เมื่อปีที่แล้วคลื่น แคท เรดิโอ ได้สร้างโปรเจกต์ 49 บทเพลงพระราชนิพนธ์ โดย 49 ศิลปินที่คุณคุ้นเคย ด้วยการชวนศิลปินจากทั่วประเทศมาอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผ่านการตีความรูปแบบใหม่ในสไตล์ของตัวเอง เพื่อเป็นการระลึกถึงพระองค์ท่านและส่งต่อบทเพลงที่แสนไพเราะและเปี่ยมไปด้วยพระอัจฉริยภาพทางดนตรีให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของประชาชนสืบไป
เวลาผ่านไป 1 ปี ทุกบทเพลงยังคงทำหน้าที่ขับกล่อมและเตือนความทรงจำในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างดีที่สุด THE STANDARD ได้เชิญตัวแทน 49 ศิลปินมาพูดคุยถึงความประทับใจที่เกิดขึ้นตลอดการทำงานครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ ความทรงจำอันทรงคุณค่าเหล่านี้จะยังคงอยู่กับพวกเขาไปอีกนานแสนนาน
อาทิตย์อับแสง (Blue Day) – อิ้งค์ วรันธร เปานิล
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 8 ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ขณะประทับแรมบนภูเขาในเมืองดาโวส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องทั้งภาษาไทยและอังกฤษ
อิ้งค์-วรันธร เปานิล ศิลปินรุ่นใหม่ที่แม้จะมีโอกาสได้รับรู้ถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ด้วยตัวเองไม่มากนัก แต่เพียงแค่การรับรู้จากครอบครัวและคนรอบตัวที่ถ่ายทอดให้ฟัง ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้อิ้งค์ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณราวกับได้สัมผัสเรื่องราวเหล่านั้นด้วยตัวเอง
ในวันที่ทีมงานแคท เรดิโอ ติดต่อให้มาขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ อิ้งค์ยังจำความรู้สึกตอนนั้นไม่ได้ด้วยซ้ำ เพียงแต่ตอบตกลงทันทีโดยไม่ต้องคิด และรู้เพียงว่าเธอจะต้องขับร้องเพลงนี้ออกมาให้ดีที่สุด เพราะนี่คือโอกาสสำคัญที่เธอสามารถทำเพื่อพระองค์ได้ดีที่สุดในฐานะศิลปิน
โอกาสที่ไม่มีทางปฏิเสธ
ตอนที่ แคท เรดิโอ ติดต่อมาให้ร้องเพลงพระราชนิพนธ์ อิ้งค์จำได้ว่ายังไม่ทันรู้สึกอะไร แต่ก็ตอบรับไปทันทีโดยอัตโนมัติ โอกาสแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ นี่คือสิ่งที่ต้องทำ การได้ร้องหนึ่งในเพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์ นี่คือที่สุดของการทำอาชีพนี้แล้ว เพราะตัวอิ้งค์เองไม่ได้มีความสามารถด้านอื่น คงทำประโยชน์กับสังคมได้ไม่มาก นอกจากการร้องเพลงให้คนฟัง เพราะฉะนั้นถ้าการร้องเพลงนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่เราสามารถตั้งใจทำให้พระองค์ได้ นี่คือสิ่งที่น่าภูมิใจที่สุดในชีวิต
ความสวยงามในวันที่ ‘อาทิตย์อับแสง’
อิ้งค์เป็นคนเลือกเพลงนี้เอง เพราะว่าเป็นเพลงที่อยากร้องมานานมากแล้ว ทุกอย่างในเพลงนี้สวยงามไปหมด ทั้งดนตรี เมโลดี เนื้อร้อง ทุกครั้งที่ฟังจะรู้สึกเหมือนบรรยากาศรอบตัวจะเป็นแบบในเพลงทันที ไม่ว่าจะฟังอยู่ที่ไหนหรือตอนไหน แต่ท้องฟ้าของเราจะหม่นลงทันที เหมือนว่าพระอาทิตย์กำลังจะอับแสงจริงๆ นี่คือพลังของเพลงนี้ที่ถ่ายทอดความรู้สึกออกมาได้ดีมากๆ
อีกสิ่งหนึ่งที่อิ้งค์ประทับใจในเพลงนี้มากคือบรรยากาศของความคิดถึงที่มีอยู่ทั้งเพลง เพลงนี้เป็นเพลงที่พระองค์ทรงแต่งให้พระราชินีในวันที่ต้องอยู่ห่างกัน แล้วทุกอย่างในเพลงก็ทำให้คนฟังรู้สึกได้อย่างนั้นจริงๆ ถึงแม้พระองค์จะเป็นถึงพระมหากษัตริย์ แต่พระองค์ก็มีความรู้สึก มีความรักที่ยิ่งใหญ่และงดงามไม่ต่างจากคนทั่วไป ที่สำคัญที่สุดคือในทุกโน้ตทุกเมโลดี พระองค์สามารถถ่ายทอดความรู้สึกนี้ออกมาได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งคนที่จะทำแบบนี้ได้ต้องมีความรักและความคิดถึงในคนคนหนึ่งมากจริงๆ เพราะฉะนั้นเพลงนี้ถึงแม้จะฟังแล้วเศร้า แต่ก็เป็นความเศร้าที่สวยงามมาก
พระอัจฉริยภาพที่ซ่อนอยู่ในเพลง
อิ้งค์ฟังเพลงนี้ตั้งแต่เด็ก ทุกครั้งที่ฟังก็ฟังด้วยความรู้สึกชอบ เพลงเพราะ คุ้นหู แต่พอรู้ว่าจะได้ร้องเพลงนี้ต้องกลับมาศึกษาอย่างละเอียด นอกจากความรู้สึกที่แสดงออกมา ยังมีเรื่องทางคอร์ด มีเมโลดีที่ยาก ซับซ้อน ขนาดอิ้งค์เรียนดนตรีคลาสสิกมาโดยตรง ยังรู้สึกว่าเพลงนี้พระองค์ทรงแต่งออกมาด้วยพระอัจฉริยภาพสูงสุดจริงๆ เป็นคอร์ดเป็นเมโลดีที่ซับซ้อนและไพเราะแบบที่ไม่มีให้ได้ยินบ่อยๆ พระองค์แต่งเพลงนี้ไว้นานมากแล้ว แต่กลับมาฟังกี่ครั้งก็ยังรู้สึกว่าเพราะอยู่ดี
อิ้งค์คิดว่าเพลงพระราชนิพนธ์แทบทุกเพลงเลย ถ้าเราไม่คิดว่าเป็นเพลงที่เข้าถึงยาก เอาดนตรีมาเรียบเรียงใหม่ โดยที่ไม่ต้องคิดว่าเพลงนี้คือเพลงพระราชนิพนธ์ เพลงเหล่านี้จะกลายเป็นเพลงป๊อปที่สามารถเปิดในคลื่นวิทยุและติดชาร์ตเพลงได้ไม่ยากเลย
ความสุขที่ได้รับ และความเศร้าที่ต้องอดกลั้นเอาไว้
ตอนที่อิ้งค์เข้าห้องอัดเพลงนี้เพิ่งผ่านวันที่ 13 ตุลาคมไปไม่นาน ทุกคนยังรู้สึกเศร้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นระหว่างร้องก็จะมีทั้งความรู้สึกดีใจที่เราได้รับโอกาสนี้ แต่ในขณะเดียวก็รู้สึกจุกในหน้าอก คืออิ้งค์เพิ่งอายุ 20 กว่า มีโอกาสได้เห็นพระราชกรณียกิจของพระองค์น้อยมาก แต่ได้ทราบจากคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่หลายๆ คน จนกลายเป็นเราซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์เหมือนได้รับรู้เรื่องเหล่านั้นเองจริงๆ เลยมีความเสียใจและเสียดายว่าเราเพิ่งได้ทำอะไรบางอย่างเพื่อพระองค์ในวันที่พระองค์ไม่อยู่แล้ว แต่ก็ต้องกลั้นความรู้สึกนี้เอาไว้ แล้วตั้งใจร้องออกมาให้ดีที่สุด อิ้งค์ตั้งใจร้องเพลงนี้มากๆ ใช้เวลา 1 วันเต็มๆ ตรงไหนไม่ดีเราจะทำใหม่ทั้งหมด
Blues for Uthit – The Parkinson
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 47 ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชนิพนธ์เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายอุทิศ ทินกร ณ อยุธยา นักดนตรีวง อ.ส. วันศุกร์ ที่ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2522
กานต์-นิภัทร์ กำจรปรีชา, โต-ณัฐวิทย์ โอดาคิ และเบียร์-อริย์ธัช เกื้อจิตกุลนันท์ 3 หนุ่มวง The Parkinson ได้รับเลือกให้ถ่ายทอดบทเพลงพระราชนิพนธ์ Blues for Uthit โดยตีความเพลงนี้ถึงบรรยากาศความสนุกสนานที่พระองค์ทรงดนตรีร่วมกับสมาชิกวง อ.ส. วันศุกร์ เพราะเชื่อว่าความสุขและความสนุกสนาน คือใจความสำคัญของดนตรีที่ทั้งผู้เล่นและผู้รับฟังสามารถรับรู้ร่วมกันได้
‘บลูส์’ ที่แท้ ไม่แพ้ต้นฉบับ
กานต์: ผมไม่เคยฟังเพลงนี้มาก่อน แต่พอฟังครั้งแรกประทับใจเลย ผมชอบฟังเพลงบลูส์อยู่แล้วจะรู้ว่ากว่าเพลงบลูส์จะเกิดขึ้นมาแต่ละเพลงไม่ใช่เรื่องง่าย เพลงนี้ทำให้ผมรู้ทันทีเลยว่าพระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพสูงมาก ทั้งทางคอร์ด จังหวะ เมโลดีที่แข็งแรงมาก ทุกคนจะรู้ว่าเพลงบลูส์มีต้นกำเนิดมาจากดนตรีของคนผิวสี ถ้าเรื่องบลูส์ต้องยกให้เขา แต่เพลงนี้ผมคิดว่าสามารถแทนค่าของต้นฉบับได้เลย เพลงนี้คือของแท้เหมือนกัน เพียงแค่คนแต่งไม่ใช่คนผิวสี แต่เป็นพระองค์เท่านั้นเอง
ตั้งแต่สมัยเรียน ผมเคยพยายามแต่งเพลงบลูส์อยู่เหมือนกัน แล้วจะมีความรู้สึกว่าต้องพยายามทำให้ยาก ทำให้เยอะ เมโลดีต้องแบบนั้นแบบนี้ ด้วยความคิดว่าอยากทำให้ได้เหมือนเพลงบลูส์แบบออริจินัลจริงๆ แต่เพลงนี้ทำให้ผมรู้ว่า นี่ไม่ใช่เพลงที่ ‘พยายามแต่ง’ แต่นี่คือธรรมชาติเหมือนเจ้าของภาษา เหมือนเจ้าของดนตรีแบบต้นตำรับ แต่พระองค์ไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องเลียนแบบ พระองค์ทรงแต่งขึ้นมาด้วยความเป็นธรรมชาติจริงๆ
โต: ในช่วงที่ผมเป็นเด็ก ผมมีโอกาสได้รับรู้หรือมีโอกาสได้เห็นพระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระองค์น้อยมาก จนเมื่อปีที่แล้วที่มีคนแชร์คลิปเวลาพระองค์ทรงดนตรีมากขึ้น แล้วรู้เลยว่าพระองค์เป็นนักดนตรีที่เก่งมากจริงๆ หลายครั้งที่เปิดคลิปการทรงดนตรีของพระองค์ดูกับเพื่อนๆ จะมีเสียง โห เกิดขึ้น เพราะเต็มไปด้วยโน้ตและลูกเล่นยากๆ ที่ขนาดนักดนตรีด้วยกันยังตกใจอยู่เต็มไปหมด แล้วภาพที่เห็นคือพระองค์ทรงเล่นด้วยความสบาย ไม่ต้องเค้น ไม่ต้องพยายามอะไรเลย อย่างที่กานต์บอกว่าสิ่งที่พระองค์ทรงถ่ายทอดออกมาเป็นธรรมชาติมากจริงๆ โดยเฉพาะเวลาทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีต่างประเทศ เอาจริงๆ สมัยนี้ก็มีนักดนตรีน้อยคนที่ทำแบบนั้นได้ แต่พระองค์ทำได้เหมือนเป็นเรื่องปกติธรรมดา
ความสุขของดนตรีที่ต้องถูกส่งต่อ
โต: ทุกครั้งที่ฟังเพลงนี้ เวลาอัดเสียงหรือคุยกับเพื่อนๆ ในวงเวลาตีความเพลงนี้กัน ภาพที่ผมเห็นชัดเจนมากที่สุด คือบรรยากาศของพระองค์เวลาทรงดนตรีกับสมาชิกวง อ.ส. วันศุกร์ คือผมไม่ได้มีโอกาสไปอยู่ในบรรยากาศนั้น แต่ความสุข ความสนุกของดนตรีได้ถ่ายทอดออกมาผ่านบทเพลงนี้ไว้ทั้งหมดแล้ว ผมคิดว่าความสนุกคือจุดร่วมสำคัญที่นักดนตรีทุกคนจะสัมผัสได้ ไม่ว่าเพลงที่เล่นออกมาจะเป็นเพลงแบบไหนก็ตาม แต่ทุกครั้งที่ได้เล่นดนตรีกับเพื่อนๆ บรรยากาศของความสุขจะเกิดขึ้นมาเสมอ
เพลงนี้ถึงแม้พระองค์ทรงแต่งขึ้นมาเพื่อระลึกถึงสมาชิกวงที่จากไป เนื้อความมีความเศร้า มีความระลึกถึง แต่บรรยากาศที่ส่งผ่านเพลงนี้ออกมาก็ยังเต็มไปด้วยความสุขและความสนุกสนาน เพราะฉะนั้นเวลาที่พวกเราทำเพลงนี้ออกมา นอกจากแก่นของความเป็นดนตรีบลูส์แท้ๆ ที่อัดแน่นอยู่ในเพลงนี้ สิ่งที่พวกเราพยายามถ่ายทอดออกมามากที่สุดก็คือความสนุกทุกครั้งที่ได้เล่นดนตรีด้วยกัน และคิดว่าคนที่ฟังไม่ว่าจะเป็นนักดนตรีหรือไม่ก็ตาม จะได้รับความรู้สึกนี้กลับไปด้วยเหมือนกัน
เบียร์: แก่นของดนตรีบลูส์คือการเล่าเรื่อง เล่าความรู้สึกที่อยู่ข้างใน เพราะฉะนั้นเวลาเล่นเพลงนี้พวกเราไม่ได้คิดอะไรมาก นอกจากการเล่าเรื่องผ่านเครื่องดนตรีของตัวเองให้ดีที่สุด กานต์พูดผ่านกีตาร์ โตพูดผ่านเบส ส่วนผมก็พูดผ่านกลอง และพวกเราทุกคนผลัดกันสื่อสารความรู้สึกและความสนุกออกมาในแบบของตัวเอง
กานต์: ถึงแม้เพลงนี้จะเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่แน่นอนว่าพวกเราต้องมีความกดดันที่ต้องถ่ายทอดออกมาให้ดีที่สุด แต่พวกเราไม่เคยเครียดเลยจริงๆ ทุกครั้งที่ได้เล่นมีความสุข ผมคิดว่าเป็นธรรมชาติของนักดนตรีที่มีความสุขเวลาได้เล่นเพลงที่ดี และเพลงนี้ก็มีองค์ประกอบของการเป็นเพลงที่ดีอยู่ครบถ้วนเลย
ความทรงจำเก่าๆ ที่หวนขึ้นมา
เบียร์: เพลงนี้ทำให้ผมนึกถึงช่วงเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ทำให้เราได้กลับมาเล่นเพลงบลูส์อีกครั้ง เพราะพอเป็นวง The Parkinson พื้นฐานของพวกเราคือเพลงโซล ทำให้ไม่มีโอกาสได้ศึกษาหรือเล่นเพลงบลูส์ที่พวกเราชอบมากเท่าไหร่ พอได้กลับมาทำเพลงบลูส์อีกครั้ง ความทรงจำเก่าๆ สมัยวัยรุ่นโดยเฉพาะความสนุกที่ได้ทดลองอะไรต่างๆ มากมายก็กลับขึ้นมาอีกครั้ง เป็นความรู้สึกที่ดีมากจริงๆ