×

ถอดรหัสความไม่สำเร็จของบงจุนโฮ

27.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • เวลาความสำเร็จเกิดขึ้น มันง่ายมากที่จะถอดรหัส เพราะว่ามันสำเร็จไปแล้ว มันมีให้เห็นตรงหน้าแล้ว มันได้รับการยอมรับว่าถูกต้อง แต่ในฐานะคนทำงาน เรายืนอยู่อีกฟากฝั่งของคนดู ผมคิดว่าพวกเราคือคนที่ต้องเผชิญกับการถอดรหัสความไม่สำเร็จ เพราะก่อนจะเจอความสำเร็จ เราต้องเจอกับความไม่สำเร็จหลายครั้งตลอดหลายสิบปี 
  • บงจุนโฮเริ่มต้นทำหนังเรื่องแรกในปี 2000 ในชื่อ Barking Dogs Never Bite นั่นแสดงว่ากว่าเขาจะได้ออสการ์ในปีนี้ เขาต้องใช้เวลาในการเดินทางบนเส้นทางทำหนังถึง 20 ปี 
  • ดังนั้นยามที่ใครสักคนไปถึงยอดเขาแห่งความสำเร็จ ผมชอบเรียนรู้ช่วงเวลาระหว่างทางว่าพวกเขาผ่านช่วงเวลาลองผิดไปได้อย่างไร รู้สึกอย่างไรเมื่อปีนเขาขึ้นไปแล้วพบว่าผิดยอด เรียนรู้อะไรบ้างจากความผิดพลาดในแต่ละครั้ง

 

หลังจาก Parasite ได้ออสการ์แล้ว ผมได้เห็นบทวิเคราะห์ความสำเร็จของ บงจุนโฮ และวงการหนังเกาหลีใต้ออกมาเป็นจำนวนมากบนหน้าฟีดเฟซบุ๊กและโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่องติดต่อกันเกิน 7 วัน ในโพสต์เหล่านั้นมีตั้งแต่ฉลองชัยแห่งความเป็นชาวเอเชียด้วยกัน วิเคราะห์อุตสาหกรรมหนังเกาหลีที่วางแผนพิชิตมาอย่างยาวนาน (และเปรียบเปรยกับอุตสาหกรรมหนังของบ้านเรา) การชำแหละเทคนิคและสัญญะที่ซ่อนไว้ในฉากต่างๆ มากันเพียบ ยังไม่นับโควตคำคมจากบทสัมภาษณ์ของบงจุนโฮมากมาย 

 

จริงๆ แล้วคนดูหนังรุ่นใหม่ในไทยหลายคนเพิ่งรู้จักเขาเป็นครั้งแรกโดยที่ไม่รู้ว่าเขาเคยทำอะไรมาก่อน หรืออาจจะคุ้นๆ จากหนังบางเรื่องก่อนหน้านี้ปีสองปี จึงเป็นอีกครั้งที่หนังเกาหลีสามารถปักหมุดในใจของคนดูอีกเจเนอเรชันหนึ่งได้อย่างสวยงาม หลังจากที่ทำสำเร็จไปแล้วกับคนรุ่นก่อนเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ในช่วงปี 2000 ต้นๆ กับหนังอย่าง Oldboy, My Sassy Girl หรือ Memories of Murder ผลงานของบงจุนโฮเอง แต่ดูเหมือนความสำเร็จของ Parasite จะยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งที่เคยทำมา จนกลายเป็นตัวอย่างที่หนังเอเชียในประเทศอื่นๆ ควรดำเนินรอยตาม

 

Parasite (2019) 

 

คนดูหนังมักเป็นผู้ถอดรหัสความสำเร็จ เวลาความสำเร็จเกิดขึ้น มันง่ายมากที่จะถอดรหัส เพราะว่ามันสำเร็จไปแล้ว มันมีให้เห็นตรงหน้าแล้ว มันได้รับการยอมรับว่าถูกต้อง มันจึงง่ายที่จะมองเห็นปัจจัยแห่งความสำเร็จนั้น และความสำเร็จนั้นมันอาจจะดูง่ายสำหรับบางคนด้วยซ้ำ จึงเป็นที่มาของประโยคประเภท “อ๋อ แค่นี้เอง ไม่เห็นยาก” หรือ “อ๋อ แค่นี้เอง เราก็น่าจะทำอย่างเขาได้”

 

แต่ในฐานะคนทำงาน เรายืนอยู่อีกฟากฝั่งของคนดู ผมคิดว่าพวกเราคือคนที่ต้องเผชิญกับการถอดรหัสความไม่สำเร็จ เพราะก่อนจะเจอความสำเร็จ เราต้องเจอกับความไม่สำเร็จหลายครั้งตลอดหลายสิบปี ตอนงานมันยังไม่เสร็จนั้น พวกเรามองไปข้างหน้าก็เห็นแต่ความมืดหรือความไม่แน่นอน ดังนั้นยามที่ใครสักคนไปถึงยอดเขาแห่งความสำเร็จ ผมชอบเรียนรู้ช่วงเวลาระหว่างทางว่าพวกเขาผ่านช่วงเวลาลองผิดไปได้อย่างไร รู้สึกอย่างไรเมื่อปีนเขาขึ้นไปแล้วพบว่าผิดยอด เรียนรู้อะไรบ้างจากความผิดพลาดในแต่ละครั้ง

 

Barking Dogs Never Bite (2000) 

 

Memories of Murder (2003) 

 

บงจุนโฮทำหนังที่ดีมาโดยตลอด แต่เส้นทางอาชีพนั้น การทำหนังดีอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ การรับรู้และเสียงตอบรับจากคนดูก็เป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้อาชีพคนทำหนังก้าวต่อไปได้ บงจุนโฮเริ่มต้นทำหนังเรื่องแรกในปี 2000 ในชื่อ Barking Dogs Never Bite นั่นแสดงว่ากว่าเขาจะได้ออสการ์ในปีนี้ เขาต้องใช้เวลาในการเดินทางบนเส้นทางทำหนังถึง 20 ปี 

 

เขาเริ่มมีชื่อเสียงจากหนังเรื่องที่ 2 คือ Memories of Murder และมาดังในระดับโลกมากขึ้นกับ The Host ที่โด่งดังมากในเทศกาลหนังเมืองคานส์ ปี 2006 ทำให้เขามีชื่อเสียงในด้านการทำหนังสนุก แต่แฝงประเด็นทางสังคม เพราะแม้ว่าหน้าหนังของ The Host จะเป็นหนังสัตว์ประหลาด แต่เนื้อในคือการวิพากษ์วิจารณ์สังคมเกาหลีอย่างสนุกสนาน ก่อนที่จะดรอปลงมาเล็กน้อยกับ Mother 

 

ผ่านไปอีก 4 ปี เขาเริ่มก้าวขึ้นบันไดอีกขั้นกับผลงานโกฮอลลีวูดเรื่องแรกอย่าง Snowpiercer ที่เอาเข้าจริงแล้วผลตอบรับโดยรวมน่าจะอยู่แค่ในระดับดีพอใช้ได้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้บงจุนโฮกลายเป็นผู้กำกับฮอลลีวูดแบบเต็มตัว (ซึ่งไม่ต่างจากผู้กำกับเกาหลีคนอื่นๆ ที่ไปทำหนังฮอลลีวูดในช่วงเวลานั้น เช่น พัคชานวุค ก็ได้ไปทำ Stoker แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก) จนสุดท้ายผลงานที่เขาทำกับ Netflix อย่าง Okja ก็อยู่ในระดับที่โอเค (เพราะความขัดแย้งเรื่องหนัง Netflix กับเทศกาลหนังเมืองคานส์ใหญ่โตจนบดบังตัวหนังไปเกือบหมด) ถ้าพูดในเชิงการรับรู้ของคนทั่วไปอาจจะน้อยกว่าที่ Train to Busan ทำได้ในช่วงนั้นด้วยซ้ำ

 

The Host (2006) 

 

Snowpiercer (2013) 

 

ก่อนที่ Parasite จะเดินทางมาถึง ผมคิดว่าชื่อของบงจุนโฮก็ยังไม่เป็นที่รู้จักสำหรับคนไทยเท่าไร หรือถ้าเป็นที่รู้จักก็อาจจะไม่ได้ตื่นเต้นกับงานของเขามากนัก จริงๆ แล้วเท่าที่เคยได้ยินมา ช่วง Parasite เปิดตัวรอบแรกที่คานส์ ผู้คนก็ให้ความสนใจในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ทันทีที่การฉายรอบแรกผ่านพ้นไป กระแสตอบรับในเทศกาลก็ค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นว่า Parasite ได้รับรางวัลปาล์มทองคำประจำปี 2019 ไปอย่างสวยงาม

 

สิ่งที่เล่ามาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าเส้นทางของบงจุนโฮนั้นไม่ได้เรียกว่านอนมาเพื่อออสการ์แต่อย่างใด ตัวเขาผ่านการลองผิดลองถูกมาตลอด ไอ้ที่ลองถูกก็ดีไป แต่ไอ้ที่ลองแล้วไม่รู้ถูกหรือผิด ลองแล้วไม่ได้เวิร์กมากก็มีอยู่หลายครั้ง หนังเรื่องแรกอย่าง Barking Dogs Never Bite นั้นก็ทำรายได้ย่ำแย่มาก หรือการพยายามโกฮอลลีวูดจาก Snowpiercer ก็ไม่ได้เกิดผลสัมฤทธิ์ดังเปรี้ยงอะไร แถมระหว่างทางที่ทำหนังเรื่องนั้นก็เกิดความขัดแย้งมากมายกับ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน โปรดิวเซอร์และดิสทริบิวเตอร์ฝั่งฝรั่งที่พยายามจะตัดหนังในสั้นลง 25 นาที แถมยังต้องหาทางแต่งเรื่องไปโกหกเพื่อที่จะทำให้หนังไม่ถูกฝรั่งตัด สุดท้ายหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้รับการจัดจำหน่ายและฉายในวงกว้างอย่างที่ควรจะเป็น

 

แม้จะไม่ได้สำเร็จมากมาย แต่ก็เหมือนเป็นบันไดขั้นหนึ่งที่พาเขาไปเจอโอกาสใหม่ๆ สำหรับโปรเจกต์ถัดๆ มา ซึ่งอาจจะเป็นสนามทดลองหรือรากฐานบางอย่างก่อนที่เขาจะสร้าง Parasite ขึ้นมา 

 

ตลกดีที่กลายเป็นว่าหนังที่สำเร็จที่สุดของเขาคือหนังที่พูดภาษาเกาหลี ไม่ใช่หนังที่พูดภาษาอังกฤษหรือหนังฮอลลีวูด แต่เป็นหนังที่เขียนมาตั้งแต่ปี 2013 และความจริงตอนแรกตั้งใจว่าจะไปทำเป็นละครเวที ซึ่งเราก็ไม่อาจรู้ได้หรอกว่าเขาเคยคิดว่าหนังเรื่องนี้จะไปไกลถึงออสการ์แบบนี้ไหม แต่ด้วยอาชีพและความรักในการทำหนัง สุดท้าย Parasite ก็ออกมาเป็นหนังอย่างที่เราได้เห็นกันในโรง

 

Parasite (2019) 

 

ในการทำงานหนัง จริงๆ แล้วไม่มีใครบอกได้เลยว่าหนังเรื่องต่อไปของเราจะเป็นอย่างไร หนังของบงจุนโฮถัดจาก Parasite อาจจะดีกว่านี้หรืออาจจะแย่ลงกว่านี้ก็ล้วนเป็นไปได้ทั้งสองอย่าง ความสำเร็จและชื่อเสียงจากงานออสการ์จะมีวันหมดอายุของมัน และคนทำหนังทุกคนจะต้องกลับไปเริ่มใหม่เพื่อทำหนังเรื่องใหม่อีกครั้ง นิยามความสำเร็จจะถูกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ รหัสความสำเร็จที่เพียรถอดกันมาในปีนี้ก็จะใช้งานได้เพียงไม่กี่ปี ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และสุดท้ายรหัสความสำเร็จที่เวิร์กกับคนคนหนึ่งก็อาจจะไม่เวิร์กกับคนคนหนึ่งด้วย ดังนั้นผมจึงคิดว่าการถอดรหัสความไม่สำเร็จนั้นย่อมจะดีกว่า เพราะในเส้นทางสู่ความสำเร็จที่เป็นของเราเองนั้น เราย่อมเจอความไม่สำเร็จมาก่อน เราจะเจอมันบ่อยเสียจนเราควรจะมีความเข้าใจว่าความไม่สำเร็จเป็นอย่างไร เพราะส่วนตัวแล้วคิดว่าจริงๆ แล้วความไม่สำเร็จคือบันไดขั้นสำคัญสู่ความสำเร็จ

 

และนั่นคือรหัสความสำเร็จที่อาจจะใช้ได้กับทุกคน ไม่ใช่แค่บงจุนโฮ

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์ 

ภาพ:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising