×

หุ้นปิโตรเลียม-โรงกลั่นทรุด หลังราคาน้ำมันดิบร่วงแรงมากกว่า 2%

โดย SCB WEALTH
23.01.2020
  • LOADING...

เกิดอะไรขึ้น:

วานนี้ (22 มกราคม) ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานสากล (International Energy Agency: IEA) แถลงว่า สถานการณ์น้ำมันโลกจะเผชิญกับภาวะอุปทานน้ำมันส่วนเกินในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยคาดอุปทานจะเกินกว่าอุปสงค์ราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นของ Shale Oil ในสหรัฐฯ ประกอบกับการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้นักลงทุนในตลาดกังวลว่า หากการแพร่ระบาดยังลุกลามต่อเนื่อง จะกระทบต่อการเดินทางและท่องเที่ยว ส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันลดลง เป็นปัจจัยลบต่อธุรกิจสายการบินที่น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนหลัก 

 

ถ้อยแถลงดังกล่าวส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเมื่อคืนวานนี้ปรับลงแรง โดยราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 56.74 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือลดลง 2.8% DoD ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ลดลงอยู่ที่ระดับ 63.21 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือลดลง 2.1% DoD

 

กระทบอย่างไร:

การปรับตัวลงแรงของน้ำมันดิบคืนวานนี้ ส่งผลให้ราคาหุ้นปิโตรเลียมและโรงกลั่นปรับตัวลงในวันนี้ (23 มกราคม) ได้แก่ บมจ. ไทยออยล์ (TOP) ลดลง 6.47% DoD, บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ลดลง 3.77% DoD, บมจ.เอสโซ่ (ประเทศไทย) (ESSO) ลดลง 2.88% DOD, บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) ลดลง 1.81% DoD, บมจ.ปตท. (PTT) ลดลง 1.62% DoD และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ลดลง 1.53% DoD (ข้อมูล ณ 12.30 น.)

 

มุมมองระยะสั้น:

SCBS มองว่า ความกังวลเรื่องไวรัสโคโรนานั้นเป็นเพียง Sentiment เชิงลบที่เข้ามากระทบในระยะสั้น เนื่องจากในอดีต ผลกระทบจากโรคระบาดต่อธุรกิจโรงกลั่นยังไม่เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ชัดเจน อาทิ การระบาดของโรคซาร์ส ช่วงปี 2556-2557 ช่วงนั้นโรงกลั่นหลายแห่งเพิ่งเข้าจดทะเบียนในเดือนตุลาคม 2557 ซึ่งสถานการณ์ขณะนั้นบรรเทาลงไปมากแล้วจึงไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนการระเบิดของโรคเมอร์สเมื่อปี 2558 หุ้นโรงกลั่นแม้จะปรับลง แต่ก็เป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ดิ่งลงแรงเป็นหลัก

 

มุมมองระยะยาว:

SCBS มองว่า ระยะยาวปัจจัยที่มีผลต่อราคาน้ำมันมาจากอุปสงค์และอุปทานเป็นหลัก โดยฝั่งอุปสงค์นั้นมีตัวแปรสำคัญอยู่ที่ภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งยังมีแนวโน้มขยายตัวช้า แม้ว่าสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน จะคลี่คลายลงก็ตาม จึงทำให้คาดว่าการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์น้ำมันในปีนี้อาจไม่มากนัก 

 

ขณะที่ฝั่งอุปทาน ตัวแปรสำคัญอยู่ที่การผลิตของกลุ่มนอกโอเปก (Non-OPEC) โดยเฉพาะจากฝั่งสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะพุ่งขึ้นกว่า 11% YoY ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 13.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน SCBS จึงมองว่าทิศทางราคาน้ำมันในปีนี้อาจปรับขึ้นได้ไม่มากนัก 

 

อย่างไรก็ดี ยังมีตัวแปรสำคัญอีกประเด็น คือ กลุ่ม OPEC ที่จะมีการประชุมวันที่ 5-6 มีนาคมนี้ เพื่อพิจารณาว่าจะยังคงลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบต่อไปอีกหรือไม่ ซึ่งจะช่วยลดทอนผลกระทบจากอุปทานล้นตลาดได้ นอกจากนี้ สถานการณ์ในตะวันออกกลางที่ยังมีความสุ่มเสี่ยงเกิดความไม่สงบได้ทุกเมื่อ ก็เป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยผลักดันราคาน้ำมันขึ้น

 

ขณะที่ผู้ประกอบการปิโตรเลียม-โรงกลั่นนั้น ราคาน้ำมันถือเป็นปัจจัยที่มีผลโดยตรงต่อผลประกอบการ ซึ่งปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก ทั้งจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์-ต้นทุน และการขาดทุนสินค้าคงคลัง ซึ่งได้สะท้อนผ่านมายังราคาหุ้นที่ปรับลงต่อเนื่องทำระดับต่ำสุดในรอบหลายปี 

 

ส่วนในปีนี้ SCBS เชื่อว่า แนวโน้มผลประกอบการน่าจะทยอยฟื้นตัวได้จากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว แต่จะสามารถฟื้นตัวขึ้นได้ต่อเนื่องในปีต่อๆ ไปหรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่ต้องติดตามดูกันต่อไป

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

OPEC มีสัดส่วนกำลังการผลิตน้ำมันดิบราว 55% ของทั้งโลก ขณะที่ปัจจุบัน สหรัฐฯ และรัสเซียซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่ม OPEC มีกำลังการผลิตเป็นอันดับที่หนึ่งและสองของโลก ส่วนซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของกลุ่ม OPEC มีกำลังการผลิตน้ำมันเป็นอันดับที่สาม ในเชิงเปรียบเทียบนั้น สหรัฐฯ มีกำลังการผลิตคิดเป็นราว 13% ของการผลิตทั้งโลก รัสเซียอยู่ที่ 11% และซาอุดีอาระเบียอยู่ที่ 10%

 

หมายเหตุ % DoD คือ % การเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับวันทำการก่อนหน้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X