ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ว่า น่าจะสร้างผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยมหาศาล คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 117,300-189,200 ล้านบาท และอาจจะกระทบกับ GDP สูงสุดที่ 1%
ในกรณีที่ทางการสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในเดือนมีนาคม 2563 และตัวเลขด้านการท่องเที่ยวฟื้นตัวภายใน 3 เดือนหลังจากนั้น ผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 117,300 ล้านบาท เทียบเท่าสัดส่วน 0.67% ของ GDP ประเทศไทย ซึ่งจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวรวมหายไปราว 2.41 ล้านคน (นักท่องเที่ยวจีนลดลง 1.84 ล้านคน และนักท่องเที่ยวชาติอื่นลดลง 570,000 คน)
และหากสถานการณ์ส่อเค้ายืดเยื้อ และสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2563 และการท่องเที่ยวฟื้นตัวภายใน 5 เดือนหลังจากนั้น เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบประมาณ 189,200 ล้านบาท เทียบเท่าสัดส่วน 1.08% ของ GDP ประเทศ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวหายไปรวม 3.89 ล้านคน (นักท่องเที่ยวจีนลดลง 2.97 ล้านคน และนักท่องเที่ยวชาติอื่นลดลง 920,000 คน)
อย่างไรก็ดี ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ หอการค้าไทย มองว่า กรณีแรกมีโอกาสความน่าจะเกิดขึ้นได้มากกว่ากรณีหลังที่ 65% ต่อ 35%
ขณะที่ EIU (Economist Intelligence Unit) เชื่อว่า กรณีไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ระบาดต่อเนื่อง ส่งผลทางจีนต้องออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมโรคระบาดนั้น จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศจีนลดลงจากภาวะปกติ โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวของ GDP ในปีนี้อาจจะลดลงถึง 0.5-1.0% มาเหลือที่ 4.9-5.4% และจะทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลงตามไปด้วย
ผลที่ตามมาคือ ทำให้ ‘ความต้องการสินค้าจากประเทศไทยลดลง’ โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ หอการค้าไทย มองว่า กรณีที่สามารถ
ควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในเดือนมีนาคม 2563 มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยจะได้รับผลกระทบวงจำกัด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเชิงเศรษฐกิจ 15,500 ล้านบาท
แต่หากมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยได้รับผลกระทบในวงกว้าง เนื่องจากสถานการณ์ยืดเยื้อจนควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2563 มูลค่าความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจประเทศจะเพิ่มขึ้นสูงเป็น 36,700 ล้านบาท หรือเทียบเท่า 0.21% ของ GDP ประเทศไทย
เมื่อนับรวมกับปัจจัยภายนอกด้านอื่นๆ เช่น ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563, ภาวะภัยแล้ง-ฝนทิ้งช่วง และปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 คาดว่าผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจไทยน่าจะมีตัวเลขประมาณ 226,700 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 1.30% ต่อ GDP ไทยเลยทีเดียว
สำหรับข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ หอการค้าไทย ได้จำแนกออกเป็น 7 ข้อ ประกอบด้วยทำตลาดเชิงรุกในตลาดอื่นที่มีศักยภาพ ออกมาตรการฟรีวีซ่าระยะสั้น และเพิ่มประเทศที่สามารถขอ VOA ได้, เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณที่กันมาจากปีก่อน (หรืองบค้างท่อ), เร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เบิกจ่ายงบลงทุน
กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ, ให้สิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ เพิ่มเติมจูงใจให้ภาคเอกชนขยายการลงทุน, ผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อเอื้ออำนวยให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น และบริหารจัดการให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าใกล้เคียงกับระดับ 31.5-32.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากกลุ่มตัวอย่าง 287 ให้ความเห็นถึงการปรับตัวของพวกเขาในการดำเนินธุรกิจช่วงนี้ แบ่งออกเป็น 6 แนวทาง ประกอบด้วย
ติดตามข่าวสารจากหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิด, ระมัดระวังการค้าขายหรือนำเข้าสินค้าที่มาจากประเทศจีน, รักษาสุขภาพและดูแลสุขอนามัยของพนักงานภายในธุรกิจ, งดการเดินทางไปประเทศจีนในช่วงแพร่ระบาด, พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคภายในสถานที่ทำงาน และมีมาตรการป้องกันเเละดูแลลูกค้า โดยเฉพาะชาวจีน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า