วันนี้ (24 มกราคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยบุคคลที่เกี่ยวข้อง รับฟังข้อเสนอเชิงนโยบายการควบคุมแอลกอฮอล์ของประเทศไทยจากทีมประเมินระดับโลก ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจาก 6 ประเทศและประเทศไทย ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ผู้แทนสหประชาชาติ และนักวิชาการผู้เกี่ยวข้อง สื่บเนื่องจากประเทศไทยได้ริเริ่ม Joint Assessment Mission to Review Alcohol Control and Strategy เพื่อทบทวนผลการดำเนินงานควบคุมแอลกอฮอล์
ทางด้าน ดร.สาธิต กล่าวว่าจากการที่ทีมประเมินระดับโลก นำโดย ศ.ดร.แซลลี่ แคสเวลล์ หัวหน้าทีมประเมิน ได้กล่าวชื่นชมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทยว่ามีผลงานโดดเด่นหลายด้านในรอบทศวรรษที่ผ่านมา สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศในแถบเอเชีย สำหรับคำแนะนำจากทีมประเมินนั้น บางส่วนได้ดำเนินการแล้ว แต่จะเพิ่มความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น
ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญ เช่น การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี การลดจำนวนและความหนาแน่นของจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การห้ามโฆษณาโดยวิธีการต่างๆ ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะทางสื่อดิจิทัล และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการส่งเสริมการปฏิบัติตามกฎหมาย และสร้างตัวอย่างการมีงานประเพณีที่ดีงาม ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ในส่วนกระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบการจัดบริการให้กับผู้ที่มีปัญหาการดื่มสุราเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น และทีมประเมินยังได้พูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสรรพสามิต ซึ่งข้อเสนอแนะจากทีมประเมินจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เพื่อประยุกต์ใช้ให้การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทยมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่าการลดปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เร็วขึ้น ความมุ่งมั่นและการเป็นผู้นำในการทำงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของรัฐบาลไทยนั้นควรเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะคงบทบาทนำในการขับเคลื่อนมาตรการในการจัดการกับปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป
นอกจากนี้ ศ.ดร.แคสเวลล์ หัวหน้าทีมประเมิน กล่าวชื่นชมประเทศไทยว่ามีผลงานที่โดดเด่นหลายด้านในรอบทศวรรษที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศในแถบเอเชีย มีโครงสร้างกฎหมายที่ดี เครือข่ายทำงานที่เข้มแข็ง และสามารถควบคุมอัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรท่ามกลางปัจจัยกระตุ้นที่รุนแรง
อย่างไรก็ตาม ยังต้องการการมีส่วนร่วมและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง เช่น กฎหมายการห้ามจำหน่ายแก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี รวมทั้งการปรับปรุงข้อกฎหมายให้ทันกับสถานการณ์ โดยเฉพาะการควบคุมการโฆษณา สปอนเซอร์ และการส่งเสริมการขายของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะสื่อดิจิทัล การปรับปรุงระบบการให้ใบอนุญาตขายปลีกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อลดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเยาวชน อีกทั้งการเพิ่มภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำโดยให้สอดคล้องกับภาระเงินเฟ้อ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์