เกิดอะไรขึ้น:
วานนี้ (16 มกราคม) บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (dtac) เปิดเผยว่า อเล็กซานดรา ไรช์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 หลังจากดำรงตำแหน่งได้เพียง 17 เดือน และได้แต่งตั้ง ชารัด เมห์โรทรา ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารแทน โดยชารัดปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเทเลนอร์ ประเทศเมียนมา และมีประสบการณ์การทำงานร่วมกับเทเลนอร์ กรุ๊ป (Telenor) มาตั้งแต่ปี 51 ในตำแหน่งผู้บริหารในหลากหลายประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย
สำหรับสาเหตุในการลาออกของ อเล็กซานดรา ไรช์นั้น หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นฉบับวันนี้ (17 มกราคม) รายงานว่า มาจากความขัดแย้งเรื่องการประมูล 5G ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งอเล็กซานดรามีความประสงค์ให้ dtac เข้าร่วมการประมูลในครั้งนี้ เพื่อไม่ต้องการให้เกิดข้อครหาว่า dtac ไม่มีคลื่น 5G ซ้ำรอยกับเมื่อ 2 ปีก่อน ที่ dtac ไม่เข้าประมูลคลื่น 4G จนทำให้ส่วนแบ่งการตลาดตกลงไปเป็นที่ 3 แต่ขณะที่ทาง Telenor ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 42.6% ของ dtac ไม่ต้องการเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ เพราะต้องการรอประมูลคลื่น 3500 MHz ช่วงปลายปีนี้ จึงเป็นเหตุให้มีการลาออกดังกล่าว
กระทบอย่างไร:
วันนี้ (17 มกราคม) ราคาหุ้น dtac เปิดตลาดปรับลดลงทันทีที่ 46.00 บาท จากราคาปิดวันก่อนหน้าที่ 51.25 บาท ลดลง 9.36%DoD ด้วยแรงขายที่หนาแน่น ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ 49.00 บาท ในการซื้อขายระหว่างวัน
มุมมองระยะสั้น:
SCBS มองว่า การลาออกของ อเล็กซานดรา ไรช์ ซีอีโอของ dtac เป็นเพียง Sentiment เชิงลบระยะสั้นต่อราคาหุ้น และไม่ได้กระทบต่อผลการดำเนินงานของ dtac อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ นักลงทุนคงต้องติดตามการยื่นเอกสารประมูล 5G ซึ่งจะมีขึ้นวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ต้องจับตาว่า dtac จะยื่นเข้าร่วมประมูลหรือไม่ โดยก่อนหน้านี้ dtac ได้มารับเอกสารการประมูลแล้ว ถ้าข้อมูลจากข่าวเบื้องต้นเป็นจริง จะทำให้ตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันประมูล 5G โดยเฉพาะคลื่น 2600 MHz แต่การแข่งขันในกลุ่มอุตสาหกรรมยังมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น เนื่องจาก dtac จะเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงรายเดียวที่ไม่มีบริการ 5G และมีแนวโน้มที่จะปกป้องส่วนแบ่งตลาดของตนไว้ด้วยการออกโปรโมชันเชิงรุก แม้ dtac ไม่เคยใช้กลยุทธ์ดังกล่าวมาก่อน
มุมมองระยะยาว:
SCBS มองว่า dtac ยังมีความท้าทายจากจำนวนผู้ใช้บริการที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ ต้องติดตามว่า dtac จะใช้กลยุทธ์ใดในการรักษาฐานลูกเก่า และหาลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น ล่าสุด (3 ธันวาคม 2562) dtac ได้มีการลงนามข้อตกลง Business Cooperation Framework กับ บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (TTTBB) เพื่อออกผลิตภัณฑ์ร่วมกัน
ข้อมูลเพิ่มเติม:
บมจ. เทเลนอร์ กรุ๊ป (Telenor) ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านโทรคมนาคมและบริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ข้ามชาติของนอร์เวย์ และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ใน บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (dtac)
หมายเหตุ: %DoD คือ % การเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับวันทำการก่อนหน้า
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล