เกิดอะไรขึ้น:
ช่วงเช้าวันศุกร์ที่ 3 มกราคม 2563 ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent Crude) ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 4.5% DoD และราคาน้ำมันดิบดับเบิลยูทีไอ (WTI Crude) เพิ่มขึ้น 4.4% DoD หลังจากมีรายงานว่า นายพล กัสซิม โซเลมานี ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองกำลัง Quds Force ของอิหร่านถูกสังหารโดยกองทัพของสหรัฐฯ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก
อย่างไรก็ดี ผู้นำอิหร่านได้ประกาศเตรียมตอบโต้สหรัฐฯ อย่างรุนแรง พร้อมประกาศไว้อาลัยทั่วประเทศเป็นเวลา 3 วัน นอกจากนี้กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ได้เปิดเผยว่าการสังหารนายพล กัสซิม ในครั้งนี้มีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้อนุมัติคำสั่ง ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสกัดการโจมตีของอิหร่านที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ขณะที่ช่วงเช้าของวันนี้ (6 มกราคม) ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ยังคงปรับขึ้นต่อ 1.6% DoD และราคาน้ำมันดิบดับเบิลยูทีไอเพิ่มขึ้นอีก 1.3% หลังจากปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา
โดยเมื่อวันเสาร์ที่ 4 มกราคม 2563 มีรายงานช่วงเช้าว่ากองกำลังของอิรักถูกโจมตีทางอากาศใกล้เคียงกับแคมป์ทาจิ ทางตอนเหนือของกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 9 คน และบาดเจ็บสาหัส 3 คน ขณะที่วันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม 2563 เวลา 00.01 น. มีรายงานว่าสถานทูตและฐานทัพของสหรัฐฯ ณ กรุงแบกแดด ประเทศอิรัก ถูกโจมตีด้วยจรวด 2 ลูก ต่อมาทรัมป์ได้ทวีตข้อความว่าสหรัฐฯ ได้เตรียมจุดโจมตีไว้ 52 แห่งเรียบร้อยแล้ว พร้อมขู่อีกว่าหากอิหร่านโจมตีฐานทัพหรือประชาชน สหรัฐฯ จะตอบโต้ทันทีโดยไม่ลังเล
ในช่วงบ่าย อิหร่านได้ชักธงรบสีแดงเลือดขึ้นเหนือสุเหร่าศักดิ์สิทธิ์จามคาราเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เพื่อประกาศพร้อมทำสงครามเต็มรูปแบบ และยิงขีปนาวุธถล่มเขตทหารและสถานทูตสหรัฐฯ ในช่วงเย็นอิหร่านแถลงว่าจะเลิกปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 และในช่วงดึก รัฐสภาอิรักมีมติเอกฉันท์ขับไล่กองทัพสหรัฐฯ ออกจากประเทศอิรัก
ทั้งนี้ความตึงเครียดในตะวันออกกลางเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นจากการที่สหรัฐฯ ส่งกำลังทหาร 750 นายเข้าไปประจำการในภูมิภาคเพิ่มเติม ภายหลังจากกองกำลังติดอาวุธและผู้ประท้วงชาวอิรักซึ่งคาดว่าได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านบุกสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงแบกแดดเมื่อช่วงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เพื่อตอบโต้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของกองทัพสหรัฐฯ ต่อกองกำลังติดอาวุธพีเอ็มเอฟ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านบริเวณชายแดนติดกับอิรักและซีเรียก่อนหน้านี้ ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 25 ราย
กระทบอย่างไร:
เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2563 หลังปิดตลาดฯ ราคาหุ้นปิโตรเลียมต้นน้ำ (Upstream) และหุ้นโรงกลั่นปรับเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นสวนทางตลาดหุ้นที่ปรับตัวลง เช่น
- บมจ.ปตท. (PTT) เพิ่มขึ้น 2.2% DoD
- บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เพิ่มขึ้น 1.96% DoD
- บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) เพิ่มขึ้น 4.59% DoD
- บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เพิ่มขึ้น 1.41% DoD
ทั้งยังส่งผลให้หุ้นธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน ทั้ง บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) และ บมจ.ซัสโก้ (SUSCO) เพิ่มขึ้น 6.75% DoD และ 1.40% DoD ตามลำดับ
ขณะที่เช้าวันนี้ราคาหุ้นปิโตรเลียมต้นน้ำ (Upstream) และหุ้นโรงกลั่นยังคงบวกต่อตามทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยดัชนีกลุ่ม ENERG บวกราว 1% DoD สวนทาง SET Index ที่ปรับตัวลง -0.9% DoD จากความกังวลด้านปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
- ราคาหุ้น ESSO เพิ่มขึ้น 4.35% DoD
- PTTEP เพิ่มขึ้น 3.46% DoD
- PTT เพิ่มขึ้น 2.15% DoD
- SUSCO เพิ่มขึ้น 2.07% DoD
- IRPC เพิ่มขึ้น 2.04% DoD
- TOP เพิ่มขึ้น 1.39% DoD
- SPRC เพิ่มขึ้น 0.88% DoD
(ข้อมูล ณ เวลา 10.20 น.)
มุมมองระยะสั้น:
SCBS มองว่าประเด็นดังกล่าวน่าจะเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมันดิบในแง่เซนทิเมนต์ช่วงสั้น เนื่องจากข้อเท็จจริงแล้วยังไม่มีแหล่งผลิตหรือท่อส่งน้ำมันใดถูกโจมตีได้รับความเสียหายจนกระทั่งต้องปิดดำเนินการชั่วคราว
แต่สิ่งที่ต้องติดตามต่อคือความขัดแย้งภายในภูมิภาคตะวันออกกลางกันเอง โดยเฉพาะอิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมักจะมีการโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันโดยตรง หากในระยะสั้นนี้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวจริงก็จะส่งผลให้อุปทานน้ำมันลดน้อยลง และจะหนุนราคาน้ำมันดิบได้ต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง ซึ่งหุ้นปิโตรเลียมและโรงกลั่นของไทยก็น่าจะได้อานิสงส์เชิงบวกตามไปด้วย
มุมมองระยะยาว:
แนวโน้มของราคาน้ำมันดิบโลกในระยะยาวยังคงขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานเป็นหลัก ปัจจุบันยังอยู่ในภาวะอุปทานส่วนเกินอยู่ จากแหล่งผลิตที่อยู่นอกกลุ่ม OPEC โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ที่กลายมาเป็นผู้ผลิตน้ำมันต่อวันได้สูงที่สุดในโลก
ขณะที่อุปสงค์ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ในขณะนี้จึงเป็นการควบคุมอุปทาน ซึ่งยังต้องติดตามดูถึงแนวนโยบายในการพยุงราคาของกลุ่ม OPEC ไม่ว่าจะเป็นการตัดลดกำลังการผลิต การจำกัดการส่งออก โดยราคาน้ำมันดิบนั้นเป็นตัวแปรสำคัญต่อผลการดำเนินงานของบริษัทปิโตรเลียมและโรงกลั่นในไทย
ข้อมูลพื้นฐาน:
น้ำมันดิบจะมีชื่อเรียกตามแหล่งผลิต ซึ่งจะช่วยให้ทราบถึงที่มาและคุณภาพของน้ำมันดิบที่จะนำมาทำการซื้อขายกันในทั้งตลาดปกติและตลาดล่วงหน้า โดยแหล่งน้ำมันดิบที่สำคัญในโลกนั้นมีอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) และน้ำมันดิบดับเบิลยูทีไอ (WTI) โดยน้ำมันดิบเหล่านี้มีแหล่งผลิตและคุณภาพที่แตกต่างกันไป ดังนี้
1. น้ำมันดิบดูไบ (Dubai Crude) เป็นน้ำมันดิบจากแหล่งน้ำมันใต้ทะเลทรายในเอเชียตะวันออกกลาง น้ำมันดิบที่ได้จากบริเวณนี้จะมีลักษณะที่เรียกว่าหนักและเปรี้ยว หรือที่เรียกกันว่า Heavy Sour Crude โดยน้ำมันดิบดูไบจะมีค่าความหนาแน่นจำเพาะ (API Gravity) ประมาณ 31 ดีกรี และมีปริมาณซัลเฟอร์ประมาณ 2%
2. น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent Crude) มีแหล่งผลิตอยู่ในทะเลเหนือ (North Sea) หรือทะเลที่อยู่ระหว่างเกาะอังกฤษและคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย น้ำมันดิบเบรนท์ถือว่าเป็นน้ำมันเบาและหวาน (Light Sweet Crude) เนื่องจากมีค่า API อยู่ที่ประมาณ 39 ดีกรี และมีปริมาณซัลเฟอร์อยู่ที่ประมาณ 0.4%
3. น้ำมันดิบดับเบิลยูทีไอ (WTI Crude) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ West Texas Intermediate เป็นน้ำมันดิบอ้างอิงที่สำคัญในทวีปอเมริกา น้ำมันดิบ WTI เป็นน้ำมันประเภทเบาและหวาน (Light Sweet Crude) โดยมีค่า API อยู่ที่ประมาณ 37-42 ดีกรี และมีปริมาณซัลเฟอร์อยู่ที่ประมาณ 0.24%
ราคาของน้ำมันดิบทั้ง 3 ประเภทนี้มีอิทธิพลต่อการซื้อขายน้ำมันดิบทั่วโลก เนื่องจากในการซื้อและขายน้ำมันดิบประเภทอื่นๆ ก็จะใช้การเปรียบเทียบความแตกต่างของคุณภาพน้ำมันดิบนั้นๆ กับน้ำมันดิบที่ใช้อ้างอิงในภูมิภาค เช่น น้ำมันดิบโอมานในตะวันออกกลางก็จะอ้างอิงกับน้ำมันดิบดูไบ หรือน้ำมันดิบยูรอล (Urals Crude Oil) ในรัสเซียก็จะอ้างอิงกับน้ำมันดิบเบรนท์ เป็นต้น
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: เอกสารของตลาดอนุพันธ์ โดย ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ