ผลกระทบจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรมของมนุษยชาติไม่เพียงมีแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น หลายต่อหลายครั้งที่การทำเหมือง การขุดเจาะน้ำมัน ยังส่งผลให้แผ่นดินไหวปะทุขึ้นทั่วโลกอีกด้วย
ไมล์ส วิลสัน (Miles Wilson) นักอุทกธรณีวิทยาประจำมหาวิทยาลัยเดอร์แฮม พร้อมด้วยคณะ เปิดเผยฐานข้อมูลแผ่นดินไหวที่กระตุ้นโดยมนุษย์ (HiQuake) ที่บรรจุข้อมูลขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดในโลก ด้วยตัวอย่างแผ่นดินไหว 728 ครั้ง ในรอบ 149 ปีที่มีแนวโน้มว่าอาจเกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์
ด้วยเงินทุนจากบริษัทขุดเจาะก๊าซและน้ำมัน Dutch Petroleum Society ทีมงานได้นำข้อมูลที่ค้นคว้าจากฐานข้อมูลหรือสื่อมารวมกัน เพื่อชี้ให้เห็นว่าสาเหตุของแผ่นดินไหวมีหลากหลายกรณี และเพื่อศึกษาเตรียมรับมือภัยในอนาคต
จากข้อมูลระบุว่า โครงการและกิจกรรมส่วนใหญ่ที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อพื้นพิภพ อาจทำให้มีแผ่นดินไหวขนาดเล็กที่ระดับแมกนิจูด 3-4 ต่อเนื่องกันหลายครั้ง จนนำไปสู่การเกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรง อย่างแผ่นดินไหวขนาด 7.8 แมกนิจูด เมื่อปี 2015 ในประเทศเนปาล ที่กลายเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ที่พรากชีวิตคนมากกว่า 9,000 ราย
ประวัติแผ่นดินไหวครั้งแรกสุดที่อยู่ในฐานข้อมูล HiQuake มาจากเหตุแผ่นดินไหวจากการขุดเหมืองในออสเตรเลียเมื่อปี 1868
เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่บันทึกไว้ 271 ครั้งจากทั้งหมด มีความเชื่อมโยงกับการทำเหมือง โดยเฉพาะผลจากเหมืองถล่ม อีก 23% มาจากเขื่อนเก็บกักน้ำมหาศาล ตามมาด้วยโครงการพัฒนาก๊าซและน้ำมัน 15% ส่วนการขุดเจาะน้ำมันแบบ Hydraulic Fracturing สร้างแผ่นดินไหวเพียง 4% แต่ที่น้อยไปกว่านั้นคือการสร้างตึกระฟ้าและการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์
แผ่นดินไหวจากการกระตุ้นโดยมนุษย์ครั้งรุนแรงที่สุดคือ เหตุแผ่นดินไหวขนาดแมกนิจูด 7.9 ในมณฑลเสฉวน เมื่อปี 2008 ที่มีผู้เสียชีวิตนับ 87,500 ราย และบาดเจ็บถึง 374,643 คน
ทีมวิจัยเผยว่า แผ่นดินไหวหลายครั้งเกิดขึ้นจากการเคลื่อนย้ายมวลขนาดใหญ่บริเวณผิวโลก ซึ่งเป็นการกระตุ้นแผ่นดินไหวที่ส่อจะปะทุอยู่แล้วให้เกิดเร็วขึ้น
พวกเขาแนะนำว่า จำเป็นต้องควบคุมปริมาณหรือขนาดวัสดุต่างๆ ที่ถูกเคลื่อนย้ายในโครงการก่อสร้าง เพื่อลดโอกาสเกิดแผ่นดินไหวหรือลดความรุนแรงลง
อย่างไรก็ตาม HiQuake ถูกวิจารณ์ในเรื่องการคัดสรรข้อมูล โดยนักธรณีฟิสิกส์ Raphel Grandin ในฝรั่งเศสมองว่า ตัวอย่างที่นำมาไว้ในฐานข้อมูลนั้นไม่ได้เป็นผลมาจากน้ำมือมนุษย์ทั้งหมด และอาจทำให้ผู้คนเข้าใจถึงความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่ถูกกระตุ้นโดยมนุษย์คลาดเคลื่อนได้
อ้างอิง: