ย้อนดูการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา
องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) ในช่วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมาหลายครั้ง โดยการประกาศภาวะดังกล่าวจะต้องมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้อย่างน้อย 2 ถึง 4 ข้อ ซึ่งจะต้องเป็นเหตุการณ์ที่มีผลกระทบด้านสาธารณสุขร้ายแรง เป็นเหตุการณ์ผิดปกติและไม่เคยคาดคิดมาก่อน มีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่ระบาดข้ามประเทศ รวมถึงมีความเสี่ยงสูงที่จะจำกัดการเดินทางหรือการค้าระหว่างประเทศ
ในช่วงปี 2002-2003 เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซาร์ส ตระกูลไวรัสโคโรนา (SARS-CoV) ในแถบมณฑลกวางตุ้งของจีนและฮ่องกง ก่อนที่จะระบาดไปยังหลายประเทศทั่วโลก พบการระบาดมากสุดที่จีน ฮ่องกง ไต้หวัน แคนาดา สิงคโปร์ องค์การอนามัยโลกระบุมีผู้ติดเชื้อ 8,096 ราย มีผู้เสียชีวิต 774 ราย (31 ธันวาคม 2003)
ก่อนที่จะมีการเห็นชอบกฎอนามัยระหว่างประเทศ หรือ IHR (2005) และบังคับใช้ตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2007 เป็นต้นมา โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศประมาณ 5 ครั้งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009/H1N1 หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ไข้หวัดหมู’ ที่พบผู้ติดเชื้อในกว่า 130 ประเทศโลก คาดมีผู้เสียชีวิตหลายแสนราย
ช่วงกลางปี 2014 มีการประกาศภาวะฉุกเฉินอีกครั้ง หลังพบการแพร่ระบาดของไวรัสโปลิโอ ทั้งสายพันธ์ุรุนแรงก่อโรคและสายพันธ์ุวัคซีนกลายพันธ์ุ โดยเฉพาะในอัฟกานิสถาน ปากีสถาน โดยองค์กร Polio Eradication ระบุว่า เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา ยังพบผู้ป่วยโปลิโอทั่วโลกสูงถึง 422 ราย ซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศให้ทุกประเทศช่วยกันกวาดล้างโปลิโอให้หมดไปตั้งแต่ปี 1988
การประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งต่อมา เกิดขึ้นหลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาแถบแอฟริกาตะวันตกไปแล้วระยะหนึ่ง ก่อนที่จะพบผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกาและในยุโรป โดย World Vision ระบุว่า สิ้นสุดปี 2016 มีผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลาราว 28,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตราว 11,000 ราย นับเป็นการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาที่รุนแรงและซับซ้อนที่สุดในประวัติศาสตร์
ตามมาด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสซิกาที่มียุงเป็นพาหะนำโรค ระบาดในกว่า 90 ประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นประเทศแถบลาตินอเมริกาและหมู่เกาะแคริบเบียน โดย ResearchGate ระบุว่า มีผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาสูงราว 4 ล้านคน เฉพาะในทวีปอเมริกาเมื่อปี 2016 ก่อนที่จะมีการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสอีโบลาในดีอาร์คองโกและยูกันดา ตั้งแต่ปี 2018 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2,241 ราย
โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ประชุมวาระเร่งด่วนเมื่อวานนี้ (30 มกราคม) ที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะตัดสินใจประกาศให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) เป็นภาวะฉุกเฉินด้านการสาธารณสุขระหว่างประเทศแล้ว
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- https://www.who.int/csr/sars/country/table2004_04_21/en/
- https://edition.cnn.com/2013/08/23/health/h1n1-u-s-fast-facts/index.html
- http://polioeradication.org/polio-today/polio-now/this-week/
- https://www.worldvision.org/health-news-stories/2014-ebola-virus-outbreak-facts
- https://www.who.int/en/news-room/fact-sheets/detail/zika-virus
- https://www.who.int/en/news-room/detail/01-02-2016-who-statement-on-the-first-meeting-of-the-international-health-regulations-(2005)-(ihr-2005)-emergency-committee-on-zika-virus-and-observed-increase-in-neurological-disorders-and-neonatal-malformations
- https://www.researchgate.net/figure/Zika-virus-infection-has-rapidly-emerged-as-a-significant-global-threat-See-text-for_fig2_305824229
- https://www.who.int/news-room/detail/18-10-2019-statement-on-the-meeting-of-the-international-health-regulations-(2005)-emergency-committee-for-ebola-virus-disease-in-the-democratic-republic-of-the-congo
- https://who.maps.arcgis.com/apps/opsdashboard/index.html#/e70c3804f6044652bc37cce7d8fcef6c
- http://www.theglobaldispatch.com/mers-does-not-constitute-a-public-health-emergency-of-international-concern-pheic-emergency-committee-32451/
- https://centerforvaccineethicsandpolicy.net/2013/07/20/who-statement-second-meeting-of-the-ihr-emergency-committee-concerning-mers-cov-pheic-conditions-not-met/