พรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรคการเมือง นำโดย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ยื่นญัตติต่อ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งมีรัฐมนตรีที่ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6 คนด้วยกัน ประกอบด้วย
- พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
- พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
- วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมตรี
- พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
- ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทั้งนี้ชื่อ 3 รายชื่อที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ แต่ไม่มีชื่อในการอภิปราย ได้แก่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
ขณะที่ชวนกล่าวภายหลังว่า จะให้ฝ่ายสำนักเลขานุการฯ ไปตรวจสอบความถูกต้อง จากนั้นจะแจ้งให้ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านรับทราบ เพื่อนัดหารือกำหนดวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส่วนจะเป็นวันไหนนั้นยังตอบไม่ได้ ตนยังไม่อยากระบุวันอภิปราย ทั้งนี้ตามกฎหมายเมื่อมีการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลจะไม่สามารถยุบสภาได้แล้ว
ด้านสมพงษ์กล่าวว่า ต้องมีการหารือกรอบเวลาว่าจะใช้เวลาอภิปรายกี่วัน จะใช้ 3-4 วันหรือไม่ ส่วนรายชื่อที่มีการตัดออกไปเพราะเป็นเรื่องข้อมูลที่ไม่เพียงพอ พร้อมยืนยันไม่มีการดีลแน่นอน โดยเฉพาะที่มีการพาดพิงชื่อตนไปดีลกับ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งตนได้พูดคุยกับศักดิ์สยามเรื่องชัย ชิดชอบ ก่อนเสียชีวิตว่าตนจะไปเยี่ยมเยียน
ทั้งนี้สมพงษ์กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านไม่ได้หวังจะคว่ำรัฐบาลในสภา ซึ่งในความเป็นจริงไม่สามารถล้มได้ เพราะเสียงฝ่ายค้านน้อยกว่า แต่อยากให้สื่อชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจแล้วตัดสินใจ ซึ่งประชาชนจะเป็นผู้ล้มรัฐบาลเอง ส่วนเรื่องข้อมูลต่างๆ การวางตัวบุคคลให้ไปติดตามในวันอภิปราย ไม่เช่นนั้นจะจืดไปเสียก่อน โดยเบื้องต้นมีผู้อภิปราย 20-30 คน
ขณะที่กรณีพรรคเศรษฐกิจใหม่ออกจากการเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านนั้น เป็นเรื่องภายในพรรค ซึ่งการอภิปรายจะมี มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ตามที่เคยมีการประกาศไว้หรือไม่ คงต้องเป็นดุลพินิจของมิ่งขวัญเอง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า