต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้ป่วย เพราะเจตนาเพื่อใช้สื่อสารทางการแพทย์ แต่ทั้งนี้จะเป็นบทเรียนของพวกเราในการสื่อสารกัน

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X