ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรม Dow Jones ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลง 785.91 จุด หรือเกือบ 3% ปิดที่ 25,917.41 จุด เมื่อวานนี้ (3 มีนาคม) ท่ามกลางภาวะการซื้อขายที่ผันผวน ขณะที่การตัดสินใจลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.5% ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ไม่อาจยับยั้งความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากผลกระทบของโควิด-19 ได้
ช่วงแรกดัชนี Dow Jones พุ่งขึ้นกว่า 300 จุด หลัง Fed ประกาศลดดอกเบี้ยเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจที่อาจชะลอตัว รวมถึงปกป้องตลาดการเงินจากภาวะผันผวนนับตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสโคโรนา อย่างไรก็ตาม ในระหว่างวันดัชนีร่วงลงเกือบ 1,000 จุด ก่อนจะลดช่วงลบและปิดตลาดในท้ายที่สุด
เช่นเดียวกับดัชนี S&P 500 ก็ร่วงลง 2.8% ปิดที่ 3,003.37 จุด ขณะที่ Nasdaq Composite ร่วง 3% ปิดที่ 8,684.09 จุด
นักวิเคราะห์ในต่างประเทศมองว่า เหตุผลที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดิ่งลงอย่างหนัก แม้ว่า Fed จะลดดอกเบี้ยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนแล้วนั้น เป็นเพราะที่ผ่านมามีน้อยครั้งที่ Fed จะลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน ดังนั้นแทนที่จะบรรเทาความกังวลในตลาด แต่กลับสร้างความวิตกแก่นักลงทุนเพิ่มขึ้นว่าอาจเกิดกรณีเลวร้ายที่สุดกับเศรษฐกิจ
การตัดสินใจลดดอกเบี้ยของ Fed สู่ระดับ 1.0-1.25% มีขึ้น 2 สัปดาห์ก่อนที่ Fed จะประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินตามกำหนดการ ซึ่งถือเป็นการลดดอกเบี้ยรวดเดียวมากที่สุดของ Fed นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในปี 2008 ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมากดดันก่อนหน้านี้ให้ธนาคารกลางลดดอกเบี้ยเร็วขึ้นเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้
Fed ให้เหตุผลของการลดดอกเบี้ยว่า ไวรัสโคโรนาเป็นความเสี่ยงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางการเงินในการรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในประเทศอย่างเต็มศักยภาพ ตลอดจนบรรลุเป้าหมายระดับราคา (เงินเฟ้อ) ที่มีเสถียรภาพ
อย่างไรก็ตาม ลารา ราเม หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่ง FS Investments ให้สัมภาษณ์กับ MarketWatch ว่า การลดดอกเบี้ยฉุกเฉินทำให้เกิดคำถามคาใจถึงสิ่งที่สร้างความกังวลให้กับบรรดาผู้กำหนดนโยบายจนต้องรีบลดดอกเบี้ยในแบบที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นนัก ดังนั้นจึงเป็นสัญญาณว่าผู้กำหนดนโยบายกำลังรับมือกับความไม่แน่นอนครั้งใหญ่ รวมถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ทิศทางขาลง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: