คณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งและสถาบันวิจัยเซี่ยงไฮ้เผยแพร่ผลศึกษาวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร National Science Review ระบุถึงการค้นพบการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ที่วิวัฒนาการจนกลายเป็น 2 ชนิด ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งในด้านอัตราการแพร่เชื้อและความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสในสภาพภูมิศาสตร์ต่างๆ โดยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ชนิดแรก เรียกว่าชนิด S และอีกชนิดที่กลายพันธุ์มาจาก S คือ ชนิด L ซึ่งมีอัตราแพร่เชื้อที่มากกว่า
จากการศึกษาขั้นต้นยังพบว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ชนิด L แพร่ระบาดในเมืองอู่ฮั่น ศูนย์กลางการระบาดในจีนมาตั้งแต่ช่วงก่อนวันที่ 7 มกราคม ขณะที่คณะนักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์จีโนม (Genome) หรือข้อมูลพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทั้งหมด 103 จีโนม และพบการกลายพันธุ์ในสายพันธุกรรมถึง 149 จุด
นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า พฤติกรรมของมนุษย์ที่เกิดขึ้นภายหลังพบการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อปริมาณของไวรัสทั้ง 2 ชนิด ซึ่งมาตรการป้องกันและควบคุมที่เข้มงวดของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นจีน เช่น การกักกันโรค และการปิดเมือง ทำให้ไวรัสชนิด L แพร่กระจายเชื้อได้น้อยลง
อย่างไรก็ตามพบว่า ไวรัสชนิด L นั้นเป็นต้นตอของการติดเชื้อในเมืองอู่ฮั่นมากถึง 70% ขณะที่ทีมนักวิทยาศาสตร์มองว่า การศึกษาวิจัยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หลังจากนี้ จำเป็นต้องเพิ่มการศึกษาและทำความเข้าใจต่อการแพร่กระจายและการกลายพันธุ์ของไวรัส
ภาพ: STR / AFP
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- https://www.scmp.com/news/china/society/article/3064908/coronavirus-south-korean-cases-rise-steadily-it-addresses?fbclid=IwAR3z8ViCjyzk4J5lPY7fp2siLPFtU1HKuYNDk66SZPsqbru8ZOUDM7Sqzcc
- https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-china-toll/researchers-identify-two-coronavirus-types-as-china-cases-dwindle-idUSKBN20R07Z