×

BBL เผยขายหุ้น BTS ทำกำไร ไม่ได้นำไปสมทบซื้อธนาคารอินโดฯ สภาพคล่องเพียงพอ

โดย SCB WEALTH
24.12.2019
  • LOADING...
Market Focus

เกิดอะไรขึ้น:

สืบเนื่องจากวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรายงานรายการขายบิ๊กล็อตหุ้น บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) จำนวน 600 ล้านหุ้น คิดเป็น 4.56% ของจำนวนหุ้นที่เรียกชำระแล้วที่ราคาหุ้นละ 12.40 บาท ซึ่งผู้บริหาร BTS ได้ออกมาระบุว่าเป็นการทำรายการขายของ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL)

 

วันที่ 20 ธันวาคม 2562 เดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร BBL เปิดเผยว่าการขายหุ้น BTS ของ BBL ในครั้งนี้เป็นเพียงการขายเพื่อทำกำไร เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้น BTS ปรับตัวขึ้นมามาก ซึ่งการขายหุ้น BTS ครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการนำเงินเพื่อไปเข้าซื้อกิจการธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค (Permata) แต่อย่างใด ทั้งยังเปิดเผยอีกว่าปัจจุบัน BBL มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะทำการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน และมีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลในอัตราปกติอีกด้วย ขณะที่เงินสำรองยังคงอยู่ในระดับสูงเพียงพอตามมาตรฐานบัญชี IFRS 9 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2563

 

สำหรับการซื้อกิจการ Permata นั้น BBL ได้ทำสัญญาซื้อขายแบบมีเงื่อนไขกับสองผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดและ Astra เพื่อซื้อหุ้น 89.12% และส่วนที่เหลืออีก 10.88% จะทำคำเสนอซื้อหุ้น Permata ซึ่งราคาเข้าซื้อหุ้นอยู่ที่ 1.77 เท่าของมูลค่าทางบัญชี โดยมูลค่าการเข้าซื้อกิจการทั้งสิ้นประมาณ 9.1 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี ธุรกรรมนี้คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ช่วงกลางปี 2563 เนื่องจากต้องได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจการเงินของอินโดนีเซีย รวมถึงการขออนุมัติจากผู้ถือหุ้น BBL ก่อนจึงจะสามารถดำเนินการได้

 

กระทบอย่างไร:

วันที่ 20 ธันวาคม 2562 หุ้น BTS มีการซื้อขายที่หนาแน่น โดยขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 13.40 บาท ก่อนที่จะกลับมาปิดที่ราคา 13.30 บาท เพิ่มขึ้น 0.76% DoD ขณะที่ราคาหุ้น BBL ในระหว่างวันมีการเคลื่อนไหวไม่มากนัก โดยราคาปิดอยู่ที่ 158 บาท ลดลง 0.63% DoD

 

มุมมองระยะสั้น:

SCBS มองว่าการออกมาแถลงของผู้บริหาร BBL ในครั้งนี้ช่วยให้ตลาดคลายความกังวลต่อหุ้น BBL และ BTS มากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า BBL จะทำการขายหุ้น BTS และเพิ่มทุนเพื่อซื้อกิจการ Permata ซึ่งทำให้ราคาหุ้น BTS และ BBL ปรับลงพร้อมกัน สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะสั้นนี้คือความคืบหน้าการเข้าซื้อกิจการ Permata ของ BBL ซึ่งคาดว่าธุรกรรมซื้อขายหุ้นจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563

 

มุมมองระยะยาว:

SCBS คาดว่าการเข้าซื้อกิจการ Permata ของ BBL ในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ของ BBL ได้ราว 75 bps และกำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้นอีก 8% ขณะที่ยอดสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นอีก 12% และ Net Interest Margin จะเพิ่มขึ้นอีก 15 bps อย่างไรก็ดี อัตราส่วนความเพียงพอของกองทุนจะลดลงจากระดับ 20.7% สู่ระดับ 17.2% ซึ่งสะท้อนถึงการใช้สภาพคล่องส่วนเกินให้มีประโยชน์สูงสุด โดยปัจจุบัน BBL มี Interbank Asset ถึง 5.75 แสนล้านบาท คิดเป็น 18% ของสินทรัพย์รวม

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ โดยให้บริการทางการเงินแก่ธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ SMEs ลูกค้าบุคคล โดยมีสาขาทั้งในประเทศและเครือข่ายในต่างประเทศ รวมทั้งมีบริษัทย่อยในกลุ่มธุรกิจการเงินอื่นๆ ได้แก่ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจจัดการกองทุนรวม ธุรกิจจัดหาแหล่งเงินทุน และธุรกิจลงทุน

 

ธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค เป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับที่ 12 ของอินโดนีเซีย มีลูกค้ารวมกว่า 3.5 ล้านราย ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 เพอร์มาร์ตามีเงินให้สินเชื่อจำนวน 108 ล้านล้านรูเปีย (7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 234,000 ล้านบาท) มีเงินรับฝากจำนวน 120 ล้านล้านรูเปีย (8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 259,000 ล้านบาท) มีสาขารวม 332 แห่ง และเครื่องเอทีเอ็ม 989 เครื่อง ทั้งนี้เงินให้สินเชื่อ 42% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 เป็นสินเชื่อธุรกิจ 26% เป็นสินเชื่อ SMEs และ 32% เป็นสินเชื่อรายย่อย

 

บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ประกอบธุรกิจ 4 ประเภทหลัก

  1. ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน ประกอบด้วยรถไฟฟ้า BTS และรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT
  2. ธุรกิจสื่อโฆษณา ดำเนินธุรกิจผ่าน บมจ.วีจีไอ (VGI) ซึ่ง BTS ถือหุ้น 65% โดย VGI ได้รับสัมปทานพื้นที่โฆษณาทั้งหมดของสถานีรถไฟฟ้า BTS สายหลัก
  3. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ดำเนินธุรกิจผ่าน บมจ.ยู ซิตี้ (U) ซึ่ง BTS ถือหุ้น 36% โดย U เน้นการพัฒนาคอนโดมิเนียมที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับสถานีรถไฟฟ้า
  4. ธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ โปรแกรมสะสมคะแนน Rabbit Rewards และห้องอาหารจีนในเครือเชฟแมน

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X