ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นปัญหาสะสมใหญ่ของสังคมไทยที่เฝ้ารอการสะสางมายาวนาน ใครก็ทราบดีว่า เด็กฐานะดีกว่ามีโอกาสได้รับคุณภาพทางการศึกษาที่ดีกว่า ท้ายที่สุด เมื่อเด็กๆ ต้องสอบแข่งขันกัน เพื่อช่วงชิงโอกาสทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น คงเดาได้ไม่ยากว่า เด็กฐานะดีกว่ามักทำคะแนนได้สูงกว่า
แต่มันไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป ในแวดวงการศึกษาเขาพบว่า มีเด็กกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า ‘เด็กช้างเผือก’
เด็กช้างเผือกคือเด็กไทยที่มีฐานะยากจนกลุ่มล่างสุด 25% ของประเทศ แต่สามารถทำคะแนนสอบ PISA ได้อยู่ในกลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุด 25% ของประเทศ
โดยประเทศไทยมีเด็กช้างเผือกกลุ่มนี้จำนวน 13% ของเด็กในกลุ่มฐานะยากจนล่างสุด (Bottom 25%) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโออีซีดี ซึ่งมี 11.3%
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์เชิงลึกคะแนนสอบ PISA 2018 พบว่า หากวิเคราะห์ไปถึงคะแนนรายวิชา เด็กช้างเผือกของไทยสามารถทำคะแนนวิทยาศาสตร์ได้เฉลี่ย 492 คะแนน คณิตศาสตร์ 487 คะแนน การอ่าน 482 คะแนน ทั้งสามวิชามีคะแนนมากกว่าค่าเฉลี่ยของเพื่อนนักเรียนวัยเดียวกันที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงสุดราวๆ ครึ่งปีถึงหนึ่งปีการศึกษา และมากกว่าเพื่อนนักเรียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมในระดับเดียวกันถึง 3 หรือ 4 ปีการศึกษา รวมถึงมากกว่านักเรียนไทยโดยเฉลี่ยของประเทศราวๆ 2 ปีการศึกษา ในด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และ 3 ปีการศึกษา ในด้านการอ่าน
นอกจากนี้เด็กช้างเผือกไทยแม้จะมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำสุด แต่กลับมี Growth Mindset (เชื่อมั่นว่าตนเรียนรู้และพัฒนาได้) ที่สูง คิดเป็นค่าประมาณ 58% เทียบเท่าได้กับนักเรียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มสูงสุด เด็กกลุ่มนี้ยังมีความคาดหวังในการเข้าเรียนอุดมศึกษาที่สูงมาก รวมถึงการมีความสุขและมุมมองเชิงบวกในระดับที่ดี เมื่อเทียบกับเด็กกลุ่มอื่นๆ ของประเทศ
แต่เรื่องน่าเศร้าที่สุดคือ แม้เด็กกลุ่มที่ฐานะยากจนที่สุด 25% ของประเทศ จะมีเด็กช้างเผือก 13%
แต่ที่ผ่านมาพบว่า เด็กที่มีฐานะยากจนมีโอกาสที่จะได้เรียนต่อในระดับสูงกว่าระดับชั้น ม.6 น้อยมาก คือแค่ 5% เท่านั้น
นั่นหมายความว่า เด็กช้างเผือกมีโอกาสสูงมากที่จะไม่ได้ไปต่อในระดับอุดมศึกษา
ผลสำรวจของ PISA ช่วยยืนยันว่า หากประเทศไทยสามารถที่จะช่วยเหลือ สนับสนุนเด็กที่อยู่ในกลุ่มล่างสุดทางเศรษฐานะของสังคม ทั้งในด้านการพัฒนา Growth Mindset (เชื่อมั่นว่าตนเรียนรู้และพัฒนาได้) การสนับสนุนให้พ่อแม่มีแนวทางในการสนับสนุนแก่บุตรหลาน การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลในโรงเรียนแก่เด็กกลุ่มด้อยโอกาส รวมไปถึงการแนะแนวโอกาสในการศึกษาต่อหรืออาชีพ ก็จะเป็นการช่วยให้เด็กที่อยู่ในกลุ่มช้างเผือกสามารถที่จะเรียนได้สูงที่สุด และพัฒนาศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการทำให้เด็กกลุ่มยากไร้ด้อยโอกาสอื่นๆ สามารถพัฒนาตนเอง ให้มาเป็นเด็กช้างเผือกได้ต่อไปในอนาคต ซึ่งแนวทางเหล่านี้เป็นสิ่งที่ กสศ. มุ่งพัฒนาต้นแบบการสนับสนุน เพื่อสร้างโอกาสให้แก่เด็กช้างเผือกเป็นจริงได้ต่อไป