ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลงานเด่นของรัฐบาลในช่วง 5 เดือนแรกเพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ครอบคลุม 3 ด้านสำคัญคือ คมนาคม รายได้เกษตรกร และผู้มีรายได้น้อย ดังนี้
1. การขยายโครงสร้างคมนาคม
ดูแลประชาชนในการเดินทางและลดมลพิษ ด้วยการขยายโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ซึ่งนับเป็นผลงานต่อเนื่องมาจากรัฐบาลที่แล้ว เฉพาะในกรุงเทพมหานคร ได้มีการขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ อาทิ สายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค, บางซื่อ-ท่าพระ) 14 กม., สายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) 19 กม., สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) 22 กม., สายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) 15 กม., สายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) 26.3 กม., สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) 34.5 กม. และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) 30 กม. เมื่อรถไฟฟ้าเปิดใช้บริการครบทั้งหมด จะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางของคนกรุง ลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล นำไปสู่การลดมลพิษทางอากาศในที่สุด นอกจากนี้รัฐบาลได้เปิดทำการอาคารพักผู้โดยสารหลังที่ 2 ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง พัทยา ซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสารจากทั้งในและต่างประเทศได้ 3-5 ล้านคนต่อปี โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา จะยกระดับส่งเสริมการเชื่อมโยงการเดินทางสู่พื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมทั้งภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมในพื้นที่ ทำให้เกิดการจ้างงานและการกระจายความเจริญสู่เศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่โดยรอบ EEC
2. รายได้เกษตรกร
ดูแลพี่น้องเกษตรกร ทั้งโครงการประกันรายได้สำหรับพืชเศรษฐกิจหลักหลายชนิด ซึ่งได้เริ่มจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างตรงเข้าบัญชีเกษตรกรไปแล้ว และยังมีมาตรการคู่ขนานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาของสินค้าเกษตร เช่น การอุดหนุนปัจจัยการผลิตสำหรับชาวนาผู้ปลูกข้าว ช่วยเหลือค่าปลูก 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน ช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน รวมตลอดถึงมาตรการสินเชื่อชะลอการขาย สินเชื่อรวบรวมผลผลิต นอกจากนี้นโยบายรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมัน ด้วยการกำหนดให้น้ำมันไบโอดีเซล B10 เป็นน้ำมันดีเซลหมุนเร็วพื้นฐาน ได้ส่งผลให้ราคาปาล์มสูงขึ้น เกิดประโยชน์โดยตรงกับเกษตรกรโดยไม่ต้องใช้งบประมาณของรัฐบาลเข้าไปพยุงราคา
3. มาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อย
ดูแลผู้มีรายได้น้อย ด้วยมาตรการลดค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เช่น ขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าไม่เกินครัวเรือนละ 50 หน่วย และมาตรการช่วยเหลือค่าน้ำไม่เกินครัวเรือนละ 100 บาท ไปจนถึงกันยายน 2563 และยังคงมาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ เช่น ค่าเดินทางเดือนละไม่เกิน 500 บาท ค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเดือนละ 200/300 บาท คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% เมื่อใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการ อีก 1% โอนเข้ากองทุนการออมแห่งชาติในนามเจ้าของบัตรสวัสดิการ เป็นต้น รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อย ผ่านการพัฒนาทักษะอาชีพ การหางานให้ทำ และการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยกำลังอยู่ในขั้นตอนการทบทวนปรับปรุงตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีให้สามารถช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้สามารถหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างยั่งยืน
รัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อยกระดับมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน พร้อมกับพัฒนาประเทศไปข้างหน้า ซึ่งยังมีผลงานที่ปรากฏผลเป็นรูปธรรมและที่กำลังดำเนินงานอีกมาก ซึ่งรัฐบาลจะได้บอกเล่าสู่ประชาชนให้ได้รับรู้และติดตามอย่างต่อเนื่องต่อไปด้วย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า