“ผู้บริโภคควรต้องรู้จักสินค้าและมีสิทธิ์เลือกสิ่งที่ปลอดภัยกับชีวิตเขาเอง”
ถ้านี่เป็นแนวคิดของผู้บริหารที่ดูแลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพก็คงไม่แปลก แต่คำกล่าวนี้ออกมาจากบทสนทนาของ ฮง-เลิศพงษ์ ศรีวงศ์ทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี.อาร์.อินดัสเตรียล จำกัด ทายาทรุ่นที่ 2 ของ STEEL CITY ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์บ็อกซ์ไฟฟ้าและตัวจับยึดสำหรับงานระบบท่อร้อยสายไฟ สินค้าที่ End User ไม่เคยมองเห็น จึงคิดไปเองว่า ไม่จำเป็นต้องเลือกเอง
“เราเห็นบ้านราคาหลายสิบล้าน แต่ใช้ท่อร้อยสายไฟพลาสติก” ถ้าคุณรู้ว่า พลาสติกคือเชื้อเพลิงชั้นดี และตามมาตรฐานสากล การเดินระบบด้วยท่อร้อยสายไฟฟ้าต้องทำจากเหล็กเท่านั้น เพราะสามารถตรวจสอบไฟฟ้ารั่วเบื้องต้นได้ ป้องกันอัคคีภัยได้
ลองถามตัวเองอีกครั้ง “คุณยังต้องการสิทธิ์เลือกสิ่งที่ปลอดภัยกับชีวิตตัวเองอยู่หรือเปล่า?”
เลิศพงษ์อธิบายต่อว่า “เราในฐานะผู้ผลิต เมื่อรู้แบบนี้ก็อยากจะนำความรู้ ความเข้าใจส่งต่อไปถึงผู้บริโภค ให้กลับมาสนใจเรื่องความปลอดภัย คุณสามารถดูแลผู้รับเหมาได้นะ เลือกได้ว่าคุณต้องการใช้วัสดุแบบไหน”
ฮง-เลิศพงษ์ ศรีวงศ์ทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี.อาร์.อินดัสเตรียล จำกัด ทายาทรุ่นที่ 2 ของ STEEL CITY
ในวงการอุตสาหกรรมประเภทนี้ ถ้าจะมุ่งเป้าไปที่ยอดขาย ตัวเลขผลกำไร ผู้บริหารเลือกที่จะสื่อสารกับตัวแทนจำหน่ายหรือผู้รับเหมา เพื่อหากลยุทธ์ในการขายสินค้าตัวใหม่ดีกว่าสื่อสารกับ End User ที่แทบจะไม่เคยเห็น ‘ท่อร้อยสายไฟ’ เลยด้วยซ้ำ แต่นี่คือพันธกิจหลักในยุคเปลี่ยนผ่านจากรุ่นสู่รุ่น ที่ต้องการสร้างธุรกิจให้เติบโต อย่างยั่งยืนและคืนกำไรให้สังคม
น้อยคนจะรู้ว่า อุปกรณ์บ็อกซ์ไฟฟ้าและตัวจับยึด ซึ่งมีสินค้าครอบคลุมหลายร้อยรายการ ซึ่งสามารถร่วมใช้กับท่อร้อยสายไฟที่ทำจากเหล็กชนิดต่างๆ ตั้งแต่ท่อร้อยสายไฟ EMT ชนิดบางสำหรับงานติดตั้งภายใน, ท่อ IMC ชนิดหนาสำหรับงานติดตั้งที่ต้องการความแข็งแรงทนทาน, ท่อ RSC ท่อหนาชุบสังกะสี สำหรับงานโครงการขนาดใหญ่ ไปจนถึงอุปกรณ์ฟิตติ้งท่อชนิดกันระเบิด Explosion Proof Conduit Fitting พร้อมอุปกรณ์ในระบบป้องกันฟ้าผ่า ทั้งหมดที่ไล่เรียงมานี้เกี่ยวข้องกับเราทางใดบ้าง
เลิศพงษ์อธิบายว่า “ผลิตภัณฑ์เราอยู่ในทุกธุรกิจ เพราะไฟฟ้าเป็นของจำเป็น ไม่ว่าจะธุรกิจ องค์กร โครงการขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ หรือบ้านเรือนประชาชน ก็ต้องใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน ทุกที่ที่เป็นเมืองก็ต้องใช้ไฟฟ้า” ขยายภาพให้เห็นชัดอีกนิด โครงการที่อยู่รอบตัวเราทุกวันนี้ เช่น โรงผลิตไฟฟ้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต, สนามบินสุวรรณภูมิ, รถไฟฟ้า BTS, รถไฟใต้ดิน MRT, ศูนย์ประชุม BITEC หรือในส่วนของผู้รับเหมารายใหญ่ที่เลือกใช้ STEEL CITY ก็เช่น อิตาเลียนไทย ช.การช่าง
จาก ‘เหล็ก’ ที่หล่อหลอมธุรกิจขนาดเล็ก สู่ ‘เหล็ก’ ที่หลอมรวมพนักงานนับร้อยชีวิต
“ย้อนกลับไปตอนที่เรายังเป็นเด็ก เราไม่ได้มองว่า STEEL CITY เป็นผู้ผลิต เราเป็นเหมือนเทรดเดอร์ ซื้อมาขายไป ซื้อมาเป็นทุน ขายออกเป็นกำไร ชิ้นไหนขายดีก็เอามาสต๊อก มีจำนวนเยอะก็เอาตัวเลขมาต่อรองกับแหล่งขายขอส่วนลด ทำได้สักระยะ คุณพ่อก็เริ่มผันตัวมาเป็นผู้ผลิต เริ่มจากรายการสองรายการ จนวันนี้เรามีสินค้าที่ผลิตเองหลายร้อยรายการ
“รุ่นคุณพ่อท่านทำธุรกิจแบบ One Man Can หรือ All in One Solution คือคุณพ่อคุณแม่ท่านทำหลายบทบาทมาก เป็นทั้งนักขาย บัญชี วางแผน ส่งของ จัดของ และนักลงทุน ท่านต้องทำทุกอย่างให้บาลานซ์กัน เพื่อให้ธุรกิจไปได้ นี่เป็นต้นแบบการทำงานที่เราเห็นมาแต่เด็ก ตอนนั้นเรารู้สึกว่า คนคนหนึ่งในธุรกิจขนาดเล็กมันต้องทำให้ได้หลายอย่าง โดยเฉพาะผู้ประกอบการแบบ One Man Can แต่พอวันหนึ่งธุรกิจเริ่มโตต้องยอมรับว่า ไม่มีใครเก่งทุกด้าน เราต้องหาคนเก่งเฉพาะด้านมาช่วย และต้องพัฒนาให้มันเติบโตอย่างยั่งยืน
“ยอมรับว่าตอนแรกๆ ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจตัวเองน้อยมาก ตอนไปเรียนเมืองนอกก็เลือกเรียนบริหารธุรกิจ แต่ไม่ชอบนะ (ยิ้ม) รู้สึกว่าทุกคนเรียนเหมือนๆ กันหมด จนมาเจอรุ่นพี่คนหนึ่งเก่งมาก รับจ้างทำเว็บไซต์ส่งตัวเองเรียน พอรู้ว่าเขาเรียน Multimedia ก็สนใจ เปลี่ยนคณะเลย ตอนนั้นคิดแค่ว่ามันเป็นเทรนด์ อินเทอร์เน็ตมาแล้วระดับหนึ่ง เราน่าจะใช้สิ่งเหล่านี้มาช่วยธุรกิจได้ เราเห็นเว็บไซต์ที่ขายไวน์ เลยคิดว่าจริงๆ มันขายอะไรก็ได้
“เรียนจบมาคุณแม่บอกให้ไปทำงานที่อื่นก่อน ท่านอยากให้เราลองเป็นลูกน้องคนอื่น และเรียนรู้ประสบการณ์จากที่อื่น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สนุกและดีมากๆ”
สวมบทบาทเป็นทั้งลูกน้องและนายจ้างในเวลาเดียวกัน
เลิศพงษ์ก้าวเท้าเข้ามาดูแลธุรกิจที่บ้านตอนอายุ 25 สำหรับเขา เรื่องการวางตัวให้สมดุลและทำงานกับคนรุ่นเก่าเป็นโจทย์ที่หินสุดๆ “ช่วงแรกในการเข้ามาดูแลธุรกิจ เรื่องที่ต้องปรับตัวมากที่สุดจึงเป็นเรื่องการวางตัวอย่างไรให้สมดุล โดยนิสัยผมเป็นคนง่ายๆ เข้ากับพนักงานได้ พูดคุยสอบถามเพื่อเรียนรู้ อันนี้ไม่เป็นปัญหา แต่พอมองอีกมุม ผมรู้ว่าอนาคตต้องดูแลพวกเขา การวางตัวเลยต้องหาจุดยืนที่เหมาะสมในช่วงแรก คิดแบบตรงๆ เลยว่า ผมคือลูกเจ้าของที่ต้องเรียนรู้งาน หัวสมองต้องเปิด ต้องเข้าถึงง่าย อัธยาศัยต้องดี และอย่าเกี่ยงงาน ทำให้เป็น รู้ให้หมด และสร้างผลงานให้เขาเชื่อมันในตัวเรา ถ้าเราแอ็กเป็นลูกเจ้าของ คนจะไม่เข้าหา การเรียนรู้ก็จะโดนปิด พอเราวางตัวให้เข้าถึงง่าย เราจึงเก็บข้อมูลได้ทุกแผนก มาวิเคราะห์ว่าจุดไหนที่เป็นปัญหา หรือจุดไหนพัฒนาต่อได้ เช่น ระบบจัดส่งที่มีปัญหาเรื่องของส่งซ้ำ ของส่งเกิน ตัวเลขไม่ตรง ฯลฯ
“การทำตัวเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว เป็นช็อตคัตการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เพราะคนเก่าคนแก่คือทรัพยากรบุคคลที่มีประสบการณ์ เขาคือแหล่งเรียนรู้ เขาเป็นครูเรา เราควรจะเปิดรับสิ่งที่เขาสอน ฟังเขาเยอะๆ เพราะนั่นคือความใส่ใจ ยิ่งเขารู้สึกว่าเราใส่ใจเขา เขาก็จะยิ่งเปิดรับ สั่งสอนเรา และก็นำสิ่งเหล่านั้นมาพัฒนาต่อ
“โจทย์ต่อมาคือ จะทำอย่างไรให้ทุกคนยอมรับ แปลว่าเราต้องสร้างความเชื่อมั่น ต้องมีผลงานไปแลกกับความเชื่อมั่น ผมว่าสิ่งที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ไว้ใจคือ ที่ผ่านมาเราพูดว่าเราจะทำอะไรให้สำเร็จ เราก็ต้องทำให้ได้ตามที่พูด ทั้งเรื่องการวางระบบลูกค้าและการสร้างระบบโรงงานใหม่ ในยุคแรก STEEL CITY เป็นระบบโรงงานที่ทุกคนเป็นเอกเทศ ระบบการจัดการยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ เราเริ่มระบบมาตรฐาน ISO 9001 เข้ามาใช้ เป็นเรื่องที่ยากที่สุด คือเราจ้างคนมาเป็นที่ปรึกษา วางระบบให้เราได้ แต่มันได้แค่กระดาษแผ่นเดียว แต่เราอยากให้ทุกคนในโรงงานทำเป็น ดังนั้น จะทำอย่างไรให้คนทำตามมาตรฐานนั้น เราไม่ได้จ้างคนมาทำให้ แต่เราลงมือเอง สอนคนของเรา ทำให้ดู บางทีมันเป็นสิ่งที่เขารู้อยู่แล้ว เขาทำทุกวัน เพียงแต่มันไม่เป็นระบบระเบียบ เราก็พยายามให้เขาไปดูงานข้างนอกบ้าง ดูตั้งแต่โรงงานทั่วไป โรงงานขนาดใหญ่บ้าง ให้เขาเห็นว่าที่อื่นๆ เขาทำกันแบบนี้ มีการจ้างอาจารย์ที่ปรึกษา นักวิชาการ เพื่อสนับสนุนแนวคิดของเรา
“พอได้มาตรฐาน ISO ในองค์กรก็เริ่มพูดคุยเป็นระบบมากขึ้น เช็กขั้นตอนการทำงานได้ ในขณะเดียวกัน พอเรามีมาตรฐาน ISO การเสนอหน่วยงานก็ได้รับความไว้วางใจมากขึ้น เพราะข้างนอกเขาก็ใช้มาตรฐานเดียวกัน มันก็เป็นเรื่องของขั้นตอนที่จับต้องได้ และความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์
“สิ่งที่เห็นได้ชัดอีกอย่างคือ 10 ปีที่ผ่านมา เราลงทุนกับเครื่องจักรเยอะมาก เพราะเครื่องจักรมีความแม่นยำสูง ผลงานออกมาดี และควบคุมระยะเวลาได้ นี่ก็เป็นจุดเด่นของเราที่เลือกใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย ชิ้นงานจึงออกมาได้มาตรฐานและสวยกว่า การ QC ก็ทำงานไม่หนัก เทคนิคเหล็กบางชนิดต้องมีความเฉพาะทางค่อนข้างสูง ผมจะสั่งเครื่องจักรเองทุกเครื่อง เพราะผมต้องรู้ว่ามันทำงานอย่างไร ถ้าเกิดมีปัญหาอะไรผมจะช่วยแก้ปัญหาได้”
หลอมรวมคนรุ่นเก่า ทรานส์ฟอร์มสู่ธุรกิจยุคใหม่
“ผมว่าสิ่งที่ทำให้คนเก่าแก่สามารถทรานส์ฟอร์มได้ น่าจะเกิดจากวิธีการทำงานที่ต้องให้เขามีส่วนร่วมในการหาข้อตกลง ผมหาประเด็นว่าทำอย่างไร แก้ปัญหานี้อย่างไร เรียกมาคุย หาทางออกร่วมกัน ขอความเห็น ถ้าวิธีเขาโอเคเราก็จะปล่อย พอทำไปเรื่อยๆ ผลงานมันมีให้เห็น เข้าทางกันได้ จับทางกันถูก ผลงานพวกนี้คือความเชื่อมั่นที่เขารู้สึกได้ว่า เราทำงานกับเขาได้ เราสามารถส่งงานเข้าได้ และเขาก็ได้ทำงานตามความถนัดเขาด้วย ทุกคนเก่งไม่เหมือนกัน ก็ต้องเกื้อหนุนกันไป
“โดยเฉพาะช่วงที่เริ่มเข้ามาเรียนรู้ธุรกิจ ผมเริ่มจากไปดูหน้างานเป็นหลักว่าธุรกิจเรายังขาดเรื่องอะไร ในทุกธุรกิจมีเฟืองที่หมุนล้อกันอยู่ ไม่ใช่ว่าเราเข้ามาแล้วจะเปลี่ยนได้ทั้งหมด ก็ค่อยๆ เริ่มจากเข้าไปเปิดบิล ส่งของ ดูระบบจัดการเรื่องคอมพิวเตอร์ เอาวิชาที่เรียนมาใช้ แต่ก็ต้องค่อยๆ คุยว่าน่าจะเปลี่ยนได้แล้วนะ แต่ยังไม่มีใครในองค์กรกล้าเปลี่ยน เพราะเขาชินกับระบบเดิม พอเปลี่ยนจึงเป็นอะไรที่ยาก จะทำอย่างไรให้เขาทำตามเรา ณ ตอนนั้นเราคิดว่าต้องฟังเขามากๆ มันเป็นการให้เขาร่วมตัดสินใจ เพราะมันจะกลายเป็นข้อตกลงที่ต้องทำร่วมกัน จึงเป็นลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัย จนทุกวันนี้ระบบเน็ตเวิร์กเราค่อนข้างแข็งแรง ใช้ระบบปฏิบัติการสั่งผลิต เราต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะเทรนด์ของการทำระบบต้องเร็ว ยุคนี้ทุกอย่างไว มานั่งเขียนบิลใส่กระดาษไม่ได้แล้ว”
Re-Think คิดให้ไกลกว่าสิ่งที่มีและเป็นอยู่
“มองธุรกิจของเราวันนี้ อุปกรณ์ท่อร้อยสายไฟเรายังไม่รู้ว่าโดน Disruption ขนาดนั้น เพราะไฟฟ้ามีความจำเป็นและมีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อุปกรณ์ท่อร้อยสายไฟก็ยังต้องการมากขึ้น โรงไฟฟ้า ปั๊มน้ำมัน รถไฟฟ้า ความต้องการของตลาดจะมีมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะเทรนด์การตกแต่งบ้านเปลี่ยนไป จากที่เมื่อก่อนตามบ้านคนอาจจะแค่ตีกิ๊บร้อยสายไฟ อีกหน่อยคนจะเริ่มหันมาสนใจความปลอดภัยมากขึ้นในการเอาสายไฟร้อยท่อให้เรียบร้อย
“ความต้องการในธุรกิจนี้ยังสูงอยู่ แต่อาจจะมีอุปสรรคเรื่องราคาหรือคู่แข่งที่พยายามเข้ามาแข่งในตลาดพรีเมียมมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือ สร้างการจดจำว่าเราเป็นแบรนด์พรีเมียมที่ดำเนินการภายใต้ STEEL CITY เท่านั้น ยังไม่มีการแตกไลน์แบรนด์ใหม่ รวมทั้งการจดจำชื่อแบรนด์ STEEL CITY สินค้าทุกชิ้นก็จะใช้ชื่อเต็มๆ แบบนี้ จะไม่ใช้อักษรย่อใดๆ เพื่อให้ลูกค้าไม่สับสนหากเจอสินค้าหรือโลโก้ที่ใกล้เคียงกัน ส่วนเรื่องคุณภาพมาตรฐาน สิ่งที่เป็นจุดเด่นคือ เรื่องคุณภาพและกำลังการผลิต เราสามารถผลิตสินค้าได้เองเกือบจะ 100% ทุกขั้นตอนการผลิต ตรงนี้มันก็เป็นทุนสำหรับผู้ประกอบการ อย่างน้อยเราก็ไม่ต้องอาศัยคนอื่นหายใจ เรื่องการคำนวณระยะเวลาการผลิตเราก็ได้เปรียบ ควบคุมการผลิตเองด้วย สินค้าทุกตัวใช้มาตรฐานเดียวกันกับที่ติดตั้งให้กับโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การที่เราจะมาตลาด End Consumer ไม่ได้หมายความว่า STEEL CITY จะลดคุณภาพของสินค้าและวัตถุดิบลง เพื่อที่จะทำราคาให้ตอบโจทย์ของลูกค้าบางกลุ่ม แต่เราตั้งใจสร้าง Awareness ให้ลูกค้าเข้าใจถึงการเลือกสินค้าที่ดี มีคุณภาพ และมีเอกสารรองรับมากกว่าเลือกสินค้าที่ราคาต่ำกว่าและอายุการใช้งานที่สั้นกว่า ในราคาที่ไม่แตกต่างกันมาก
“ภาพลักษณ์ของโรงงานอุตสาหกรรม การเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมดดูน่าเชื่อถือกว่าการจ้างผลิต เราควบคุมคุณภาพและเวลาได้เอง รวมทั้งเรื่องมาตรฐานโรงงาน บางบริษัทเขาจะขอดูใบรับรองมาตรฐานโรงงาน ISO ผมว่านี่คือความเชื่อมั่นที่เขาเลือกใช้ STEEL CITY
“แต่เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราถ้ามองในวงการเหล็ก เทคโนโลยีการผลิตและเทคโนโลยีที่เข้ามาทดแทนงานต่างๆ มันเยอะ อนาคตอันใกล้ก็อาจจะใช้รถพลังงานไฟฟ้ากันหมด สแปร์พาร์ต โมเดลต่างๆ ที่มีอยู่หลายรายการอาจจะเหลือแค่ 20 รายการ จำนวนการจ้างการผลิตจะน้อยลง ในทางกลับกัน เราก็ต้องมองเผื่อตัวเองแล้วว่า อุตสาหกรรมที่ทำอยู่ ควรจะต้องมองหาทางเลือกอื่น เช่น สินค้าอื่นๆ ที่ทำจากเหล็กได้ มองหาพาร์ตเนอร์มาทำงานร่วมกัน เรามีวัตถุดิบ เขามีตลาดไหม ถ้าพัฒนาร่วมกัน สินค้าจะไปได้ไหม อันนี้เป็นสิ่งที่เรากำลังวางเป็นแผนสำรองอยู่ ที่จะตอบโจทย์ความเสี่ยงเมื่อธุรกิจจะถูก Disrupt”
ถ้าใช้อุปกรณ์คุณภาพ อยากให้นึกถึง STEEL CITY
“ตอนนี้นอกจากเรื่องธุรกิจ เรากำลังโฟกัสเรื่องการให้ความรู้ผู้บริโภคว่าทำไมจึงต้องใช้ STEEL CITY เราอยากให้ผู้บริโภคมีความรู้ในเรื่องการติดตั้ง ท่อร้อยสายไฟ บล็อกไฟ จริงๆ เรื่องการวางระบบไฟฟ้า สมมติคุณจะสร้างบ้านหนึ่งหลัง คุณไม่รู้หรอกว่าคุณจะใช้อะไร แล้วก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้รับเหมา เราอยากจะเปลี่ยนมุมมองว่า คุณเป็นเจ้าของบ้าน ความสวยงามคุณเลือกเองแหละ แต่จริงๆ ที่สำคัญกว่าความสวยงามคือความปลอดภัย แม้จะไม่ใช่สิ่งที่คุณติดตั้งเองหรือเป็นสิ่งที่คุณมองไม่เห็น ระบบไฟสำคัญที่สุดในบ้านเลยนะ ที่เห็นไฟไหม้ ไฟฟ้าลัดวงจร สาเหตุสำคัญมาจากอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่มีคุณภาพ และการเดินระบบด้วยวิธีผิดๆ
“ในกลุ่มธุรกิจ เราถือเป็นเจ้าแรกที่หันมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะส่วนใหญ่กลุ่มไฟฟ้าเราจะได้ลูกค้าผ่านผู้รับเหมา เลยไม่เคยได้เข้าถึงผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของบ้าน บางคนเลยไม่ได้มองถึงการให้ความรู้กับคนกลุ่มนี้ เพราะคิดว่าพวกเขาไม่เข้าใจ เป็นเรื่องยาก มองไม่เห็น มันอยู่ใต้ฝ้า มันก็คือการคืนกำไรให้สังคมนะ ผู้บริโภคควรต้องรู้ และควรต้องเลือกสิ่งที่ปลอดภัยกับชีวิตคุณเอง”
เคยได้ยินไหมว่า ธุรกิจจะอยู่ได้ไม่เกิน 3 รุ่น
“เคยได้ยินว่า ธุรกิจอยู่ไม่เกิน 3 รุ่น เราคิดเรื่องนี้มานานมากว่า มันต้องมีวิธีที่จะทำให้ธุรกิจยั่งยืน ก็คือการเติบโตอย่างยั่งยืน ทำอย่างไรที่จะสามารถขยายไลน์ สร้างธุรกิจใหม่เพื่อมาเกื้อหนุนธุรกิจเดิม ผมอาจจะเปิดบริษัทใหม่เพื่ออิมพอร์ตเหล็ก ขายเหล็กให้กับโรงงานตัวเองในราคาพิเศษ ในทางกลับกัน ผมก็อาจจะไปขายเหล็กให้กับคนอื่นได้ ถ้าจะส่งต่อให้ทายาทรุ่นต่อไป เราจะสอนให้เขาคิดให้เป็น ไม่ใช่จบมาแล้วมาทำงาน เพราะผมเชื่อว่า บริษัทหนึ่งมันเหมือนแหล่งวัตถุดิบที่ไม่รู้จะหมดเมื่อไร หม้อข้าวใบเดียว วันหนึ่งกินก็อาจจะหมด แต่ถ้าพยายามหาหม้อข้าวเพิ่มขึ้น ถ้าอย่างนั้นเราลองหันมาดูว่าเรามีอะไรในมือ สมมติวันหนึ่งลูกจบสถาปนิกมา เรามีโรงงานนะ หรืออยากทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับเราก็ได้ แต่ต้องเกื้อหนุนกัน ให้มันซัพพอร์ตกันไป
“นี่คือเป็นความท้าทายในเจเนอเรชันเราคือ การสร้างระบบแห่งความยั่งยืน เพื่อส่งต่อไปยังรุ่นต่อไป เราไม่ได้มองคำว่ารุ่นต่อไปแค่ลูก หลาน แต่เรามองไปถึงในแง่สังคมด้วย การสร้างแนวคิดขยายธุรกิจที่เกื้อหนุนกันและกันในแต่ละยุค”
‘เหล็ก’ เปลี่ยนเป็นอะไรก็ได้ อยู่ที่ไอเดียและวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร
“เราก็พยายามมองหาตลาดใหม่ๆ กลุ่มธุรกิจใหม่ๆ อย่างกลุ่มสถาปนิกหรือดีไซเนอร์ที่ออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ สินค้าใหม่ๆ ให้มันมีตลาดมากขึ้น ให้ธุรกิจเกื้อหนุนกันได้ เติบโตได้ ยั่งยืนด้วย ตัวสินค้าเราอาจจะเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์มากไม่ได้ แต่มันก็โชว์ได้ ขึ้นอยู่กับดีไซเนอร์ เพราะการเดินท่อมีหลายแบบมาก เดินท่ออย่างไรให้สวย ให้ดูเท่ๆ หรือสถานที่อย่าง Co-Working Space ก็ไม่ปิดฝ้าแล้ว มันเป็นงานที่ต้องสร้างสรรค์ร่วมกับดีไซเนอร์ เราเป็นผู้ผลิต เรามีมุมมองทางนั้น แต่มันไม่เกิดหรอกถ้าผู้บริโภคไม่เห็นว่ามันสวย จริงๆ ในแง่ของการดูแลรักษา ง่ายกว่าด้วย แต่ก็แล้วแต่คนชอบ เดี๋ยวนี้คนก็มินิมัลมากขึ้น ไม่ซับซ้อน ไม่ยุ่งยาก ใช้งานง่าย ก็พยายามเอาเทรนด์มาเป็นจุดขาย เมืองนอกเขามีเทรนด์นี้มานานแล้ว
“เหล็กสามารถแปรเปลี่ยนเป็นอะไรก็ได้ เรามองว่า ทุกอย่างมันอยู่ที่ไอเดีย ดีไซน์ ตลาดที่รองรับ และมุมมองของผู้บริหาร แต่จะเดินไปสู่จุดนั้นได้ เราต้องสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง ถ้าเราวางตัวเองแค่ว่าเราคือฟิตติ้ง เราก็จะเป็นฟิตติ้งตลอด เราต้องมองว่าเราเป็นผู้ผลิตงานเกี่ยวกับเหล็ก มองว่าตัวเองเป็นผู้ผลิต เราจะทำอะไรก็ได้ วันหนึ่งเขาจะเชื่อมั่นว่า สินค้าที่อยู่ภายใต้แบรนด์ STEEL CITY คือสินค้าคุณภาพ”
- เตรียมพบกับไอเดียเปลี่ยน ‘เหล็ก’ ให้กลายเป็นงานดีไซน์ ในงานสถาปนิก ‘63 ‘มองเก่า ให้ใหม่: Refocus Heritage’ ระหว่างวันที่ 7-12 กรกฎาคม 2563 ที่อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 เมืองทองธานี พบสินค้าของ STEEL CITY และกิจกรรมร่วมสนุกลุ้นของรางวัลมากมาย แล้วพบกันที่บูธหมายเลข S302