เมื่อรถไฟฟ้าทั้ง BTS และ MRT เริ่มกระจายไปรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ยังมีปัญหาหลายเรื่องทั้งค่าโดยสารที่สูงพอๆ กับค่าครองชีพ ไหนจะปัญหา ‘ตั๋วร่วม’ หรือบัตรแมงมุมที่ภาครัฐเลื่อนการใช้มาหลายรอบ
ฝั่งภาคเอกชนอย่างบัตร Rabbit ที่ใช้บนรถไฟฟ้า BTS จะมีส่วนในการแก้ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่ใช่แค่รถไฟฟ้าอย่างไร?
บัตรแรบบิทในระบบขนส่งมวลชนไทย คนใช้เยอะแค่ไหน?
รัชนี แสนศิลป์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด (BTSS) ผู้ให้บริการบัตร Rabbit (บัตรแรบบิท) กล่าวว่า ปัจจุบันบัตรแรบบิทมีผู้ใช้งาน 13 ล้านใบ โดย 60-70% อยู่ในช่วงอายุ 20-35 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเพิ่งจบการศึกษา วัยเริ่มงาน และเป็นกลุ่มที่มีการเดินทางค่อนข้างมาก
“ทุกวันนี้มีคนใช้บัตรแรบบิทบนรถไฟฟ้า BTS ราว 70% ของยอดเฉลี่ยการใช้ BTS 900,000 ครั้งต่อวัน แต่ละวันมีการออกบัตรใหม่เฉลี่ย 2,000 ใบต่อวัน ทำให้แต่ละปีออกบัตรใหม่อยู่ที่ 15% ต่อปี”
ทั้งนี้ฐานบัตรแรบบิทจะขยายขึ้น โดย 2563 คาดว่าจะมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านคนต่อวัน ส่วนปี 2564 รถไฟฟ้า BTS จะเปิดให้บริการสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-คูคต) สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) คาดว่าระยะทางการให้บริการของ BTS จะเพิ่มขึ้นเป็น 170 กิโลเมตร จากปัจจุบันอยู่ที่ 50 กิโลเมตร จะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 1.5-2 ล้านคน
โดยจะขยายผ่านรูปแบบบัตรทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ 1. บัตรพื้นฐาน 2. บัตร
Co-Brand ร่วมธนาคารกรุงเทพ 3. บัตรลูกค้าองค์กร 4. บัตรลายพิเศษ (สำหรับเก็บสะสม) โดยปี 2563 นี้จะขยายฐานบัตรแรบบิทในกลุ่มคนทำงาน ผ่านพันธมิตรแบบ B2B มากขึ้น เช่น ฐานลูกค้าองค์กร
‘ตั๋วร่วม’ บัตรแมงมุมจะเวิร์กต้องมี OpenLoop แต่ไทยพร้อมหรือยัง?
รัชนีกล่าวว่า ปัจจุบันระบบบัตรแรบบิทเป็นระบบปิด คือสามารถใช้บัตรของแรบบิทกับรถไฟฟ้า BTS ได้ ต่างจากบางประเทศที่มีระบบ OpenLoop คือระบบที่เปิดรับการใช้บัตรในระบบอื่นๆ อย่างอังกฤษใช้ระบบ EMV (Europay MasterCard Visa) สามารถใช้บัตรเครดิตหรือเดบิตในเครือข่ายนี้แตะจ่ายค่าโดยสารที่สถานีได้เลย
ทั้งนี้ภาครัฐมีทิศทางจะทำให้ระบบขนส่งมวลชนของไทยเป็น OpenLoop หรือการทำระบบ EMV แต่ยังไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจน ดังนั้นทางรัฐมีความชัดเจนว่าจะใช้ระบบใด ทางบริษัทฯ พร้อมจะปรับระบบมาใช้กับรถไฟฟ้า BTS ทั้ง 10 สาย
อย่างไรก็ตาม การทำระบบใหม่อาจใช้ต้นทุนหลักร้อยล้านบาท เช่น ต้นทุนระบบภายใน ระบบหัวจ่าย ที่แตะเพื่ออ่านบัตรในแต่ละสถานีและใช้เวลาพัฒนา
ขณะเดียวกันการใช้ระบบ EMV อาจจะไม่ตอบโจทย์ไทย ที่คนบางส่วนยังไม่มีบัญชีธนาคาร หากเริ่มใช้ระบบ EMV ที่สามารถใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิตแตะจ่ายค่าโดยสารได้ ก็อาจเข้าไม่ถึงคนบางกลุ่ม ซึ่งปัจจุบันคนไทยยังนิยมใช้ ‘บัตรเติมเงิน’ ในการจ่ายค่าโดยสารเพราะสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้มากกว่า
โจทย์ใหญ่ Rabbit LINE Pay คนใช้น้อย หรือยังใช้ง่ายไม่พอ?
ปี 2562 ที่ผ่านมา ทางบริษัทฯ ออกบริการใหม่ Rabbit LINE Pay ให้ลูกค้าสามารถเช็ก เติมเงินผ่านมือถือ เพื่อเพิ่มความสะดวกตามไลฟ์สไตล์คนปัจจุบัน แต่ตอนนี้มีสมัครใช้งานราว 20% เท่านั้น ซึ่งไตรมาส 1 ปี 2563 ทางบริษัทฯ จะเพิ่มช่องทางการเติมเงินผ่าน Mobile Banking เช่น ไทยพาณิชย์, กรุงเทพ, กสิกรไทย
“Rabbit LINE Pay คนยังน้อยมาก แสดงว่าคนยังชอบที่จะใช้บัตรเติมเงินอยู่ ยิ่งตอนนี้การแข่งขันตลาด e-Wallet ยังสูงขึ้นเรื่อยๆ บัตรแรบบิทต้องรักษาจุดแข็งที่ใช้กับระบบขนส่งสาธารณะ และขยายร้านค้าเครือข่ายให้มากขึ้น”
Rabbit LINE Pay เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการขยายฐานบัตร และในปี 2563 ทางบริษัทฯ จะร่วมมือกับบัตรเครดิต ออกบัตร Co-Brand ที่สามารถแตะจ่ายค่าโดยสารได้ที่สถานีโดยตรง
เปิดกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง Rabbit เจาะลูกค้าต่างประเทศ-ใช้บัตรบนรถเมล์
รัชนีกล่าวว่า กลยุทธ์หลักยังเน้นการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ดังนั้นนอกจากการใช้บนรถไฟฟ้า จะขยายไปที่รถประจำทาง (รถเมล์) โดยเฉพาะสายที่เชื่อมระหว่างจังหวัด เจาะหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด เช่น บุรีรัมย์, เชียงใหม่, ภูเก็ต ฯลฯ เพื่อขยายฐานผู้ใช้งาน ปัจจุบันมี 2 สาย ได้แก่ สมาร์ทบัสสาย 104 ปากเกร็ด-หมอชิต และสาย 150 ปากเกร็ด-บางกะปิ ภายในไตรมาส 1 ปี 2563 จะขยายระบบในรถสมาร์ทบัส 5 สาย ได้แก่ สาย 51, 52, 147, 167 ส่วนอีกหนึ่งสายอยู่ระหว่างการเจรจา
“ตอนนี้การทดลองใช้บัตรแรบบิทจ่ายเงินบนรถเมล์ไทยยังยากมาก เพราะสภาพแวดล้อมแบบไทยต่างจากระบบในต่างประเทศ เช่น รถเมล์ไทยคิดเงินตามระยะทาง เมื่อรถเมล์จอดไม่ตรงป้าย จะคิดเงินอย่างไร ฯลฯ”
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าปี 2563 บัตรแรบบิทใหม่จะเพิ่มขึ้นจากผู้โดยสายรถเมล์อย่างน้อย 3-4 แสนใบต่อปี ทำให้ทั้งปี 2563 คาดว่าจะมียอดบัตรใหม่รวม 15 ล้านใบ
อย่างไรก็ตาม แรบบิทยังมุ่งขยายฐานลูกค้าต่างชาติแม้จะมีสัดส่วนราว 5% ปีหน้าจะขยายผ่านช่องทางตัวแทนในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์และจีน รวมถึงโรงแรมต่างๆ
นอกจากนี้จะมีความร่วมมือกับ WeChat Alipay ซึ่งน่าจะเห็นความคืบหน้าในช่วงปลายปี 2563
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า