×

ใครที่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยบ้าง? หน้ากากผ้าช่วยได้จริงไหม? คลายข้อสงสัยหน้ากากอนามัยป้องกันโควิด-19

03.03.2020
  • LOADING...
หน้ากากอนามัย

HIGHLIGHTS

  • ถึงตอนนี้ความตื่นตระหนกต่อโรคโควิด-19 ที่ระบาดจากประเทศจีนออกไปทั่วโลกทำให้ทุกคนต้องหาหน้ากากอนามัยมาสวมป้องกันเชื้อโรคจนขาดตลาดมาระยะหนึ่งแล้ว คำถามในสังคมจึงได้พัฒนาขึ้นจาก ‘วิธีการใส่‘ มาสู่ ‘ความจำเป็น’ ว่าใครที่ต้องสวมหน้ากากอนามัยบ้าง
  • การแนะนำให้ประชาชนใช้ ‘หน้ากากผ้า’ นี้ไม่สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และจากงานวิจัยเปรียบเทียบการใช้หน้ากากอนามัยในบุคลากรทางการแพทย์ที่ประเทศเวียดนามก็พบว่ากลุ่มที่ใช้หน้ากากผ้ามีการติดเชื้อมากกว่าการใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และยังมากกว่าการป้องกันตัวตามปกติเสียอีก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะหน้ากากผ้าไม่กันความชื้น และทำให้เชื้อค้างอยู่ได้นานกว่า
  • แพทย์ทั้งสองสมาคมมีความเห็นตรงกันว่าหน่วยงานของรัฐจะต้องจัดหาหน้ากากอนามัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์อย่างเพียงพอก่อน และจัดหาให้ประชาชนทั่วไปใช้งานเท่าที่จำเป็น ซึ่งปัญหาความขาดแคลนในขณะนี้ทำให้ผู้ที่ ‘จำเป็นต้องใช้’ ไม่มีหน้ากากอนามัยใช้ และการควบคุมโรคจะยากยิ่งขึ้น
  • ผู้ที่ควรสวมหน้ากากอนามัย ได้แก่ 1. ผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ หรือผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่ระบาดในระหว่างที่ต้องสังเกตอาการ 14 วัน 2. บุคลากรทางการแพทย์ หรือผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วย และ 3. ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง เช่น พนักงานขับรถสาธารณะ หรือผู้ที่ต้องเข้าไปในพื้นที่แออัด  

“ต้องเอาด้านไหนออกเหรอครับ” 

 

จำได้ว่าตอนผมเป็นนิสิตแพทย์ เพิ่งขึ้นเรียนชั้นคลินิก (เรียนปฏิบัติในโรงพยาบาล) ในหอผู้ป่วยอายุรกรรมเป็นครั้งแรก ผมหยิบหน้ากากอนามัยจากกล่องขึ้นมาแล้วถามรุ่นพี่ด้วยความไม่รู้ว่าวิธีการสวมหน้ากากอนามัยที่ถูกต้องเขาใส่กันอย่างไร ไม่ต่างจากคนทั่วไปที่เพิ่งหันมาให้ความสนใจกับ ‘หน้ากากอนามัย’ มากขึ้นในช่วง 1-2 ปีมานี้ที่มีปัญหาฝุ่น PM2.5

 

หน้ากากอนามัย

 

ถึงตอนนี้ความตื่นตระหนกต่อโรคโควิด-19 ที่ระบาดจากประเทศจีนออกไปทั่วโลกทำให้ทุกคนต้องหาหน้ากากอนามัยมาสวมป้องกันเชื้อโรคจนขาดตลาดมาระยะหนึ่งแล้ว (ถึงแม้กระทรวงพาณิชย์จะยืนยันว่าไม่ขาดตลาด แต่ในฐานะประชาชน ผมก็ไม่สามารถหาซื้อหน้ากากอนามัยได้เหมือนช่วงก่อนหน้านี้) คำถามในสังคมจึงได้พัฒนาขึ้นจาก ‘วิธีการใส่‘ (ทุกคนใส่ถูกวิธีแล้ว) มาสู่ ‘ความจำเป็น’ ว่าใครที่ต้องสวมหน้ากากอนามัยบ้าง

 

คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

สำหรับการระบาดของโรคโควิด-19 องค์การอนามัยโลกได้ออกคําแนะนําการสวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์สําหรับชุมชน (ในเคหะสถานและสถานบริการสุขภาพ) ในบริบทของช่วงการเกิดการระบาดของโรคโควิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 และได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ซึ่งโดยสรุปสำหรับประชาชนทั่วไปมีประเด็นที่สำคัญ 5 ข้อ ดังนี้

 

1. หน้ากากอนามัยอย่างเดียวไม่พอ หน้ากากอนามัยสามารถป้องกันการระบาดของเชื้อระบบทางเดินหายใจได้ รวมถึงเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่การสวมหน้ากากอนามัยเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ จะต้องมีสุขอนามัยอื่นที่ดีด้วย โดยเฉพาะการล้างมือ (เพราะเชื้อติดต่อผ่านการหายใจและการสัมผัส นึกภาพว่าเราสวมหน้ากากอนามัย แต่เราก็ยังจับใบหน้าบ่อยๆ ด้วยมือที่ไม่สะอาด ก็จะทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายอยู่ดี)

 

2. ผู้ที่ไม่มีอาการป่วย ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย เพราะยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าสามารถป้องกันโรคในผู้ที่ยังไม่มีอาการได้ แต่ให้หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตรจากผู้ที่มีอาการไอหรือจามแทน และที่สำคัญคือการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ (WHO ไม่ได้ระบุความเข้มข้น แต่ความเข้มข้น 62-71% สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาได้) หรือน้ำสะอาดร่วมกับสบู่

 

3. มีไข้ ไอ จาม ต้องใส่ ผู้ที่มีอาการป่วยต้องสวมหน้ากากอนามัย และถ้ามีอาการไข้ ไอ และหายใจลำบาก ควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด (เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ขับรถไปส่งและผู้ป่วยคนอื่นที่โรงพยาบาล) ส่วนญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัยถ้าต้องอยู่ร่วมห้องกับผู้ป่วย ทิ้งของใช้ต่างๆ หลังจากใช้งาน และล้างมือทันทีหลังจากสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ

 

4. ไม่แนะนำให้ใช้หน้ากากผ้า หน้ากากผ้า เช่น ผ้าฝ้าย หรือผ้าตาข่าย ไม่แนะนำให้ใช้

 

5. สวมให้ถูก ปิดปากและจมูกให้กระชับ การสวมหน้ากากอนามัยที่ถูกต้องคือการสวมหน้ากากให้คลุมปิดปากและจมูก รัดหน้ากากให้กระชับ (โดยเฉพาะลวดบริเวณสันจมูก) เพื่อลดช่องว่างระหว่างใบหน้ากับหน้ากาก

 

เมื่อสวมแล้วให้หลีกเลี่ยงการจับตัวหน้ากาก เวลาถอดห้ามจับบริเวณด้านหน้าของหน้ากาก แต่ให้จับสายคล้องหูแทน ล้างมือให้สะอาดหลังจากถอดแล้ว ไม่ควรใช้หน้ากากซ้ำ และเปลี่ยนทันทีที่รู้สึกว่าหน้ากากเริ่มชื้น

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการป่วย องค์การอนามัยโลกระบุว่าอาจจะมีการสวมใส่ในบางประเทศ ขึ้นอยู่กับบริบททางวัฒนธรรมในประเทศนั้น ซึ่งสังเกตว่าที่ผ่านมาคนจีนมีความตื่นตัวในการสวมหน้ากากอนามัยมาก ทั้งที่อยู่ในประเทศจีนเอง และนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวประเทศไทย (ครอบครัวนักท่องเที่ยวจีนที่ผมเคยสอบสวนโรคก็สวมหน้ากากอนามัยเวลาออกมาเที่ยวข้างนอกทุกครั้ง เพราะกลัวจะติดเชื้อจากนักท่องเที่ยวคนอื่น)

 

คำแนะนำในประเทศไทย

กรมควบคุมโรคเคยออกคำแนะนำการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 สำหรับการสวมหน้ากากอนามัยเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 (บังเอิญเป็นวันเดียวกันกับขององค์การอนามัยโลก) แต่พูดถึงเฉพาะ ‘วิธีการ’ สวมหน้ากากอนามัยเท่านั้น ไม่ได้กำหนดว่าใครจะควรสวมหรือไม่ควรสวมหน้ากากบ้าง 

 

หน้ากากอนามัย

 

ทว่าต่อมาวันที่ 30 มกราคม 2563 ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคประจำวัน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ได้แนะนำประชาชนว่า

 

“…กระทรวงสาธารณสุขจึงขอแนะนำให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจสามารถใช้หน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้าเป็นทางเลือกนำมาใช้ทดแทนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคได้เช่นเดียวกัน และสามารถซักทำความสะอาดเพื่อนำมาใช้ซ้ำได้ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย สำหรับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เหมาะกับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ…”

 

ซึ่งการแนะนำให้ประชาชนใช้หน้ากากผ้านี้ไม่สอดคล้องกับคำแนะนำของ WHO และมีงานวิจัยเปรียบเทียบการใช้หน้ากากอนามัยในบุคลากรทางการแพทย์ที่ประเทศเวียดนามพบว่ากลุ่มที่ใช้หน้ากากผ้ามีการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจมากกว่าการใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์และยังมากกว่าการป้องกันตัวตามปกติเสียอีกทั้งนี้อาจเป็นเพราะหน้ากากผ้าไม่กันน้ำ มีอัตราการกรองต่ำ และในโรงพยาบาลมีโอกาสได้รับเชื้อสูง

 

ต่อมาวันที่ 3 มี.. มีสมาคมแพทย์เฉพาะทาง 2 สมาคมที่ออกมาให้คำแนะนำประชาชน เนื่องจากปัญหาความขาดแคลนหน้ากากอนามัย ทั้งในระดับโรงพยาบาล และระดับชุมชน

 

โดยหน่วยงานแรกเป็นสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (แพทย์โรคปอด) แนะนำให้ 7 กลุ่มต่อไปนี้สวมใส่หน้ากากอนามัย 

 

  1. ผู้มีอาการไข้หวัด
  2. ผู้มีประวัติเดินทางไปสถานที่เสี่ยงหรือใกล้ชิดผู้ที่เสี่ยง
  3. ผู้ดูแล
  4. ผู้ที่อยู่ในพื้นที่แออัด เช่น รถสาธารณะ ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์
  5. ผู้ไปโรงพยาบาล
  6. พนักงานขับรถสาธารณะหรือให้บริการอื่นที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก   
  7. บุคลากรทางการแพทย์ 

 

ส่วนกรณีอื่นเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตัวเอง หากมีหน้ากากอนามัยเพียงพอ

 

ในขณะที่หน่วยงานที่สองเป็นสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย แนะนำว่าสำหรับคนทั่วไปที่สบายดี การใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาในที่สาธารณะไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และให้ 4 กลุ่มต่อไปนี้สวมใส่หน้ากากอนามัย 

 

  1. ผู้ป่วยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
  2. ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจใกล้ชิด
  3. บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วย 
  4. ผู้ที่เข้าไปในสถานที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่ดี 

 

นอกจากนี้สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยยังแนะนำว่าหน้ากากผ้าไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ และแพทย์ทั้งสองสมาคมยังมีความเห็นตรงกันว่าหน่วยงานของรัฐจะต้องจัดหาหน้ากากอนามัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์อย่างเพียงพอก่อน และจัดหาให้ประชาชนทั่วไปใช้งานเท่าที่จำเป็น ซึ่งปัญหาความขาดแคลนในขณะนี้ทำให้ผู้ที่ ‘จำเป็นต้องใช้’ ไม่มีหน้ากากอนามัยใช้ และการควบคุมโรคจะยากยิ่งขึ้น

 

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (4 มี..) นพ. บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัยได้กล่าวในการแถลงข่าวสถานการณ์การโรคประจำวันว่าหน้ากากผ้าเป็นทางเลือกของคนไม่ป่วยที่จะไปในพื้นที่แออัดโดยหน้ากากผ้ามีประสิทธิภาพ 54-59% ซึ่งเพียงพอสำหรับคนทั่วไปที่จะเข้าไปในที่ชุมชนจึงแนะนำให้คนทั่วไปมีหน้ากากผ้าไว้ใช้คนละ 3 ชิ้น คือ สวม สำรอง ซัก เพื่อแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ขาดแคลน

 

ส่วน นพ. สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า ช่องว่างระหว่างเส้นใยของหน้ากากผ้าซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน สามารถกรองละอองฝอยจากการไอจามได้ แต่เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของหน้ากากผ้า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทดสอบว่าผ้าชนิดใดที่มีคุณสมบัติเหมาะสมใน 3 ด้าน ได้แก่ 1. การกรองอนุภาคขนาดใหญ่ (3 ไมครอน) 2. การกรองอนุภาคขนาดเล็ก เช่น เชื้อโรค (0.1 ไมครอน) และ 3. การกันน้ำ

 

‘ใครที่ต้องสวมหน้ากากอนามัยบ้าง’ ผมพอจะสรุปคำแนะนำภายใต้ความจำกัดของหน้ากากอนามัยในขณะนี้ได้ 3 ข้อคือ    

 

  1. ผู้ที่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยควรมีหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ใช้อย่างเพียงพอ
  2. กลุ่มที่ควรสวมหน้ากากอนามัย ได้แก่ ผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ หรือผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่ระบาดในระหว่างที่ต้องสังเกตอาการ 14 วัน, บุคลากรทางการแพทย์ หรือผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยใกล้ชิด และผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง เช่น พนักงานขับรถสาธารณะ หรือผู้ที่ต้องเข้าไปในพื้นที่แออัด 
  3. ผู้ใช้หน้ากากอนามัยควรสวมและถอดหน้ากากอย่างถูกวิธีร่วมกับการล้างมือบ่อยๆ ด้วย

          

ส่วนผู้ที่ไม่สามารถหาหน้ากากอนามัยใช้ได้ก็ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนแออัดหรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก หากจำเป็นควรเว้นระยะห่างจากผู้อื่นประมาณ 1-2 เมตร และล้างมือให้บ่อยครั้งเช่นกันครับ 

 

สำหรับหน้ากากผ้า เนื่องจากในขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยประสิทธิภาพการป้องกันโรคในคนทั่วไป ถ้าหากจำเป็นต้องใส่ (สวมแทนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ในกรณีที่ต้องเข้าไปในพื้นที่แออัด) ควรเปลี่ยนหน้ากากเมื่อรู้สึกชื้น และทำความสะอาดหน้ากากทุกวันครับ

 

 

เกาะติดสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ที่ thestandard.co/coronavirus-coverage

และอัปเดตทุกความเคลื่อนไหวของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ที่ www.facebook.com/thestandardth

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X