×

จับตาผลการประชุม กนง. คาดลดดอกเบี้ย 0.25% กระตุ้นเศรษฐกิจ, ค่าเงินบาทยังผันผวน อ่อนค่าทะลุ 31 บาทต่อดอลลาร์: 5 ปัจจัยที่นักลงทุนต้องรู้ (5 ก.พ. 2563)

โดย FINNOMENA
05.02.2020
  • LOADING...
  • จับตาผลการประชุม กนง. ตลาดคาดลดดอกเบี้ย 0.25% ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด กนง. อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยถูกกระทบจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งกระทบภาคท่องเที่ยว และจะขยายไปกระทบซัพพลายเชนการค้าระหว่างไทยและจีน ขณะที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย MOR, MRR และ MLR ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ กนง. กับธนาคารพาณิชย์ต้องช่วยกันปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อที่จะลดภาระรายจ่ายดอกเบี้ย โดยคาดว่า กนง. มีโอกาสจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ภายในไตรมาส 1 ปีนี้ ส่วนสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี คาด กนง. น่าจะลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 0.75% ต่อปี โดยเริ่มลดในรอบการประชุมวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้ เนื่องจากมี 3 ปัจจัยเสี่ยงกำลังฉุดเศรษฐกิจ ได้แก่ 1. ต่างชาติชะลอการลงทุน 2. ความล่าช้าของงบประมาณปี 63 และ 3. การระบาดของเชื้อไวรัสจากจีน เมื่อนโยบายการคลังไม่สามารถนำมาใช้กระตุ้น จึงจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินเข้าช่วย

 

  • ค่าเงินบาทผันผวนหนัก หลังอ่อนค่าทะลุ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยนับตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากสุดที่ระดับ 31.27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ แต่กลับมาปิดต่ำเมื่อวานนี้ที่ 31.08 บาทต่อดอลลาร์ ด้านฝ่ายวิจัยตลาดการเงิน​ บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์​ เผยว่า โดยรวมน่าจะเกิดจากสภาพคล่องที่ต่ำ และน่าสนใจว่ามีนักลงทุนบางกลุ่มโยกเงินกลับมาเตรียมลงทุนในหุ้นไอพีโอใหม่ (CRC) รวมถึงตลาดตราสารหนี้ในระยะสั้นก็ค่อนข้างปลอดภัย นักลงทุนจึงเลือกพักสภาพคล่องที่เงินบาท ส่วนปัจจัยที่ยังต้องจับตา ได้แก่ ตัวเลขนักท่องเที่ยว รวมถึงการส่งออกของไทย โดยถ้าผลกระทบของไวรัสระบาด และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมีท่าทีว่าจะจบลงเร็ว ก็อาจเห็นเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้างในช่วงเดือนนี้

 

  • ธนาคารกลางจีนได้สั่งการให้สถาบันการเงินต่างๆ ผ่อนคลายกฎข้อบังคับในการชำระคืนเงินกู้ของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา พร้อมเปิดทางให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราและทำธุรกรรมต่างประเทศให้กับธุรกิจที่นำเข้าอุปกรณ์สำหรับต้านไวรัสโคโรนา และสนับสนุนเงินทุนให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งรวมถึงการเตรียมปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าชั้นดี (LPR) ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ และจะปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของสถาบันการเงิน (RRR) ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

 

  • สินทรัพย์ปลอดภัยพากันโดนเท หลังตลาดหุ้นกลับมาคึกคักอีกครั้ง ราคาทองคำวานนี้ปรับตัวลงมากกว่า -25 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือราว -1.50% ด้านอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้รัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ก็ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.608% จากเปิดตลาดวานนี้ที่ 1.520% หรือปรับตัวขึ้น +5.77% ขณะที่ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นก็ปรับตัวอ่อนค่าสู่ระดับ 109.5 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปวานนี้ต่างพากันปรับตัวขึ้นราว 1.50%-2.00% ฝั่งหุ้นเอเชียก็ไม่น้อยหน้า พากันฟื้นตัวขึ้นราว 1.00-2.00% โดยเฉพาะจีนและอินเดียที่ฟื้นตัวมากกว่า 2.00% วานนี้ โดยตลาดเริ่มคลายความกังวลต่อวิกฤตการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 

 

  • จับตาตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ โดยสหรัฐฯ จะประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนมกราคม เบื้องต้นจาก ADP ซึ่งคาดการณ์ไว้ที่ 156,000 ตำแหน่ง ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 202,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ยังมีการประกาศดัชนี PMI นอกภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ประจำเดือนมกราคม จาก ISM คาดทรงตัว 55.0 เช่นเดียวกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่ตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.831 ล้านบาร์เรล ชะลอตัวลงจากครั้งก่อนที่เพิ่มขึ้น 3.548 ล้านบาร์เรล

 

สรุปภาพรวมตลาดวานนี้

  • ดัชนี Dow Jones และ S&P 500 ปรับตัวขึ้นแรง ขณะที่ Nasdaq ทำ New High จากการที่นักลงทุนคลายความกังวลต่อการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา เนื่องจากสถานการณ์เริ่มดีขึ้น และธนาคารกลางจีนเริ่มอัดฉีดเม็ดเงินเข้าตลาด รวมไปถึงตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่ง สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่กล้าเข้าซื้อหุ้นที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นยุโรปที่ปรับตัวขึ้นแรงจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดที่ออกมาแข็งแกร่ง นำโดยหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ เช่น หุ้นเกล็นคอร์พุ่งขึ้น 5.13% หุ้นอีฟแรซของอังกฤษพุ่งขึ้น 7.13% 

 

  • ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงจากความกังวลของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา แม้ว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาปริมาณความต้องการใช้น้ำมันลดลง อาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำมันล้นตลาดได้ ด้านราคาทองคำปรับตัวลง สืบเนื่องจากตลาดหุ้นทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัว รวมไปถึงการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มย้ายเม็ดเงินจากทองคำที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเข้าสู่ตลาดหุ้นบางส่วน

 

สหรัฐฯ

  • Dow 30 ปิดที่ 28807.63 เพิ่มขึ้น 407.82 (1.44%)
  • S&P 500 ปิดที่ 3297.59 เพิ่มขึ้น 48.67 (1.5%)
  • Nasdaq ปิดที่ 9467.97 เพิ่มขึ้น 194.57 (2.1%)

 

ยุโรป

  • DAX ปิดที่ 13281.74 เพิ่มขึ้น 236.55 (1.81%)
  • FTSE 100 ปิดที่ 7439.82 เพิ่มขึ้น 113.51 (1.55%)
  • Euro Stoxx 50 ปิดที่ 3732.28 เพิ่มขึ้น 71.01 (1.94%)
  • FTSE MIB ปิดที่ 23844.85 เพิ่มขึ้น 384.84 (1.64%)

 

เอเชีย

  • Nikkei 225 ปิดที่ 23084.59 เพิ่มขึ้น 112.65 (0.49%)
  • S&P/ASX 200 ปิดที่ 6948.7 เพิ่มขึ้น 25.4 (0.37%)
  • Shanghai ปิดที่ 2783.29 เพิ่มขึ้น 36.68 (1.34%)
  • SZSE Component ปิดที่ 10089.67 เพิ่มขึ้น 310 (3.17%)
  • China A50 ปิดที่ 13187.05 เพิ่มขึ้น 371.3 (2.9%)
  • Hang Seng ปิดที่ 26675.98 เพิ่มขึ้น 319 (1.21%)
  • Taiwan Weighted ปิดที่ 11555.92 เพิ่มขึ้น 201 (1.77%)
  • SET ปิดที่ 1519.38 เพิ่มขึ้น 23.32 (1.56%)
  • KOSPI ปิดที่ 2157.9 เพิ่มขึ้น 39.02 (1.84%)
  • IDX Composite ปิดที่ 5922.34 เพิ่มขึ้น 38.17 (0.65%)
  • BSE Sensex ปิดที่ 40789.38 เพิ่มขึ้น 917.07 (2.3%)
  • PSEi Composite ปิดที่ 7226.9 เพิ่มขึ้น 89.87 (1.26%)

 

Commodity

  • ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดที่ 50.23 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.32 (0.64%)
  • ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ปิดที่ 54.63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.42 (0.77%)
  • ราคาทองคำ ปิดที่ 1554.45 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ลดลง -28.8 (-1.82%)

 

 

อ้างอิง: 

  • Infoquest
  • Bloomberg
  • Investing
  • CNBC
  • Reuters
  • กรุงเทพธุรกิจ

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X