หากไม่มีอะไรผิดพลาด ‘การบินไทย’ ซึ่งอยู่ในภาวะขาดทุนมาหลายปี เช่นเดียวกับผลประกอบการในปี 2562 ขาดทุน 12,017 ล้านบาท จากรายได้รวม 184,046 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 15,454 ล้านบาท หรือ 7.7% หมายมั่นปั้นมือว่าปี 2563 จะกลับมายืนอยู่ในจุดที่มี ‘กำไร’ ให้ได้
อ่านผลประกอบการเต็มๆ: การบินไทยอ่วม รายได้ปี 2562 ลด 7.7% ขาดทุน 1.2 หมื่นล้านบาท คาดปีนี้ลุ้นเหนื่อย เร่งปรับกลยุทธ์สู้โควิด-19 (https://thestandard.co/thai-airways-results-62/)
ทว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังอยู่ในช่วงวิกฤต พบผู้ติดเชื้อมากขึ้นทุกวันและกำลังทุกลามไปทั่วโลก ส่งผลกระทบอย่างมากสำหรับการบินไทย และทำให้ความหวังที่จะมี ‘กำไร’ เลือนรางลง สุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถึงกับออกปากว่า
“ถ้าไม่มีโควิด-19 การบินไทยจะดีขึ้นแน่ๆ แต่วันนี้อย่าเพิ่งพูดถึงกำไร ให้พูดถึงการอยู่ได้และอยู่รอดมากกว่า ทุกสายการบินกระทบและอยู่ในโหมดต่อสู้กับวิกฤตกันหมด แต่การบินไทยอยู่ในสถานะฟื้นฟู เราจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ”
สถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ทำให้ผู้โดยสายเอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญหดหายไปกว่า 30% โดยเฉพาะคนจีนที่หายไปหลักล้านคน ในขณะที่ยุโรปลดลงไป 5% หนักสุดเป็นอิตาลี โดยการบินไทยมีการปรับลดเที่ยวบินในภาพรวมลง 10-12% เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์
สำหรับในเดือนมีนาคมคาดว่าจะปรับลงเที่ยวบินลง 20% โดยประเมินจากจำนวนผู้ที่จองตั๋วเข้ามา รวมไปการคืนตั๋วที่การบินไทยเปิดให้คืนยาวไปถึงเดือนกันยายน แต่การบินไทยย้ำว่าจะไม่หยุดบินอย่างเด็ดขาด เพราะจะส่งผลกระทบหลายด้าน ทั้งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า แต่จะใช้วิธีปรับลดเที่ยวบินไปเรื่อยๆ หมายความว่า หากเส้นทางไหนที่หยุดบิน เส้นทางนั้นคือไม่มีผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางแล้ว
“วันนี้คนเดินทางยังมี แต่ไม่ใช้เดินทางเพื่อท่องเที่ยว แต่เดินทางเพราะมีธุระมากกว่า”
แม่ทัพการบินไทยย้ำกว่า การจะอยู่รอดในภาวะวิกฤตเช่นนี้ได้สิ่งสำคัญที่สุดคือการ ‘ยืดเงินสดออกไปให้ได้ไกลมากที่สุด’ มาตรการรัดเข็มขัดจึงเกิดขึ้น ดังที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ ทั้งปรับลดเงินเดือนผู้บริหารระดับสูงลง 15-25% และปรับลดค่าพาหนะลง 20-30% คณะกรรมการบริษัทลดค่าตอบแทนลง 50% ลดและชะลอการลงทุนที่ไม่จำเป็น, ปรับลดงบประมาณสำหรับการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ บริหารการจัดกำลังพลเพื่อไม่ให้เกิดการทำงานล่วงเวลา และปรับลดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานภายนอก เป็นต้น
การบินไทยวางมาตรการรับมือ 5 ขั้น เรียงจาก 5 ซึ่งเป็นสถานการณ์รุนแรงน้อยที่สุด ไปถึง 1 สถานการณ์รุนแรงมากที่สุด ขณะอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวขั้นที่ 4 ไปขั้นที่ 3 คือการลดค้าใช้จ่ายต่างๆ โดยมาตรการที่มีอยู่เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว แต่ไม่ขอเปิดเผยว่ามีอะไรบ้าง การจะขยับไปสู่ขั้นที่รุนแรงขึ้นอยู่กับจังหวะและเวลา
ในส่วนของการพูดคุยกับสหภาพพนักงานนั้น สุเมธกล่าวว่าได้พูดคุยเป็นเรียบร้อยแล้วเพื่อให้บริษัทอยู่รอด ได้ขอให้พนักงานอย่าต่อต้าน รังแต่จะสร้างความเสียหายที่มากขึ้น ในมุมของการออกมาตรการต่างๆ เชื่อว่าจะได้รับการสนุนสนันและปฏิบัติตามจากพนักงาน โดยคาดว่าสถานการณ์จะปรับมาดีขึ้นในไตรมาส 3 และฟื้นตัวในไตรมาส 4
สำหรับแผนธุรกิจในปี 2563 จะเดินหน้าต่อไป เช่น การจัดหาฝูงบินใหม่ที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม และจะนำเสนอแผนแก่รัฐบาลต่อไป