ช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่า 7% เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเพราะปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไทยเกินดุลการค้า คือมีรายได้จากต่างประเทศ เช่น การส่งออก การท่องเที่ยวมากกว่าการนำเข้า ขณะเดียวกันปัจจัยเสี่ยงทั่วโลกยังทำให้เงินสกุลหลัก รวมถึงสกุลเงินเพื่อนบ้านในภูมิภาคอ่อนค่าลง
ดังนั้นช่วงที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ซึ่งเป็นผู้กำกับของไทยเข้าดูแลค่าเงินบาทต่อเนื่อง โดย เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 เกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ไม่ได้เป็นผลจากการเก็งกำไรระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเห็นได้จากทั้งปี 2562 เม็ดเงินลงทุนต่างชาติสุทธิเป็นการไหลออก
“ช่วงที่ผ่านมา ธปท. มีการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป ผ่านการเข้าไปซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐและขายเงินบาท ซึ่งส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เงินทุนสำรองฯ เพิ่มขึ้นเกือบ 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.41 ล้านล้านบาท) ซึ่งถือเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้จากการค้าขายสินค้าและบริการกับต่างประเทศ โดยหาก ธปท. ไม่ได้เข้าไปดูแล เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เห็นในปัจจุบัน”
ทั้งนี้การแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ ‘การเกินดุลการค้าต่อเนื่อง’ และ ‘การออกไปลงทุนในต่างประเทศที่ยังมีน้อย’ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ค่าเงินไม่ได้แข็งค่าขึ้นเท่าประเทศไทย เนื่องจากมีการนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนมากขึ้น และยังช่วยลดความกดดันต่อค่าเงินได้ด้วย ซึ่งการดูแลค่าเงิน มาตรการการคลังในระยะสั้น แม้จะจำเป็นต้องใช้ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ดังนั้นการแก้ปัญหานี้ควรแก้โดยทุกภาคส่วน เช่น
- เพิ่มการนำเข้า อาจจะผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือลงทุนเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงการผลิต ซึ่งถือเป็นจังหวะที่ดีในช่วงที่ต้นทุนการนำเข้าจะถูกลงเพราะเงินบาทแข็ง
- ลดแรงซื้อบาทจากภาคส่งออก เช่น การเก็บรายได้ไว้ในบัญชีเงินตราต่างประเทศ (FCD) หรือการหักชำระรายจ่ายและแลกเฉพาะส่วนที่เหลือ
- สนับสนุนการออกไปลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน จะมีส่วนช่วยให้เกิดแรงผลักดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ ที่ผ่านมา ธปท. ได้ดำเนินมาตรการเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น และผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้การนำเงินออกไปลงทุนทำได้สะดวกยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ธปท. และภาครัฐยังคงติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทและมีการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องถึงแนวทางในการช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และพร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติมหากเห็นว่าจำเป็น
ณ วันที่ 3 มกราคม 2563 เงินสำรองระหว่างประเทศในรูปแบบดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 227,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.87 ล้านล้านบาท) สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูล
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า