เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 THE STANDARD เพิ่งเปิดเผยข้อมูลที่น่ากังวลใจ ประเทศไทยติดอันดับ 8 ของโลก จากการจัดอันดับเมืองฝุ่นเยอะที่สุด และมีแนวโน้มจะไต่อันดับขึ้นเรื่อยๆ หากยังไม่มีแนวทางในการแก้ปัญหาฝุ่นที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
สถานการณ์ทั่วโลกก็ไม่สู้ดีนัก ชาวบอสเนียรวมตัวกันประท้วงเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาฝุ่นจริงจัง ประเทศจีนที่เคยติดอันดับ 1 ของโลก แม้จะมีแนวทางป้องกันที่ดีและแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ภาพรวมแล้วปัญหามลพิษทางอากาศก็ยังไม่หมดไป เพราะอากาศเป็นของทุกคนบนโลก มลพิษที่เกิดจากประเทศหนึ่ง อาจส่งผลกระทบต่อประเทศใกล้เคียง ล่าสุด นาซาเปิดเผยข้อมูลว่า ดาวเทียมที่ติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มควันวิกฤตไฟป่าครั้งใหญ่ที่ออสเตรเลียกำลังลอยสูงขึ้นไปในชั้นบรรยากาศโลก และหมุนวนไปทางทิศตะวันออก และจะหมุนวนรอบโลกอย่างแน่นอน
สภาพอากาศบนโลกเราเกินเยียวยาแล้ว…จริงหรือ? หรือแท้จริงแล้วยังพอมีวิธีไหนบ้างที่เราสามารถช่วยโลกได้ อาจเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว อย่างการประหยัดไฟ ไม่ใช้พลาสติกประเภท Single Use ช่วยกันลด Food Waste หรือเลือกเพิ่มออกซิเจนให้กับโลกด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวรอบตัวคุณ
และแท้จริงแล้ว มลพิษในอากาศไม่ได้อยู่นอกบ้านเท่านั้น รอบตัวเราก็มีสารพิษปนเปื้อนมากมายที่อยู่ในบ้าน ในออฟฟิศ และระเหยออกมาในอากาศ เช่น ฟอร์มาดีไฮต์ ไซลีน ที่ออกมาจากสีทาบ้าน หรือโทลูอีน เบนซิน ที่ออกมาจากทีวี ซึ่งล้วนเป็นสิ่งของที่มีส่วนผสมของสารเคมี ดังนั้น ในแง่ของประโยชน์ที่เราจะได้รับจึงเริ่มตั้งแต่การลดมลพิษรอบๆ ด้วย
เพราะต้นไม้สามารถดูดสารพิษผ่านกระบวนการคายน้ำทางปากใบ ยิ่งถ้าเป็นต้นไม้ที่มีคุณสมบัติฟอกอากาศได้ เช่น วาสนาอธิฐาน, เยอร์บีรา, เบญจมาศ, หน้าวัว, เศรษฐีเรือนใน, สับปะรดสี, หมากเหลือง, เศรษฐีเรือนแก้ว, สาวน้อยประแป้ง, เฟินบอสตัน, เขียวหมื่นปี, ยางอินเดีย, เดหลี, พลูด่าง, ฟิโลก้านแดง, ฟิโลใบมะละกอ, เสน่ห์จันทร์แดง, ว่านหางจระเข้ ฯลฯ
ต้นไม้ฟอกอากาศเหล่านี้จะคายน้ำได้สูงกว่าต้นไม้ชนิดอื่นๆ การคายน้ำจะทำให้อุณหภูมิบนผิวใบไม้แตกต่างจากอากาศภายนอก เกิดการหมุนเวียนของอากาศรอบๆ ทำให้อากาศที่มีสารพิษไหลลงสู่บริเวณรากพืชที่มีจุลินทรีย์ที่ถูกดึงดูดไว้จำนวนมาก และจุลินทรีย์จะย่อยสารพิษให้กลายเป็นอาหารของพืช ยิ่งต้นไม้ของคุณเติบโตหยั่งรากลึก รากของมันจะดูดซับสารพิษได้อีกทาง สารพิษที่ปนเปื้อนจะถูกดึงไปสู่ดิน จุลินทรีย์จะเปลี่ยนสารพิษที่มากับอากาศให้กลายเป็นอาหารของพืช
หลายๆ องค์กรเริ่มลงมือ และหนึ่งในองค์กรที่เพิ่งชักชวนคนไทยและลูกบ้านแสนสิริลงมือปลูกต้นไม้ผ่านแคมเปญ Sansiri Tree Day ปลูก ‘หนึ่ง’ ให้ถึง ‘แสน’ ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกบ้านแสนสิริก็ได้ เพียงลงมือปลูกต้นไม้คนละ ‘หนึ่งต้น’ ในบ้านหรือพื้นที่รอบตัว ลองคำนวณง่ายๆ ถ้า 100,000 คน ลงมือปลูกต้นไม้แค่คนละ ‘หนึ่งต้น’ เท่ากับว่า เรากำลังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยอัปเกรดปอดให้ประเทศไทย เพิ่มพลังการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยมากถึง 1,000 ตันต่อปี* นี่อาจเป็นการหว่านพืชที่ต้องรอเห็นผลนานหน่อย แต่ต้นไม้ที่เติบใหญ่ในวันข้างหน้าคือเครื่องกรองอากาศรุ่นพิเศษที่ทำงานแทนปอดของคุณตลอด 24 ชั่วโมง งานวิจัยหลายชิ้นยังชี้ให้เห็นว่า การปลูกต้นไม้อาจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
คงไม่ต้องถึงกับทำลายสถิติชาวเอธิโอเปียที่ร่วมใจกันปลูกป่า 350 ล้านต้น 1,000 แห่งทั่วประเทศ ภายในวันเดียว แค่ 1 คน 1 ต้น ไม่ว่าจะอาศัยในคอนโดหรือบ้าน ก็เพิ่มพื้นที่สีเขียวรอบตัวคุณได้ แม้จะไม่สามารถแก้ปัญหามลพิษในวันนี้ วันพรุ่ง แต่การเริ่มตันนับ ‘หนึ่ง’ ตั้งแต่วันนี้ ก็เป็นก้าวสำคัญที่จะลดอุณหภูมิโลก ฝุ่นควัน และสร้างจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เพื่ออนาคตและประชาคมโลกอย่างยั่งยืน
มาร่วมเปลี่ยนแปลงพื้นที่เล็กๆ รอบตัวคุณ ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว
อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพื้นที่รอบตัวคุณเพิ่มเติมได้ที่ siri.ly/P5nDhK1
อ้างอิง:
- *กรมโยธาธิการและผังเมือง, “AGENDA-13 กับการริเริ่มการสร้างสรรค์องค์กรสีเขียว,” www.dpt.go.th, http://eservices.dpt.go.th/eservice_6/ejournal/35/35-05.pdf?journal_edition=35 (สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563)