แม้ตลอดปี 2019 มวยรุ่นซูเปอร์เฮฟวีเวตระหว่างสหรัฐฯ และจีนอาจมีพักยก สงบศึกการค้าเป็นบางช่วง หรือรอมชอมกันเรื่องมาตรการภาษีหลายครั้ง แต่ในภาพใหญ่ เรายังเห็นความคุกรุ่นของสงครามการค้าหลายระลอกที่สร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงิน สะเทือนห่วงโซ่อุปทาน และสร้างแรงกระเพื่อมต่อระบบเศรษฐกิจโลกอย่างทั่วถึงกัน
เกือบทั่วโลกในทุกภูมิภาคต่างถูกลูกหลงจนเศรษฐกิจบอบช้ำ บ้างชะลอตัวจนเสี่ยงถดถอย บ้างเติบโตไม่เต็มศักยภาพและอาจซวนเซสู่ทิศทางขาลง ไม่รวมหลายประเทศที่กำลังฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินรอบก่อน แต่เมื่อปีนถึงปากเหว กลับต้องเจอมรสุมและดำดิ่งสู่วังวนความถดถอยอีกระลอก
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้หั่นคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก (GDP) ในปี 2020 เหลือ 3.4% จาก 3.6% โดยปัจจัยสำคัญคือสงครามการค้าที่ยังสร้างความไม่แน่นอน และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อภาคการผลิตและการลงทุนทั่วโลก
ความกังวลนี้สะท้อนให้เห็นได้จากสปีชแรกของ คริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการกองทุน IMF คนใหม่ เธอเตือนว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกใกล้ถึงจุดหยุดนิ่งแล้ว เพราะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนสร้างความเสียหายต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยาวนานหนึ่งชั่วอายุคน ขณะที่บริษัทหลายแห่งที่เคยตั้งฐานผลิตสินค้าในจีนอาจมองหาทางเลือกอื่นๆ เพื่อหลีกหนีกำแพงภาษี
IMF มองว่า โมเมนตัมเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว จากทิศทางขาขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน สู่ทิศทางขาลงหรือภาวะชะลอตัวที่ฉุดรั้งโดยสงครามการค้าเป็นปัจจัยสำคัญ
นอกจากนี้การต่อสู้ขับเคี่ยวระหว่างสหรัฐฯ และจีน เพื่อช่วงชิงความเป็นเจ้าเทคโนโลยี 5G จะสร้าง ‘กำแพงเบอร์ลินดิจิทัล’ ขึ้น ซึ่งบีบให้ประเทศต่างๆ ต้องเลือกระบบเทคโนโลยีของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจเบอร์ 1 และ 2 ของโลกมีมากมายมหาศาล โดย IMF ประเมินคร่าวๆ ว่าอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าราว 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2020 หรือเทียบเท่าขนาดเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ทั้งประเทศเลยทีเดียว
เรามาประมวลดูว่าตลอดปี 2019 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปเกิดอะไรขึ้นบ้างในสมรภูมิการค้าระหว่างสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ก่อนจะไปพยากรณ์ว่ามรสุมในปี 2020 จะเป็นเช่นไร และไทยควรเตรียมพร้อมรับมืออย่างไร เพื่อพลิกวิกฤตเป็นโอกาส
เดือนมกราคม – เจรจาระหว่างพักรบ
จากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อมาจากปี 2018 จีนและสหรัฐฯ ตกลงหันหน้าจับเข่าพูดคุย ซึ่งเป็นสัญญาณบวกตั้งแต่ต้นปี โดยผู้แทนการค้าของสองฝ่ายเริ่มเจรจาการค้าที่กรุงปักกิ่งในวันที่ 7 มกราคม ซึ่งถือเป็นการพบกันระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลครั้งแรกนับจากที่สหรัฐฯ และจีนตกลงสงบศึกการค้าชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน (จนถึงวันที่ 1 มีนาคม)
การเจรจาแบ่งเป็น 2 ประเด็นใหญ่ คือ ประเด็นการค้าที่ครอบคลุมปัญหาขาดดุลการค้าในบางเซกเตอร์ และประเด็นเชิงโครงสร้าง เช่น ปัญหาการบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยีของฝ่ายจีน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และกำแพงการค้าที่ไม่ใช่ภาษี
ภายหลังการเจรจา กระทรวงพาณิชย์จีนออกแถลงการณ์ยืนยันว่า สองฝ่ายได้วางรากฐานเพื่อหาทางออกในประเด็นที่ต่างฝ่ายต่างวิตกกังวล ขณะที่สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ระบุว่าจีนรับปากจะสั่งซื้อสินค้าในหมวดเกษตรกรรม พลังงาน อุตสาหกรรม รวมถึงบริการจากสหรัฐฯ แต่ปัญหาใหญ่ที่มีอยู่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งสองฝ่ายจะติดต่อสื่อสารกันอย่างใกล้ชิดต่อไป
ช่วงปลายเดือน ผู้แทนจากสหรัฐฯ และจีนหารือกันต่อเป็นเวลา 2 วันที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งจีนเสนอซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ในปริมาณ 5 ล้านตัน ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะพบกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงในเดือนกุมภาพันธ์
เดือนกุมภาพันธ์ – สัญญาณบวก
แม้ทรัมป์กลับลำ โดยระบุว่าจะไม่พบผู้นำจีนก่อนที่ข้อตกลงพักรบจะสิ้นสุดลงในวันที่ 1 มีนาคม
ทว่าต่อมาในช่วงกลางเดือน ตัวแทนจากสหรัฐฯ และจีนได้พบกันอีกครั้งที่เมืองหลวงของจีน โดยสีจิ้นผิงได้ต้อนรับคณะเจรจาจากวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณบวก โดยหลังเสร็จสิ้นการเจรจาครั้งนี้ สองฝ่ายตกลงกันว่าจะหารือกันต่อที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในสัปดาห์ถัดไป เนื่องจากยังมีความเห็นที่ไม่ลงรอยในหลายประเด็น
การหารือที่เมืองหลวงของสหรัฐฯ เป็นไปด้วยดี โดยทรัมป์ได้พบกับหลิวเหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน พร้อมแสดงความเห็นที่เป็นบวกเกี่ยวกับข้อตกลงการค้า ซึ่งหลายวันให้หลัง ทรัมป์ประกาศว่าจะขยายเส้นตายข้อตกลงพักรบกับจีนออกไปจากวันที่ 1 มีนาคม เนื่องจากสองฝ่ายมีการเจรจาที่คืบหน้า
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ไม่ได้ระบุวันเวลาของเส้นตายใหม่ แต่แสดงความคาดหวังว่าสีจิ้นผิงจะเดินทางไปเยือนรีสอร์ตตากอากาศมาร์อาลาโกของทรัมป์ในรัฐฟลอริดาในเดือนมีนาคม เพื่อเซ็นข้อตกลงการค้าระหว่างกัน
เดือนมีนาคม – ท่าทีรอมชอมของจีน
ผู้แทนของสองฝ่ายหารือกันที่กรุงปักกิ่งในช่วงปลายเดือนมีนาคม หลังจากที่ไม่ได้พบกันนานเกือบ 1 เดือน ซึ่งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดตั้งกลไกติดตามการปฏิบัติตามข้อตกลงของจีน
ต่อมาสิ้นเดือน จีนได้ตัดสินใจขยายเวลาระงับมาตรการภาษีเพิ่มเติมกับยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่นำเข้าจากสหรัฐฯ หลังมีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน โดยก่อนหน้านี้จีนได้ใช้มาตรการตอบโต้โดยเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าเหล่านั้นที่อัตรา 25% จากระดับมาตรฐาน 15% แต่ได้ระงับไปในเดือนธันวาคม
เดือนเมษายน – จัดตั้งกลไก
สถานการณ์สงครามการค้าได้พลิกผันกลับมาตึงเครียดอีกระลอก หลังจีนประกาศแบนผลิตภัณฑ์ยาเฟนทานิลทุกชนิดที่นำเข้าจากสหรัฐฯ
การเจรจาการค้ารอบใหม่จัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ทรัมป์พบหลิวเหอ รองนายกฯ จีนอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้สองฝ่ายกำหนดกรอบเวลาคร่าวๆ ว่า สหรัฐฯ และจีนจะทำข้อตกลงให้แล้วเสร็จภายใน 4 สัปดาห์
สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า สหรัฐฯ กับจีนตกลงกันที่จะจัดตั้งสำนักงานติดตามและบังคับคู่สัญญาให้ปฏิบัติตามข้อตกลงการค้า
ต่อมาช่วงปลายเดือน คณะเจรจาของสองฝ่ายได้หารือกันที่กรุงปักกิ่ง โดยมนูชินเผยในวันที่ 1 พฤษภาคมว่าการเจรจาครั้งนี้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์
เดือนพฤษภาคม – ตอบโต้
ทรัมป์เตือนว่าสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีศุลกากรกับสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากอัตรา 10% เป็น 25% โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม มุ่งเป้าไปที่สินค้านำเข้าในบัญชีที่ 3 ซึ่งเริ่มเรียกเก็บที่อัตรา 10% ตั้งแต่เดือนกันยายน 2018 และเดิมมีกำหนดขึ้นภาษีเป็น 25% ในวันที่ 1 มกราคม 2019 แต่ได้ออกเลื่อนไปในภายหลัง
นอกจากนี้ทรัมป์ยังประกาศขึ้นภาษีกับสินค้ารายการใหม่อีกมูลค่า 3.25 แสนล้านดอลลาร์ ที่อัตรา 25% โดยให้เหตุผลว่าจีนพยายามแก้ไขเนื้อหาในข้อตกลง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จีนตอบโต้โดยประกาศขึ้นภาษีกับสินค้าอเมริกันมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยมีผลในวันที่ 1 มิถุนายน ครอบคลุมผลิตภัณฑ์เนื้อวัว, เนื้อลูกแกะ, เนื้อหมู, ผัก, น้ำผลไม้, น้ำมันประกอบอาหาร, ชา, กาแฟ, ตู้เย็น และเฟอร์นิเจอร์
วันที่ 16 พฤษภาคม สหรัฐฯ ประกาศขึ้นบัญชีดำ Huawei บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ของจีน โดยห้ามบริษัทสหรัฐฯ ขายผลิตภัณฑ์หรือติดต่อธุรกิจกับ Huawei หากไม่ได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานสหรัฐฯ
มิถุนายน – สมุดปกขาว
จีนเริ่มเรียกเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าสหรัฐฯ ตั้งแต่ 10-25% ครอบคลุมมูลค่าการค้า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นสินค้าประเภทที่เก็บจากอัตรา 5% เป็น 10%, อัตรา 10% เป็น 20% และ 10% เป็น 25%
นอกจากนี้จีนยังออกสมุดปกขาวว่าด้วยท่าทีต่อการเจรจาทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-สหรัฐฯ ซึ่งมีเนื้อหาประณามมาตรการกีดกันการค้าและการลงโทษเพียงฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ
ช่วงกลางเดือน ทรัมป์และสีจิ้นผิงหารือกันทางโทรศัพท์ และตกลงกันที่จะพบกันบนเวทีประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่นครโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายน โดยก่อนหน้านี้ทรัมป์ขู่ว่าจะขึ้นภาษีกับสินค้าจีนที่เหลืออีก 3 แสนล้านดอลลาร์ ครอบคลุมผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และเสื้อผ้า ซึ่งมีการทำประชาพิจารณ์จนถึงวันที่ 2 กรกฎาคม
ต่อมากระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศขึ้นบัญชีดำบริษัทและองค์กรจีนอีก 5 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท Sugon, สถาบันเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ Wuxi Jiangnan, บริษัท Higon, บริษัท Chengdu Haiguang Integrated Circuit และบริษัท Chengdu Haiguang Microelectronics Technology โดยห้ามไม่ให้บริษัทอเมริกันขายชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบให้บริษัทเหล่านี้หากรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่อนุมัติ
ช่วงปลายเดือน ความตึงเครียดเริ่มคลี่คลาย จีนและสหรัฐฯ ตกลงสงบศึกชั่วคราวเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีก่อนที่สองผู้นำจะหารือกันบนเวที G20 หลังจากนั้นสองฝ่ายยอมตกลงที่จะรื้อฟื้นการเจรจาระหว่างกัน นอกจากนี้ทรัมป์ยังประกาศผ่อนปรนมาตรการแบนการส่งออกสินค้าให้กับบริษัท Huawei ของจีน
กรกฎาคม – เจรจาการค้าที่เซี่ยงไฮ้ไม่คืบหน้า
คณะบริหารของทรัมป์ประกาศยกเว้นการเก็บภาษีอัตรา 25% กับสินค้าจีน 110 รายการ ซึ่งมีผลบังคับเป็นเวลา 1 ปีนับจากวันที่ 9 กรกฎาคม
นอกจากนี้ วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังเผยว่ารัฐบาลได้ออกใบอนุญาตให้บางบริษัทในสหรัฐฯ ค้าขายกับ Huawei ได้ หากไม่พบภัยคุกคามด้านความมั่นคง แต่ Huawei ยังคงอยู่ในบัญชีดำ (Entity List) ต่อไป
กลางเดือนกรกฎาคม ทรัมป์กลับมาขู่อีกครั้งว่าจะขึ้นภาษีสินค้าจีนมูลค่า 3.25 แสนล้านดอลลาร์
โรเบิร์ต ไลต์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ พร้อมด้วยสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลัง และหลิวเหอ รองนายกรัฐมตรีจีน หารือเป็นเวลา 2 วันที่นครเซี่ยงไฮ้ของจีน ซึ่งเป็นการพบปะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสองประเทศครั้งแรกนับตั้งแต่ซัมมิต G20 แต่ผลการเจรจาคืบหน้าเพียงน้อยนิด โดยสองฝ่ายตกลงกันที่จะประชุมกันอีกครั้งในเดือนกันยายน
การพูดคุยกันครั้งนี้โฟกัสไปที่ข้อตกลงการนำเข้าถั่วเหลือง, เนื้อหมู, เอทานอล และสินค้าเกษตรอื่นๆ จากสหรัฐฯ ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าจะผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร Huawei
สิงหาคม – ตาต่อตา ฟันต่อฟัน
ทรัมป์ประกาศว่าสหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีศุลกากรที่อัตรา 10% กับสินค้านำเข้ามูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน สืบเนื่องจากการเจรจาที่เซี่ยงไฮ้ได้ผลลัพธ์ไม่เป็นที่พอใจ ถึงแม้จีนยืนยันว่าจะนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นก็ตาม
มาตรการใหม่จะมีผลทำให้สินค้าส่งออกของจีนเกือบทั้งหมดที่มีปลายทางในสหรัฐฯ จะต้องถูกเรียกเก็บภาษี ซึ่งรวมไปถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเสื้อผ้า นอกจากนี้ทรัมป์ยังขู่ขึ้นภาษีสินค้าจีนที่ถูกเรียกเก็บไปก่อนหน้านี้ (มูลค่าการค้า 2.5 แสนล้านดอลลาร์) ในอัตราสูงสุด 25% หากจีนไม่รีบดำเนินการเพื่อให้บรรลุข้อตกลงการค้ากับฝ่ายสหรัฐฯ
จากนั้นวันที่ 6 สิงหาคม กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศตีตราว่าจีนเป็นประเทศปั่นค่าเงิน หลังสกุลเงินหยวนอ่อนค่าลงแตะระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี โดยฝ่ายสหรัฐฯ มองว่าจีนพยายามควบคุมค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบในการส่งออก ซึ่งเป็นการตอบโต้มาตรการภาษีชุดใหม่ของทรัมป์ อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของจีนปฏิเสธว่าจีนไม่เคยใช้เงินหยวนเป็นเครื่องมือในการรับมือกับความขัดแย้งทางการค้า พร้อมยืนยันว่า อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินหยวนเคลื่อนไหวกลไกอุปสงค์อุปทานในตลาด
ในวันเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์จีนออกแถลงการณ์ว่า บริษัทจีนหลายแห่งได้ระงับการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ
ผ่านไปราว 1 สัปดาห์ สถานการณ์พลิกผันอีกครั้ง เมื่อ USTR ประกาศเลื่อนการบังคับใช้มาตรการภาษีชุดใหม่กับสินค้าจีนออกไปเป็นวันที่ 15 ธันวาคม แต่ของเดิมยังมีผลบังคับใช้ตามกำหนดการในวันที่ 1 กันยายน
วันที่ 23 สิงหาคม จีนประกาศเก็บภาษีกับสินค้าส่งออกของสหรัฐฯ มูลค่าการค้า 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นสินค้า 5,078 รายการ ที่จะถูกจัดเก็บภาษีที่อัตรา 5% และ 10% ซึ่งยังแบ่งเป็นการเรียกเก็บตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน และอีกส่วนเริ่มวันที่ 15 ธันวาคม
นอกจากนี้จีนยังอนุมัติมาตรการเก็บภาษีกับรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์นำเข้าที่อัตรา 5% และ 25% เริ่มตั้งวันที่ 15 ธันวาคม โดยก่อนหน้านี้จีนได้ยกเว้นภาษีส่วนนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม
วันที่ 26 สิงหาคม หลิวเหอ รองนายกฯ จีนในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาของปักกิ่ง ได้เรียกร้องให้ลดความตึงเครียดระหว่างกัน โดยระบุว่าสงครามการค้าที่เป็นอยู่ส่งผลเสียต่อทั้งสหรัฐฯ และจีน จากนั้นทรัมป์เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า สหรัฐฯ จะกลับเข้าโต๊ะเจรจากับจีน เนื่องจากจีนร้องขอและต้องการทำข้อตกลง
กันยายน – ฟ้องร้อง WTO
สหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีกับสินค้าจีนมูลค่า 1.25 แสนล้านดอลลาร์ในวันที่ 1 กันยายน ครอบคลุมสินค้าประเภทรองเท้า, ผ้าอ้อม, อาหาร, สมาร์ทวอตช์, เครื่องล้างจาน และทีวีจอแบน
ขณะที่ฝ่ายจีนก็เริ่มเก็บภาษีกับสินค้าสหรัฐฯ มูลค่า 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงการเก็บภาษีน้ำมันดิบที่อัตรา 5%
2 กันยายน จีนยื่นหนังสือฟ้องร้องสหรัฐฯ ต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อคัดค้านการเรียกเก็บภาษีที่มีผลต่อสินค้าส่งออกรวมมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์
ถัดมา 3 วัน สองฝ่ายตกลงกันที่จะเจรจากันรอบที่ 13 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในช่วงต้นเดือนตุลาคม
จากนั้นจีนประกาศรายชื่อสินค้าสหรัฐฯ 16 ชนิดที่ได้รับการยกเว้นภาษีเป็นเวลา 1 ปี จากวันที่ 17 กันยายน 2019 ถึง 16 กันยายน 2020 ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ยาฆ่าแมลง, อาหารสัตว์, สารหล่อลื่น และยาบำบัดมะเร็ง
ขณะเดียวกัน ทรัมป์ทวีตข้อความใน Twitter ว่า สหรัฐฯ จะเลื่อนการขึ้นภาษีกับสินค้าจีนมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ จากวันที่ 1 ตุลาคม เป็น 15 ตุลาคม เพื่อเห็นแก่จีนที่เฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน และเพื่อแสดงเจตนาที่ดี
หลังสหรัฐฯ เลื่อนขึ้นภาษี จีนก็ตอบแทนด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เช่น ถั่วเหลือง และเนื้อหมู
ปลายเดือนกันยายน สหรัฐฯ เปิดเผยรายชื่อสินค้าจีนที่ได้รับการยกเว้นการขึ้นภาษีราว 437 รายการ ครอบคลุมผลิตภัณฑ์เคมี, สิ่งทอ, อุปกรณ์กลไกและอิเล็กทรอนิกส์ และเหล็ก
ตุลาคม – ข้อตกลงการค้าเฟส 1
หนึ่งในความคืบหน้าสำคัญสู่การยุติสงครามการค้าที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2018 เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศภายหลังการเจรจาระดับทวิภาคีที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ว่า สหรัฐฯ และจีนได้บรรลุข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 แต่ยังต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์ในการจัดทำเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเนื้อหาสำคัญของข้อตกลงคือจีนจะสั่งซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ มูลค่า 4-5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี รวมถึงให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น
นอกจากนี้ทรัมป์ยังประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีกับสินค้าจีนมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเดิมจะเรียกเก็บเพิ่มจากอัตรา 25% เป็น 30% ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม
จากนั้นวันที่ 18 ตุลาคม สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ประกาศยกเว้นการเก็บภาษีกับสินค้าจีนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ที่อัตรา 15% ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2019 ถึง 31 มกราคม 2020 จากเดิมที่เรียกเก็บมาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน
พฤศจิกายน – ทยอยลดกำแพงภาษี
ผู้แทนเจรจาของสหรัฐฯ และจีนหารือกันทางโทรศัพท์ และเห็นพ้องในหลักการเจรจาการค้ารอบถัดไป ซึ่งทำเนียบขาวระบุว่ามีความคืบหน้าในหลายด้าน
ต่อมาจีนและสหรัฐฯ ตกลงที่จะทยอยลดกำแพงภาษีระหว่างกันในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน เมื่อสองฝ่ายลงนามในข้อตกลงเฟสแรกแล้ว
ธันวาคม – Happy Ending?
สองฝ่ายยืนยันอีกครั้งว่าได้บรรลุข้อตกลงการค้าเฟสที่ 1 ก่อนหน้ามาตรการภาษีชุดใหม่จะมีผลบังคับใช้เพียงไม่กี่วัน โดยสหรัฐฯ ประกาศเพิ่มเติมว่าจะไม่เก็บภาษีอัตรา 15% กับสินค้าอุปโภคบริโภคมูลค่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเดิมจะมีผลบังคับในวันที่ 15 ธันวาคม ครอบคลุมสินค้าสมาร์ทโฟน ไปจนถึงคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป
นอกจากนี้สหรัฐฯ จะลดอัตราภาษีที่เรียกเก็บกับสินค้าจีนมูลค่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์ จาก 15% เหลือ 7.5% อย่างไรก็ตาม สินค้าอีกมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ยังคงถูกจัดเก็บภาษีที่อัตรา 25% ตามเดิม ทว่าสหรัฐฯ มีแผนลดภาษีเพิ่มเติม หากการเจรจากับจีนมีความคืบหน้า
ขณะที่จีนตกลงที่จะเปิดตลาดสำหรับสินค้าและบริการของสหรัฐฯ อย่างน้อย 2 แสนล้านดอลลาร์ ตลอดช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยจะนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ปีละมูลค่า 4-5 หมื่นล้าน ในปี 2020 และ 2021
ทิศทางสงครามการค้าปี 2020 ไทยควรเตรียมตัวอย่างไร เพื่อพลิกวิกฤตเป็นโอกาส
จะเห็นได้ว่าในรอบปี 2019 ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีลักษณะลุ่มๆ ดอนๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ซึ่งสร้างความไม่แน่นอน และส่งกระทบเป็นวงกว้างต่อทั้งห่วงโซ่อุปทาน และความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก ถึงแม้ปลายปีจีนและสหรัฐฯ จะสามารถฝ่าทางตันด้วยข้อตกลงฉบับประวัติศาสตร์ได้ก็ตาม
ผลพวงและความไม่แน่นอนของสงครามการค้ายังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารโลก (World Bank) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของ GDP ไทยในปี 2020 เหลือเพียง 2.9% ซึ่งหากเทียบกับปี 2018 ที่ขยายตัว 4.1% แล้ว ถือว่าโตช้าลงมาก แม้ว่าอาจกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยจากตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโต 2.7% ในปี 2019 ก็ตาม โดยทั้งภาคการส่งออกและบริการ ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยต่างก็ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าอย่างหลีกหนีไม่พ้น
แนวโน้มสงครามการค้าปี 2020 ไทยควรเตรียมตัวอย่างไร
รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เชื่อว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีโอกาสยืดเยื้อต่อในปี 2020 เพราะเทรดวอร์จะกลายเป็นประเด็นที่ทั้งพรรครีพับลิกันของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และเดโมแครตใช้ในการหาเสียงตั้งประธานาธิบดีสมัยหน้า โดยสงครามการค้าถือเป็น 1 ใน 2 ประเด็นใหญ่ที่ทรัมป์เลี้ยงไว้ใช้ในแคมเปญหาเสียง ส่วนอีกประเด็นคือการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี
กรณีของจีนนั้น เดโมแครตมีนโยบายที่ไม่ต่างจากรีพับลิกันมากนัก เพราะจะเห็นได้จากกฎหมายหลายๆ ฉบับที่ผลักดันออกมาในสภาคองเกรส ล้วนเสนอโดยสองพรรคนี้พร้อมๆ กัน หรือที่เราเรียกว่า Bipartisan ซึ่งที่ผ่านมามีการเสนอแนวคิดควบคุมไม่ให้บริษัทจีนระดมเงินทุนจากตลาดหุ้นนิวยอร์กได้ง่ายๆ หรือการไม่ให้กองทุนบำเหน็จบำนาญของอเมริกาเข้าไปซื้อหุ้นจีนหรือลงทุนในประเทศจีน รวมถึงมาตรการควบคุมการขายสินค้าไฮเทคทั้งหลายให้กับจีน เป็นต้น
ความเคลื่อนไหวข้างต้นสะท้อนถึงทัศนคติของสองพรรคการเมืองใหญ่สหรัฐฯ ที่มีต่อจีน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่สงครามการค้าจะยืดเยื้อต่ออีกปีเป็นอย่างน้อย หรือจนกระทั่งรู้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีหลังวันที่ 3 พฤศจิกายน
ด้วยเหตุนี้ตลอดทั้งปี 2020 จึงมีความไม่แน่นอนสูง การลงทุนระยะยาวในภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ที่ไม่ใช่ตลาดหุ้น เช่น อุตสาหกรรมต่างๆ ที่ใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้จุดคุ้มทุน จะมีแนวโน้มชะลอตัวลง รวมถึงในไทยด้วย เพราะส่วนใหญ่จะชะลอการลงทุนไปก่อน โดยอยู่ในโหมด Wait and See หรือรอดูสถานการณ์ก่อนตัดสินใจ
ดร.สมภพ มองว่า นักลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศจะตั้งการ์ดสูง เพราะฝุ่นจะตลบจากการเผชิญหน้าในสมรภูมิความขัดแย้งทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ เมื่อฝุ่นตลบมาก ก็ไม่มีใครที่อยากเสี่ยงลงทุนในช่วงนี้
เพราะฉะนั้นเราควรรับมืออย่างไร?
สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกคือ เมื่อเอกชนไม่ลงทุน รัฐบาลก็ควรเป็นคนลงทุนเอง เพื่อเตรียมพร้อมไว้เผื่อว่าทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง หากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนสงบลง หรือคลี่คลายไปในทางที่ดี ไทยก็จะสามารถเปิดเกมรุกต่อได้ทันที
เพราะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะแล้วเสร็จ ถ้ารอจนฝุ่นหาย ทัศนวิสัยดีแล้วค่อยลงทุน มันช้าไม่ทันการณ์
ดังนั้นการลงทุนของภาครัฐจะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้นในช่วงที่ภาคเอกชนชะลอตัว
ดร.สมภพ ให้ทัศนะว่า ถึงแม้นโยบายแนวประชานิยมของรัฐบาล เช่น ชิมช้อปใช้ อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง หลังจากที่แผ่วลง โดย GDP ไทยเติบโตไม่ถึง 3% ขณะที่การส่งออกติดลบ แต่ลำพังจะดำเนินนโยบายด้านนี้เพียงด้านเดียวมันไม่เพียงพอ รัฐบาลต้องคำนึงถึงศักยภาพและความสามารถของประเทศในระยะยาวด้วย
ยิ่งตอนนี้มีสงครามการค้า จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของทิศทางการไหลเวียนในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ซึ่งไทยและอาเซียนจะได้ประโยชน์
ที่ผ่านมาเวียดนามได้ประโยชน์อย่างมากจากสงครามการค้าที่กำลังคุกรุ่น รวมถึงเมียนมา กัมพูชา และลาวก็ได้ประโยชน์เช่นกัน ส่วนไทยจะได้ประโยชน์มากกว่านี้หากเปิดเกมรุกมากขึ้น
สำหรับไทยจำเป็นต้องจับทิศทางการย้ายฐานการผลิตของโลก เพราะมีแนวโน้มสูงที่จะเกิดการไหลออกของเงินทุนในจีน ไม่ว่าจะเป็นทุนจีนเอง หรือทุนต่างชาติในจีน ซึ่งตอนนี้ทุนจีนไหลเข้าเวียดนามเป็นว่าเล่น เพราะเป็นตลาดที่เน้นแรงงานเข้มข้น (Labour-intensive Industry) ซึ่งเหมาะกับจีนมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน
จีนใช้เวียดนาม กัมพูชา ลาว และเมียนมาเป็นฐานการผลิตเสื้อผ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เพราะค่าแรงที่ถูกกว่า นอกจากนี้ยังสามารถขายสินค้าให้กับประชากรในประเทศเหล่านั้นได้ด้วย
เพราะฉะนั้นไทยควรปรับตัวโดยมุ่งเน้นการเป็นตลาดหรืออุตสาหกรรมที่ใช้ปัจจัยทุนเข้มข้น (Capital-intensive Industry) มากกว่า เนื่องจากที่ผ่านมาจีนรองรับเงินลงทุนจากต่างชาติอย่างมหาศาล และมีโอกาสที่การลงทุนของเกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น รวมทั้งชาติตะวันตกอาจย้ายฐานบางส่วนออกจากจีน
ขยายความอุตสาหกรรมแบบ Capital Intensive เพิ่มเติมก็คือ เป็นตลาดที่เน้นแรงงานมีทักษะ ค่าจ้างสูง และใช้เทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า แตกต่างจากอุตสาหกรรม Labour Intensive ที่เน้นแรงงานเข้มข้นโดยที่ไม่ต้องการทักษะมาก และมีค่าแรงต่ำ
อย่างไรก็ตาม การย้ายฐานการลงทุนจะเกิดขึ้นระลอกใหญ่ หรือเกิดการย้ายฐานห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อย่างยกใหญ่ หากทรัมป์ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัย
แต่เราจะรอจนรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ แล้วค่อยตัดสินใจทำอะไรมันช้าเกินไป ดังนั้นจึงต้องคิดตั้งแต่ตอนนี้ว่าจะทำให้เม็ดเงินไหลเข้าไทยได้อย่างไรเมื่อเกิดการย้ายฐานการผลิต
โดยภาคอุตสาหกรรมหรือเซกเตอร์ในไทยที่จะได้ประโยชน์ตามความเห็นของ ดร.สมภพ ก็คือเซกเตอร์ที่เน้นใช้เทคโนโลยีมากขึ้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือไทยต้องยกระดับอุตสาหกรรม โดยเน้นการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D Based Investment) และต้องใช้เทคโนโลยีอย่างเข้มข้น เพราะค่าแรงในไทยไม่ได้ถูกเหมือนเพื่อนบ้านแล้ว
อีกประเด็นน่าสนใจคือ ประเทศไทยยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งได้อย่างเต็มที่ “จุดแข็งของเราคือมีเศรษฐกิจมหภาคที่เข้มแข็ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากเงินบาทที่แข็งค่าอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้”
เศรษฐกิจมหภาคเช่นอะไรบ้าง ไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศมากถึง 50% ของ GDP หรือราว 2.11 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งติดทำเนียบอันดับต้นๆ ของโลก แม้แต่จีนที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศมหาศาลถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์ ก็ยังน้อยกว่าไทยเยอะเมื่อเทียบตามสัดส่วนต่อ GDP ในประเทศ เพราะจีนมีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 14 ล้านล้านดอลลาร์
ทุนสำรองมากหมายถึงอะไร หมายถึงคุณมีเครื่องมือป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น เหมือนคุณมีน้ำที่จะช่วยดับไฟได้มาก
อีกหนึ่งจุดแข็งของไทยคือ เงินไม่ค่อยเฟ้อ หรืออัตราเงินเฟ้อต่ำ ซึ่งทำให้ตัวแปรนี้ไม่ได้คุกคามค่าครองชีพของประชาชนมากเท่าใดนัก
ต่อมาคือหนี้สาธารณะของรัฐบาลก็อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ คือ 42% ของ GDP ซึ่งแสดงว่ารัฐบาลไทยมีความคล่องตัวสูง เพราะมีภาระหนี้ไม่เยอะ
อีกจุดแข็งคือไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างมหาศาล เงินไหลเข้ามากกว่าเงินไหลออก
ตัวแปรที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นตัวแปรที่ดี เพียงแต่ไทยใช้ประโยชน์จากมันได้ไม่เต็มที่ เพราะไม่ได้ทำให้ปัจจัยระดับจุลภาค (Micro) ขับเคลื่อนไปข้างหน้า เนื่องจากการลงทุนไม่ได้เกิดขึ้นเป็นเรื่องเป็นราว โดยเฉพาะภาคเอกชนที่ลงทุนต่ำ ขณะที่การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนก็ค่อนข้างระมัดระวังตัว
ซึ่งแม้ว่าไทยจะมีปัจจัยเศรษฐกิจมหภาคที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน หรือแม้แต่เอเชีย (ยกเว้น สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ที่อาจมีดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจมหภาคที่เข็มแข็งในกลุ่มเดียวกับไทย) แต่ที่ผ่านมาก็ใช้ประโยชน์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะไทยไม่มีความพร้อมที่จะทำให้ต่างชาติตัดสินใจหันมาลงทุนในไทย โดยเฉพาะการขาดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
ยกตัวอย่างเช่น ถึงแม้ไทยจะมีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) แต่ก็ผลักดันได้ไม่เร็วเท่าที่ควร
อีกประการคือโครงการระบบคมนาคมที่เกี่ยวพันกัน ไม่ว่าจะเป็นโครงการทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เช่น ท่าเรือ สนามบิน รถไฟทางคู่ ก็ไม่คืบหน้า ต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนทำเองไม่ได้ เพราะแพงเกินไปจนไม่ดึงดูดการลงทุน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องลงทุนเพื่อวางรากฐานสิ่งเหล่านี้
ความชัดเจนของนโยบายก็เป็นเรื่องสำคัญ คือต้องทำให้ต่างชาติเห็นว่ามาลงทุนในไทยดีกว่าไปลงทุนในประเทศอื่น
โลกระบบสองขั้ว
ดร.สมภพ วิเคราะห์ว่าสงครามการค้ามีทีท่าว่าจะไม่ยุติลงง่ายๆ เพราะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน เป็นความขัดแย้งในเชิงระบบด้วย ไม่ใช่แค่ปัญหาการขาดดุลการค้าเพียงอย่างเดียว แต่ครอบคลุมความแตกต่างในเรื่องระบบอย่างน้อย 5-6 เรื่อง
หนึ่ง ระบบการเมืองต่างกันมากระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ สองคือระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจีนเป็นสังคมนิยมที่ขับเคลื่อนด้วยกลไกตลาด ส่วนสหรัฐฯ เป็นทุนนิยมเสรี สามคือระบบธุรกิจ ตรงนี้เห็นได้ชัดจากระบบในสหรัฐฯ ที่ขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน ขณะที่จีนขับเคลื่อนโดยรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้สองประเทศยังมีความแตกต่างในเรื่องระบบสังคม เทคโนโลยี รวมถึงความมั่นคงและการทหาร
เพราะฉะนั้นเมื่อความแตกต่างเหล่านี้ยังดำรงอยู่ ความขัดแย้งจึงไม่มีทางที่จะยุติลงได้ง่ายๆ ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปในปี 2020 ก็ตาม
ไทยเป็นประเทศที่อยู่ตรงกลางจึงทำอะไรกับเกมการเมืองระหว่างสองมหาอำนาจไม่ได้ เพราะฉะนั้นไทยต้องเตรียมตัวอย่างไร
หนึ่งก็คือเราต้องบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ เปรียบเหมือนเวลาช้างสารชนกัน คุณก็ต้องไม่ไปอยู่ใต้เท้าช้าง และสองคือต้องตอบคำถามให้ได้ว่าจะเก็บเกี่ยวประโยชน์ด้านบวกจากวิกฤตได้อย่างไร
เมืองไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ จากเดิมที่เน้นส่งออกเยอะๆ ซึ่งเป็นมุกเก่าแล้ว เมื่อโครงสร้างเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว การใช้การค้าต่างประเทศเป็นตัวนำ โดยพึ่งพาการส่งออกมากๆ คิดเป็น 50%-60% ของ GDP อย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ถือเป็นเรื่องยากและไม่อาจทำให้ไทยอยู่รอดได้
เพราะอเมริกากับจีนทำสงครามการค้ากัน ซึ่งต่างคนต่างปกป้องตลาดด้วยกันทั้งคู่ ทรัมป์มีนโยบาย America First หรืออเมริกาต้องมาก่อน ส่วนจีนมี China’s Dream ที่กำลังปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจโดยหันไปให้ความสำคัญกับการบริโภคภายในประเทศเพื่อเป็นขุมพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่
จีนสามารถดำเนินนโยบายต่างๆ ได้ง่ายกว่า เพราะมีคนจำนวนมหาศาล มากกว่าสหรัฐฯ 4-5 เท่า จีนจะใช้การบริโภคภายในประเทศเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศ เมื่อเขามุ่งพัฒนาภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น เราก็ต้องดูว่าโมเดลนี้มีผลต่อเรา หรือส่งผลกระทบต่ออาเซียนอย่างไร
ประเทศไทยจะได้เปรียบ แต่ไทยต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เช่น การส่งออกน้อยลงไม่ได้หมายความถึงการลดปริมาณการส่งออก แต่คือการทำให้สัดส่วนมันน้อยลง ซึ่งก็คือการทำให้ GDP มีโอกาสเติบโตขึ้นโดยที่ไม่จำเป็นต้องลดยอดส่งออกที่เป็นอยู่
GDP จะโตขึ้นได้ต้องเปลี่ยนแนวทางพัฒนา โดยเฉพาะภาคบริการ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 51% ของ GDP ในขณะที่สหรัฐฯ หรือประเทศเศรษฐกิจชั้นนำในยุโรปอย่างเยอรมนีมีสัดส่วนมากกว่า 80% และในยุโรปเกือบทุกประเทศต่างเกิน 70% หมด
เพราะฉะนั้นไทยควรหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบนิเวศภาคบริการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (ไฮเทค) เช่น Smart Tourism, Smart Healthcare, Smart Entertainment และ Smart Food Service เป็นต้น
ไม่ว่าประเทศไหน ทั้งจีนหรืออินเดีย เมื่อประชาชนมีเงินมากขึ้นก็มีแนวโน้มที่จะไปท่องเที่ยวต่างประเทศ หากไทยเป็นฮับ Smart Healthcare ก็จะสามารถดึงดูดคนจำนวนมากให้มารักษาโรคที่ประเทศไทยด้วยบริการอัจฉริยะแบบครบวงจร
ข้อมูลจาก MarketWatch ระบุว่า Smart Healthcare เป็นเทรนด์ตลาดที่กำลังมาแรง โดยนักวิเคราะห์อุตสาหกรรมคาดว่า ตลาด Smart Healthcare มีแนวโน้มเติบโตถึง 24.1% ในช่วงระหว่างปี 2019-2023
ดังนั้นไทยจึงควรทำให้ภาคบริการโตขึ้นเพื่อรองรับโอกาสใหม่ๆ สิ่งที่ต้องทำคือขยายตัวเมืองให้กระจายไปมากกว่านี้ ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่แต่ในกรุงเทพฯ อย่างเดียว ซึ่งจะทำให้เรามีทางเลือกใหม่ๆ ในการพัฒนา โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาการส่งออกดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
การปรับตัวในยุคสงครามเย็น 2.0
ดร.สมภพ วิเคราะห์ว่าเรามีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่สงครามเย็นยุคใหม่ เพราะสหรัฐฯ และจีนต่างฝ่ายต่างไม่ยอมถอย อเมริกาถือว่าจีนเป็นคู่แข่ง ไม่ใช่แค่ด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่เป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ด้วย เช่น เรื่องการเมือง และความมั่นคง
เพราะฉะนั้นเมื่อถึงจุดนี้แล้ว ทั้งสองชาติก็จะต้องแข่งขันกันบนเวทีโลกในมิติ 5 ด้านที่กล่าวไว้ข้างต้น ได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และการทหาร
เมื่อเกิดการแข่งขันกันก็จะทำให้เกิดสงครามเย็นในรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่การทำสงครามต่อสู้กันเพื่ออุดมการณ์การเมืองแบบเอาเป็นเอาตาย ซึ่งประเทศเล็กๆ ก็จะต้องปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่ไหนแต่ไรมา เราได้ยินคำว่า ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ หรือ One Country Two Systems ทว่าจากนี้ไปอาจมีคำว่า One World Two Systems หรือ ‘หนึ่งโลก สองระบบ’ ก็ได้ โดยเป็นการแบ่งขั้วระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นสองประเทศผู้นำในโมเดลตรงกันข้าม หรือเราอาจเรียกง่ายๆ ว่าระบบของอเมริกากับระบบของจีน
เมื่อสหรัฐฯ หวาดระแวงจีนกับการขยายอิทธิพลเพื่อจัดระเบียบโลกใหม่ด้วยโมเดลสังคมนิยม แต่ในอีกด้านจีนก็ยอมรับระบบทุนนิยมของสหรัฐฯ ไม่ได้เช่นกัน จึงเป็นการบ้านของทั้งคู่ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร แต่ประเด็นสำคัญคือเราจะอยู่อย่างไรในโลกแบบนี้จึงจะปลอดภัยที่สุด นี่คือสิ่งที่เราต้องคิด เพราะเราจะไปคิดแทนสองชาตินั้นไม่ได้เพราะพวกเขาเป็นมหาอำนาจ
มรสุมเศรษฐกิจปีหน้า
ในมุมมองของ ดร.สมภพนั้น ปี 2020 เศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากกว่าปี 2019 เพราะฝุ่นจะตลบหากทรัมป์ได้เป็นตัวแทนรีพับลิกันลงชิงชัยเก้าอี้ประธานาธิบดีในการเลือกตั้งระดับไพรมารี ซึ่งน่าจะร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะแต่ไหนแต่ไรมาไม่ค่อยมีการเปลี่ยนตัวผู้สมัครกลางคัน ถึงแม้ทรัมป์จะเผชิญมรสุมการเมือง ถูกยื่นถอดถอนโดยสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ไม่น่าจะผ่านความเห็นชอบในสภาสูง หรือวุฒิสภาอยู่ดี
แล้วทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งได้อย่างไร เขาจะหาทางกระตุ้นตลาดหุ้น พยายามขายสินค้าเกษตร เพื่อดึงคะแนนเสียงหรือสร้างฐานเสียงให้แข็งแกร่ง ซึ่ง ดร.สมภพ คิดว่าทรัมป์มีโอกาสสูงที่จะเข้าวิน และจะทำให้สงครามการค้ามีโอกาสดำเนินต่อไป
ปี 2020 ทั่วโลกจะตั้งการ์ดสูง เราจะต้องรู้เขารู้เราอย่างมากเพื่อบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ มันอาจจะมีผลพวงด้านบวกอยู่บ้าง การไหลเวียนของเงินทุนระหว่างประเทศจะเชี่ยวกรากมาก การค้าต่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยนจะมีความผันผวนสูง เพราะฉะนั้นเราจะบริหารความเสี่ยงเหล่านี้ได้อย่างไร เป็นหน้าที่ของทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคประชาชนที่จะต้องเตรียมพร้อมรับมือด้วย
เมื่อสงครามการค้าเป็นมากกว่าการแข่งขันทางเศรษฐกิจ หากแต่เป็นเกมการเมือง และการต่อสู้ในหลายมิติของสองขั้วมหาอำนาจที่เป็นคู่แข่งกันทางยุทธศาสตร์ ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวโน้มที่ความขัดแย้งจะขยายขอบเขต ยืดเยื้อ และพลิกสถานการณ์ไปมาตลอดทั้งปี แต่กระนั้นในความผันผวนก็เป็นโอกาสของไทย หากเตรียมการรับมือไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก้าวต่อไปคือการบริหารความเสี่ยงให้เป็น และใช้จุดแข็งที่มีอยู่พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: