ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ในเมืองเฮก เนเธอร์แลนด์ มีคำสั่งในวันนี้ (23 มกราคม) ให้เมียนมาดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องชนกลุ่มน้อยชาวโรฮีนจา หลังถูกพิจารณาคดีในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากกรณีการกวาดล้างชนกลุ่มน้อยของทหารเมียนมาในรัฐยะไข่เมื่อปี 2017
ศาลโลกซึ่งตั้งขึ้นโดยกฎบัตรสหประชาชาติระบุว่า ชนกลุ่มน้อยชาวโรฮีนจายังคงเผชิญความเสี่ยงกับการถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พร้อมสั่งให้รัฐบาลเมียนมาดำเนินมาตรการเฉพาะกาลเพื่อป้องกันไม่ให้ทหารใช้กำลังฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาอีก
ทั้งนี้ประเทศแกมเบีย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ได้ยื่นฟ้องเมียนมาต่อศาลโลกในนามตัวแทน 57 ชาติสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเมียนมาละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ศาลโลกใช้อำนาจผ่านทุกมาตรการที่ช่วยป้องกันการก่ออาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้อีก
นักกฎหมายได้นำหลักฐานมาแสดง ทั้งแผนที่ ภาพถ่ายทางดาวเทียม ที่บ่งชี้ว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาได้เกิดขึ้นจริงในรัฐยะไข่ ทางตอนเหนือของเมียนมา โดยมีชาวโรฮีนจาถูกเข่นฆ่าจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยถูกข่มขืน อีกทั้งยังถูกเผาไล่ที่จนทำให้ต้องอพยพหนีตายในท้ายที่สุด ขณะที่หน่วยงานสังเกตการณ์รายงานว่าชาวโรฮีนจาได้ลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศมากถึง 7 แสนคน
ศาลโลกระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลเมียนมาไม่ได้ออกมาตรการเพื่อรับประกันสิทธิของชาวโรฮีนจา รวมถึงมาตรการจำเป็นสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ดังนั้นรัฐบาลต้องปฏิบัติตามข้อตกลง รวมถึงต้องเก็บหลักฐานการก่ออาชญากรรม และส่งรายงานกลับให้ศาลโลกภายใน 4 เดือน จากนั้นทุกๆ 6 เดือนจะต้องส่งรายงานความคืบหน้าในการปกป้องชาวโรฮีนจาต่อศาลโลกด้วย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: