เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ได้แต่งตั้งคณะโฆษก กทม. ชุดใหม่
หนึ่งในทีมกระบอกเสียงคนสำคัญก็คือ เอิร์ธ-พงศกร ขวัญเมือง ซึ่งเคยเข้ามาช่วยงาน กทม. บ้างแล้วด้วยการเสนอนโยบาย ‘ผลักดันทันใจ แก้ไขทันที NOW!’ และ LINE อัศวินคลายทุกข์ เพื่อรับฟังทุกเสียงของประชาชน
“คนกล้าและมุ่งตั้งใจทำงาน Get the job done.” คือคำที่เอิร์ธนิยามถึงตัวเขาเอง และด้วยความที่เป็นลูกคนเล็กสุดในจำนวนพี่น้อง 3 คน ห่างกับพี่ชายคนกลาง 7 ปี พี่ชายคนโต 8 ปี อีกทั้งยังเติบโตมาในครอบครัวตำรวจ
“ลืมตามาก็เห็นพ่อเป็นตำรวจแล้ว โตมาได้สักพักก็เห็นพี่ชายสอบเข้าเตรียมทหาร เมื่อโตมาจึงอยากเป็นตำรวจ” แต่เอิร์ธขยายความว่าไม่ใช่เพราะอยากแต่งเครื่องแบบ แต่เป็นเพราะเราได้เห็นคนที่เดือดร้อนมาเจอพ่อ เจอพี่ชาย ก็ได้รับการแก้ปัญหา ทำให้ชีวิตดีขึ้น จึงอยากเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ รับใช้ประชาชน แม้พ่อแม่ไม่อยากให้เป็นตำรวจ
“อย่างตอน ม.2-3 ก็เป็นช่วงกวดวิชาเพื่อสอบเตรียมทหาร แม่ก็มาขอร้องว่าถ้าสอบติดแล้วไม่เป็นได้ไหม ให้ไปเรียน ม.ปลาย ต่อดีกว่า อยากให้เป็นหมอ แต่ผมกลับมองว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติ และผมก็อยากช่วยคนอื่นเหมือนพ่อ อยากเป็นตำรวจ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่มาจากสภาพแวดล้อมที่เราเห็นจากการทำให้ดูของพ่อโดยไม่ต้องสอน” เอิร์ธเล่าย้อนก่อนที่จะพูดถึงความเป็นแฟมิลี่แมนของพ่อ
“พ่อเป็นแฟมิลี่แมน ตั้งแต่เด็กจะพาลูกติดสอยห้อยตามไป หลายๆ ครั้งไปทำคดี สมมติว่ามีที่เกิดเหตุอยู่ตรงข้ามถนน พ่อก็ต้องไปนอนแถวนั้น ไปนอนที่บ้านหรือโรงแรมตรงข้ามที่เกิดเหตุ แล้วเขาก็จะเอาลูกไปนอนด้วย พ่อเป็นแฟมิลี่แมนมาก”
สำหรับชีวิตในรั้วเตรียมทหารและโรงเรียนนายร้อย เอิร์ธเล่าถึงความรู้สึกแรกที่จดจำได้ในการสอบเลือก 4 เหล่าว่า พอสอบตำรวจเสร็จ วันต่อมาพ่อก็บอกให้ไปสอบให้ครบ 4 เหล่า แต่เอิร์ธก็บอกพ่อว่า
“ไม่สอบแล้ว เพราะสิ่งเดียวที่อยากเป็นคือตำรวจ ต่อให้สอบติดเหล่าอื่นก็ไม่เอา เพราะไม่อยากเป็น”
แต่เมื่อสอบติดเข้าไปในระบบโรงเรียนก็หนักมาก ซึ่งเอิร์ธเล่าถึงบทเรียนที่ดีที่สุดจากโรงเรียนไว้ว่า
“ไม่ได้สำคัญที่เราได้เป็น แต่สำคัญคือการช่วยเพื่อนได้ ซึ่งการเรียนโรงเรียนเตรียมทหารและโรงเรียนนายร้อยทำให้เราได้เห็นสภาพของเพื่อนทุกคน ได้เห็นคนต่างจังหวัดที่มาเสี่ยงชีวิต อยากเปลี่ยนแปลงเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น การได้เจอเพื่อนเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจชีวิตได้ดีขึ้น สังคมไม่ได้มีแค่คนที่กรุงเทพฯ คนที่สวนกุหลาบฯ แต่มีคนที่เดือดร้อนในสังคมเยอะมากๆ”
เอิร์ธเริ่มทำงานตำรวจที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ ก่อนที่ต่อมาจะไปเรียนต่อที่อังกฤษ และนั่นคือจุดหักเหของชีวิต
“ตั้งแต่สมัยอยู่เตรียมทหาร ปี 3 เราก็เริ่มตระหนักว่าแม้จะชอบอาชีพตำรวจมาก แต่ก็รู้ว่าอาชีพตำรวจเปลี่ยนอะไรได้น้อยมาก เราช่วยคนได้เพียงคนหรือสองคน เราช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ยากมาก จนถึงขั้นคิดอยากลาออกจากเตรียมทหารแล้วไปเรียนการเมือง ไปสอบมหาวิทยาลัย หรือไปต่างประเทศ แต่พอคุยกับแม่ แม่ก็ไม่อยากให้เป็นทั้งตำรวจและนักการเมือง เพราะอาชีพนักการเมืองคนเกลียดเยอะกว่าคนรัก ต่อให้ทำดีอย่างไร ตอนนั้นแม่ก็บอกว่าให้เรียนตำรวจต่อ ผมเลยบอกว่าเรียนต่อได้ แต่จบแล้วขอลาออกจากอาชีพตำรวจนะ”
นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงลาออกไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) เรียน Public Administration and Management ซึ่งเน้นที่การเมืองและการบริหารภาครัฐ และไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในหลักสูตรก็มีรัฐมนตรีจากกานาและอาร์เจนตินามาเรียนด้วย เป็นคณะ MPP คือเรียนเศรษฐศาสตร์ ปรัชญา การเมือง กฎหมาย สถิติ ทฤษฎีการเมืองจนเข้าใจรอบด้าน ทำให้เข้าใจนโยบายได้มากขึ้น
“นี่คือฝันของผมที่อยากเป็นนักนโยบายมากกว่านักการเมือง เมื่อเรียนจบแล้วก็มาลาออกจากราชการตำรวจ”
ยากไหมกับการตัดสินใจเดินออกมาจากชีวิตตำรวจ
มีคนบอกว่าคิดบ้าๆ อะไรเนี่ย พ่อเป็นตำรวจ พี่ก็เป็นตำรวจ ถ้าเป็นต่อก็เป็นผู้การ เป็นยศนายพลได้แน่ๆ แต่ผมก็บอกว่าความก้าวหน้าในอาชีพไม่ใช่สิ่งที่ผมตั้งใจ หรือความก้าวหน้าทางการเมือง ความทะเยอทะยานทางการเมือง ผมก็ไม่ใช่ ความทะเยอทะยานของผมคือการทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าผมมีตำแหน่งที่สามารถทำให้เด็กมีการศึกษาที่ดี ทำให้คนต่างจังหวัดพัฒนาอาชีพได้ดีขึ้น นั่นคือความใฝ่ฝันของผม สุดท้ายแล้วผมก็ยังมองว่าตัวเองไม่ได้เป็นนักการเมือง แต่เป็นนักนโยบาย
คำว่าการเมืองคืออะไรในความคิดของคุณ
คือการที่ทุกคนอยู่ในระบบรากฐานที่ทำให้คนอยากถกเถียงเพื่อนำไปสู่ไอเดียที่พัฒนาประเทศได้ นี่คือการเมืองในอุดมคติ แต่ปัจจุบันการเมืองบางทีมันเป็นเรื่องการต่อรองให้ได้มาซึ่งอำนาจ อันนี้ไม่ใช่สิ่งที่อยากทำ เช่น การที่เราไม่เห็นด้วยในบางสิ่ง แต่ต้องโหวตตามทุกๆ เรื่อง ผมคิดว่าอันนี้คือการเมือง การทำงานการเมืองของผมคือการที่เราสามารถผลักดันนโยบาย ต่อให้ไม่เห็นด้วย แต่ก็ไปขอคำแนะนำได้จากทุกฝ่าย
ภาพใหญ่คือการเป็นการเมืองระดับประเทศ แต่ในมิติของ พล.ต.อ. อัศวิน พ่อของคุณที่ทำการเมืองท้องถิ่นใกล้ชิดกับชาวบ้าน การเมืองที่ดูแลคนกรุงเทพฯ คุณมีการมองเรื่องการเมืองท้องถิ่นบ้างไหม
การเมืองในระดับ กทม. มีอำนาจที่จะผลักดันนโยบายได้หลายๆ สิ่งพอสมควร และทำได้เร็วกว่าระดับประเทศ ผมก็คิดว่าเป็นสิ่งที่เราทำให้เห็นได้จริง
การที่คุณมาช่วยตรงนี้มาจากเหตุผลอะไร เพราะก็อาจถูกมองว่าเป็นพ่อลูกกัน
ต้องบอกว่าพ่อไม่เคยชวน พ่อไม่อยากให้มายุ่งกับการเมือง ผมก็คิดนานมากก่อนมารับตำแหน่งว่าจะถูกมองว่าเป็นการอุปถัมภ์ไหม แต่ท้ายสุดก็มองว่าตำแหน่งโฆษก กทม. มันไม่เหมือนกับโฆษกรัฐบาล เพราะไม่มีเงินเดือน ไม่มีอะไรสักอย่าง มีหน้าที่ประสานและประชาสัมพันธ์ ก็ทำสองหน้าที่นี้ ซึ่งสำคัญในปัจจุบันที่การทำงานของ กทม. เปลี่ยนไป เมื่อก่อน กทม. ทำเองทุกอย่าง แต่ตอนนี้มีทั้ง NGO มีกลุ่มที่มาเป็น Think Tank กทม. จึงต้องทำงานร่วมกับกลุ่มนี้ ถ้าผมดึงคนกลุ่มนี้เข้ามาได้ เราพัฒนาเมืองได้จริงๆ โดยให้คนกลุ่มนี้เข้ามาช่วย
ข้อครหานี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่อให้ไม่ใช่อัศวินก็หลีกหนีไม่ได้ ผมอยากให้มีการเลือกตั้งมากๆ แต่ในความเป็นจริงมันก็ไม่ใช่สิ่งที่เราตัดสินใจเองได้
คุณพ่อในฐานะผู้บังคับบัญชาได้ให้คำแนะนำอะไรคุณบ้างไหม
แนะนำอย่างเดียวในฐานะส่วนตัวว่า คุณก็ต้องยอมรับนะว่าวันหนึ่งจะถูกคนครหา ถ้าคุณอยากทำนโยบายจริงๆ ก็ต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นนะว่ามาเพื่อทำประโยชน์ให้เขา ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของตัวคุณเอง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณพ่อเป็นผู้ว่า กทม. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มองตรงนี้อย่างไร
ผมก็ไม่เห็นด้วยกับระบบที่ กทม. ไม่มีวันเลือกตั้ง แต่ตอนนี้กระบวนการเลือกตั้งถูกแช่แข็งไว้ทั่วประเทศ เราเพิ่งมีการเลือกตั้ง ส.ส. และต่อไปก็ต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ซึ่งผมไม่เห็นด้วยถ้าไม่มี ข้อครหานี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่อให้ไม่ใช่อัศวินก็หลีกหนีไม่ได้ ผมอยากให้มีการเลือกตั้งมากๆ แต่ในความเป็นจริงมันก็ไม่ใช่สิ่งที่เราตัดสินใจเองได้
การเข้ามาทำงานตรงนี้ 1 เดือนกว่า คุณได้เจออะไรบ้าง
สิ่งที่ทำแล้วรู้สึกภูมิใจทุกวันก็คือการได้ดึงคนมามีส่วนร่วม กทม. มีโปรเจกต์เยอะมาก ทีนี้ข้าราชการก็จะจัดลำดับความสำคัญตามที่ผู้บริหารสนใจ แล้วหลายๆ โปรเจกต์บางทีก็ไม่ใช่ว่าไม่สนใจ แต่ถูกละเลยไป เช่น โปรเจกต์สะพานเขียว ซึ่งเหมือนนิวยอร์กที่เป็นจุดอันตราย หากเราพัฒนาให้ดีขึ้นก็จะดี ตรงนี้ก็เป็นหนึ่งในโปรเจกต์ที่ต้องดึงคนมามีส่วนร่วม ส่วนปัญหาก็คิดว่าไม่ค่อยมี คือโฆษกเป็นคนที่ทำหน้าที่ให้คนเข้าใจว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ และสิ่งสำคัญที่สุดคือจะทำอย่างไรให้เรานำสิ่งที่คนอยากสื่อสารสื่อมาถึง กทม. ให้ได้
อยากเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่าง กทม. กับประชาชนร่วมกัน เช่น ปัญหาเรื่องผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ปัญหาโลกแตก บางคนบอกว่าอยากให้กลับมามีเหมือนเดิม เราก็ต้องคิดว่าเราไม่อยากทำร้ายคนจน ถ้าเราจะช่วยคนที่จนจริงๆ ได้ เราจะช่วยอย่างไร จัดพื้นที่อย่างไร แล้วคนที่ขายเป็นคนจนจริงหรือเปล่า เป็นคนเก็บค่าหัวคิวหรือเปล่า เราก็ต้องคุยกับเขา ให้เขารู้ว่าเราทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของทุกๆ คน เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม นี่คือหน้าที่ที่เราอยากทำ
เริ่มต้นจากงานการเมืองนี้เป็นงานแรก มองเส้นทางสายการเมืองในระยะยาวอย่างไร
ถ้าอายุสัก 50-60 ปี ผมก็คงเลิกทำงานการเมืองและงานนโยบาย ก็คงอยากเป็นอาจารย์ แต่ในระยะกลาง อาชีพที่อยากทำคืออยากทำนโยบายให้เป็นจริง ซึ่งไม่จำเป็นต้องอาศัยอาชีพทางการเมือง ไม่ต้องเป็น ส.ส. แต่มองที่การได้ทำนโยบายเป็นหลัก ถ้าวันหนึ่งมีรัฐบาลไหนอยากเอานโยบายผมไปทำ ผมก็ช่วย การเมืองไม่ใช่เรื่องการเลือกข้าง ผมมองว่าการที่เราอยู่ฝั่งหนึ่งแล้วไม่ฟังฝ่ายตรงข้าม นั่นไม่ใช่การเมือง แล้วยิ่งเราอยู่ฝ่ายหนึ่ง เราต้องฟังฝั่งตรงข้ามแล้วเอาไอเดียเขามาประยุกต์ นั่นคือการเมืองของผม
ปัจจุบันมีพรรคการเมืองไหนที่อยู่ในความคิดคุณบ้าง
ผมชอบหลายพรรคเลย ไล่ทีละพรรคก็ได้ เริ่มจากพรรคอนาคตใหม่ ผมชอบเรื่องการสื่อสารกับวัยรุ่น การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย อย่างประชาธิปัตย์ สมัยเลือกตั้งผมชอบที่สามารถทำนโยบายโดยยึดหลักแบบประสานประโยชน์กันได้ ผมก็ชอบพรรคภูมิใจไทยที่สามารถทำนโยบายที่เขาผลักดันได้จริง ผมชอบพรรคพลังประชารัฐที่สามารถประสานประโยชน์ทุกคนเพื่อให้ประเทศชาติเดินต่อได้ พรรคเพื่อไทยด้วย ก็ชอบในความเก่งของคนที่สามารถผลักดันบริหารนโยบายให้ไปได้เร็วมากๆ
หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกการเมืองกดดันการทำงาน อย่างคุณพ่อก็ได้รับผลกระทบจากการเมือง คุณจะอยู่กับมันอย่างไร
กทม. เป็นอิสระนะครับ ต่างจากเมื่อก่อนที่มี ม.44 แล้ว ตอนนี้รัฐมนตรีก็มีอำนาจเพียงกำกับดูแลในการให้นโยบาย หลายสิ่งที่เราไม่เห็นด้วยก็มีอิสระในการเห็นแย้ง แต่ผมก็อยากให้ กทม. มีอำนาจมากขึ้นผ่านการกระจายอำนาจ อย่างตำรวจหรือขนส่งมวลชนก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจ กทม. ซึ่งลอนดอน นิวยอร์ก เขาก็คุมตรงนี้หมด มีอำนาจทำอะไรหลายๆ อย่างพอสมควร
ถามในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของ กทม. ที่ต้องเลือกผู้ว่าฯ กทม. เช่นกัน สำหรับตัวคุณ ผู้ว่าฯ กทม. ที่จะเลือกต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
คิดว่าต้องเป็นคนที่สามารถทำงานได้กับทุกคน รวมถึงต้องบริหารคนเก่งได้ ผู้ว่าฯ ไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุด จะเก่งทางใดทางหนึ่งสุดทางก็บริหาร กทม. ไม่ได้ เพราะมีปัญหาหลากหลาย ต้องดึงคนเก่งๆ แต่ละด้านมาทำงานร่วมกัน
ในทางการเมือง เราไม่ควรคิดว่าคนรุ่นไหนสำคัญเหนือคนรุ่นไหน ก็คือคนไทยเหมือนกัน
กลับมาที่เรื่องการหล่อหลอมจากโรงเรียนสองแบบ แบบแรกคือโรงเรียนนายร้อย กับอีกแบบคือมหาวิทยาลัยที่ได้เจอคนหลากหลาย มันแตกต่างกันอย่างไรบ้าง วิธีคิดและวิธีสอนมีผลต่อฐานความคิดของคุณอย่างไร
ถ้าอยากเป็นพ่อครัวที่เก่งก็ต้องชิมอาหารหลากหลาย ถ้าอยากผัดไทยเก่งก็ต้องกินทั้งประตูผี ทั้งเยาวราช
ผมก็คิดว่าทั้งสองระบบต่างกันลิบลับคนละโลก แต่การที่เราอยู่ทั้งสองระบบแล้วผ่านมาได้ ผมคิดว่าผมก็เข้าใจทั้งสองระบบ
ในการเมืองไทย คนที่เป็นทหาร ตำรวจ เป็นนายกฯ เยอะพอสมควร คนที่จะทำนโยบายต่างๆ ควรมีความเข้าใจระบบการเมืองของไทย ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเรามีการปฏิวัติ แล้วคนพวกนี้เขาคิดอย่างไร ด้านประชาธิปไตยเราก็มีนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเรียนมหาวิทยาลัยทั้งต่างประเทศและในไทย ก็เข้าใจว่าเขาถูกหล่อหลอมมาอย่างไร
การเมืองไทย ผมเสียใจที่สุดที่เราไม่ได้ก้าวพ้นความแตกแยก แต่เรามาสู่ความแตกแยกแบบใหม่
วันนี้คุณมองการเมืองไทยอย่างไร
ต้องยอมรับว่าผมเสียใจที่เมื่อก่อนเราแบ่งเป็นเสื้อเหลือง-เสื้อแดง แต่วันนี้เราแบ่งเป็นคนรุ่นใหม่-คนรุ่นเก่า ตรงนี้ผมเสียใจมากที่สุด
ในทางการเมือง เราไม่ควรคิดว่าคนรุ่นไหนสำคัญเหนือคนรุ่นไหน ก็คือคนไทยเหมือนกัน การเมืองและอุดมการณ์ควรไปด้วยกันได้ แต่การเมืองไทยในปัจจุบันมีความแตกแยกมากขึ้น มีคนอ้างโดยใช้ความเกลียดชังในนามของความหวัง สร้างความหวังโดยใช้ความเกลียดชัง ผมก็ไม่เห็นด้วย
การเมืองไทย ผมเสียใจที่สุดที่เราไม่ได้ก้าวพ้นความแตกแยก แต่เรามาสู่ความแตกแยกแบบใหม่
คิดว่า 5 ปีที่ผ่านมากับการปฏิรูป เราได้หรือเสียอะไร หรือเห็นว่าต้องทำอะไรต่อ
การปฏิรูปที่ผ่านมาก็พอได้ในบางเรื่อง อย่างเรื่องเล็กๆ เช่น การจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์ อันนี้คิดว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่เรื่องการเมืองและการปฏิรูปยังขาดการมีส่วนร่วมของหลายๆ ภาคส่วน
แม้จะมีคนมีความรู้แค่ไหนในเรื่องการปฏิรูป แต่ก็สู้การปฏิรูปที่คนส่วนมากมีส่วนร่วมไม่ได้
เสียดายเวลาไหม ไม่ใช่แค่เวลาที่ใช้กับการปฏิรูปนะ แต่เสียดายเวลาที่เราทะเลาะกันมาเกือบ 10 ปี ผมคิดว่าการเมืองมันไปต่อได้ ถ้ามันไม่ใช่การเมืองที่เราเกลียดกันเอง แต่ไปต่อด้วยการทำนโยบายให้ดี
เสียดายเวลาไหม ไม่ใช่แค่เวลาที่ใช้กับการปฏิรูปนะ แต่เสียดายเวลาที่เราทะเลาะกันมาเกือบ 10 ปี ผมคิดว่าการเมืองมันไปต่อได้
ถ้าสมมติว่ามีอำนาจหรือพลังพิเศษ คุณอยากทำอะไร
อยากให้คนไทยกลับมารักกัน พูดง่ายๆ เลย เราอยู่กันโดยแฮปปี้กับความเห็นต่าง แล้วเราก็ช่วยกันพัฒนาประเทศชาติ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์