ที่ผ่านมาเราอาจคุ้นชินกับการค้นพบซากฟอสซิลของสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่เคยอาศัยอยู่บนโลกเมื่อหลายสิบล้านปีก่อน แต่มาวันนี้เรายังได้ค้นพบซากฟอสซิลของต้นไม้เก่าแก่ที่ชวนให้ตื่นเต้นเช่นเดียวกัน
ฟอสซิลต้นไม้นี้ถูกค้นพบที่เหมืองหินร้างในเมืองไคโร รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา คาดว่ามีอายุราว 386 ล้านปี
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าป่าที่ต้นไม้ต้นนี้เคยยืนต้นอยู่มีขนาดกว้างใหญ่ครอบคลุมไปถึงรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งจากการสันนิษฐานคาดว่าจะมีอายุมากกว่าป่าที่ได้ชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดในโลกที่ถูกค้นพบที่กิวบัว รัฐนิวยอร์ก ราว 2-3 ล้านปี
การค้นพบดังกล่าวอาจช่วยไขความกระจ่างว่าพืชและต้นไม้ปรากฏขึ้นบนโลกเมื่อใด ซึ่งเปรียบเหมือนแสงสว่างที่ทำให้เราเข้าใจวิวัฒนาการของต้นไม้มากยิ่งขึ้น
เป็นเวลากว่า 10 ปีมาแล้วที่ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ สหราชอาณาจักร, มหาวิทยาลัยบิงแฮมตัน สหรัฐอเมริกา และพิพิธภัณฑ์รัฐนิวยอร์ก ได้เริ่มสำรวจบริเวณเชิงเขาแคตสกิลในหุบเขาฮัดสัน ซึ่งนับตั้งแต่นั้นมาพวกเขาได้ทำแผนที่ป่าขนาดพื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร และได้ข้อสรุปว่าป่าผืนนี้เป็นบ้านของต้นไม้อย่างน้อย 2 ชนิดคือ Cladoxylopsids และ Archaeopteris
“ที่นี่เป็นป่าที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งคุณสามารถเดินเล่นและทำแผนที่ซากดึกดำบรรพ์ที่อยู่ในช่วงกลางยุคดีโวเนียน (Devonian era)” คริส เบอร์รี นักบรรพพฤกษศาสตร์จากมหาลัยคาร์ดิฟฟ์ ผู้อยู่เบื้องหลังงานศึกษาที่เผยแพร่ลงวารสารชีววิทยากล่าว โดยพวกเขายังค้นพบรากไม้ที่ยาวมากๆ ที่ช่วยเปลี่ยนวิธีการดูดซับน้ำของพืชและดิน
“มันเป็นป่าโบราณที่มาจากจุดเริ่มต้นของช่วงเวลาที่โลกเรากำลังจะเต็มไปด้วยสีเขียวเพราะผืนป่า ซึ่งต่อมาก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลก” เบอร์รีเสริม
จากคำพูดของเบอร์รีจึงทำให้เข้าใจได้ว่าป่านี้ได้ถูกพัดหายไปเพราะน้ำท่วม เพราะนักวิจัยได้ค้นพบซากฟอสซิลของปลาบนพื้นผิวของเหมืองด้วย
หากอยากรู้ว่าซากฟอสซิลของต้นไม้ต้นนี้จะช่วยให้เราเข้าใจอดีตของโลกได้อย่างไรบ้างก็คงจะเป็นเรื่องของจุดเวลาของฟอสซิล ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างช่วงที่โลกยังไม่มีป่าไปสู่ช่วงที่โลกปกคลุมไปด้วยต้นไม้แล้ว นอกจากนี้การศึกษาพื้นที่ป่ายังช่วยให้เราเข้าใจวิวัฒนาการและค่าคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้มากขึ้นอีกด้วย
“เราตระหนักกันดีว่าการมีพื้นที่ป่าเป็นเรื่องที่ดี และการเผาทำลายป่าเป็นเรื่องที่แย่” ฮาเวิร์ด ฟอลคอน-แลง ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยรอยัล ฮอลโลเวย์ กรุงลอนดอนกล่าว ซึ่งเขายังเสริมอีกว่าไม่ต้องสงสัยเลยที่ป่านี้จะเป็นป่าที่เก่าแก่ที่สุดที่เรารู้จักมา และอาจจะเป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจจะมีการค้นพบบางอย่างที่เก่าแก่กว่านี้ขึ้น ซึ่งเป็นบรรพชีวินวิทยาที่เต็มไปด้วยความน่าประหลาดใจ
จากการค้นพบครั้งนี้ก็ทำให้เรารู้ว่าบนโลกนี้ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่รอให้เราไปสำรวจค้น ซึ่งคงไม่ใช่แค่ซากฟอสซิลของสัตว์หรือต้นไม้แน่ๆ
ภาพ: Charles Ver Straeten
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: