ดูเหมือนว่าการเจราจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนในเฟสแรกที่ผ่านมา แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีท่าที่อ่อนลง ยอมให้มีการจัดทำข้อตกลงแบบเป็นขั้นเป็นตอน ฝั่งจีนก็ยอมถอยหนึ่งก้าว และรับปากว่าจะซื้อสินค้าเพิ่ม เพื่อถมดุลการค้าที่สหรัฐฯเสียเปรียบ แต่ทั่วโลกก็ยังหวั่นใจว่า สงครามการค้านี้จะยังไม่จบง่ายๆ และประเทศไทยเองจะได้รับผลกระทบด้านการส่งออกมากน้อยเพียงใด สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และยังดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองทิศทางของภาวะเศรฐกิจและการส่งออกจากผลกระทบเรื่องนี้อย่างไร และในฐานะที่ EXIM BANK เป็นธนาคารของรัฐที่คอยสนับสนุน ให้คำปรึกษา และอยู่เคียงข้างผู้ส่งออก จะแนะทางรอดให้กับ SME ที่ทำธุรกิจส่งออกของไทยเช่นไร บทสัมภาษณ์นี้มีคำตอบ
“การส่งออกของไทยปี 2563 มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในปี 2562 โดย EXIM BANK คาดว่า การส่งออกจะกลับมาขยายตัวได้ที่ราว 0-2%” สุพันธุ์เปิดประเด็นให้เห็นว่า การส่งออกของไทยกำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง แม้จะช้า แต่มั่นใจว่าดี ได้แนวทางที่ถูกต้องให้กับ SME ไทย
“ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยพึ่งเศรษฐกิจโลกเยอะเหมือนกันนะ ค่าเงินอาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก สงครามการเมืองก็มีผลกระทบ ตอนนี้ก็ต้องรอดูว่า ถ้าการเจรจาระหว่างเรากับ EU มีความคืบหน้า ก็น่าช่วยให้ภาพรวมการส่งออกดีขึ้น อยากให้มองไปที่การค้าชายแดนด้วย ยังถือเป็นโอกาสของเรา โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กยังมีช่องทางมากขึ้น แนวโน้มในการส่งออกปีหน้าก็ยังมีโอกาสขยายตัวดีขึ้น เศรษฐกิจโลกในปีหน้าน่าจะดีกว่าปีนี้
ค่าเงินเราแข็ง ทำให้ผู้ส่งออกไทยเสียเปรียบด้านราคา เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่สกุลเงินแข็งค่าน้อยกว่า
สิ่งที่หลายคนกังวลอาจเป็นเรื่องของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ สุพันธุ์เองก็มองว่า นี่เป็นอีกหนึ่งวิกฤตที่ทุกประเทศต้องหาช่องทางเดินหน้าไปให้ได้ “ธุรกิจทั่วโลกแย่ลงหมด ไม่ใช่เฉพาะเมืองไทย ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวทั้งโลก ยกเว้นอเมริกาและบางประเทศ จะเห็นว่า ค่าเงินเราแข็งมากที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้ผู้ส่งออกไทยเสียเปรียบด้านราคา เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่สกุลเงินแข็งค่าน้อยกว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันของเราจึงเสียเปรียบมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็เป็นผลกระทบอย่างแน่นอนในเชิงการส่งออก”
ถึงจะมีการวิเคราะห์ว่า การที่สหรัฐฯ แบนสินค้านำเข้าจากจีน หรือจีนไม่ต้อนรับสินค้าจากสหรัฐฯ จะทำให้ประเทศอื่นๆ ใช้ช่องทางนี้ในการนำสินค้าตัวเองเข้าไปทดแทน มีสินค้าส่งออกของไทยหลายรายการขยายตัวได้ดีในสหรัฐฯ เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องนุ่งห่ม เครื่องจักรกล ส่วนประกอบรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ในส่วนเล็กๆ ดูเหมือนจะดี แต่ถ้ามองภาพรวมยังน่าเป็นห่วง “หากมองแยกส่วน การที่สหรัฐฯ ลดการนำเข้าสินค้าจากจีน นั่นคือโอกาสที่สินค้าไทยบางประเภทจะเข้าไปทดแทน หากมองในมุมนี้ การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ มีตัวเลขเติบโตขึ้น แต่ถอยมองภาพกว้าง เมื่อจีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ไม่ได้ จีนหาตลาดใหม่ เท่ากับว่า จีนกำลังแย่งตลาดของประเทศอื่นๆ ทำให้การส่งออกของไทยไปยังประเทศอื่นลดลง เช่น ญี่ปุ่น โดยเฉพาะฝั่งสหภาพยุโรป หรือ EU ติดลบ ดึงให้ตัวเลของค์รวมส่งออกของเราติดลบ”
เมื่อเกมการค้าเป็นเช่นนี้ EXIM BANK ในฐานะที่เป็นธนาคารของรัฐที่ช่วยผู้ส่งออก ก็นำประเด็นนี้มากำหนดนโยบายหลักที่ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือ SME ขนาดเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำการค้าส่งออก “นี่เป็นหน้าที่ของ EXIM BANK ที่ต้องให้ความช่วยเหลือในการให้ข้อมูลข่าวสาร เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ส่งออก การช่วยเหลือเรื่องการเงิน หรือแม้กระทั่งหาตลาดและจับคู่คู่ค้าทางธุรกิจ แต่ถึงอย่างไรเราก็ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือทั้งจากภาครัฐ กระทรวงต่างประเทศก็ดี กระทรวงพาณิชย์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาตลาด เป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันทำ”
สุพันธุ์ยังแสดงทัศนะที่น่าสนใจให้กับ SME ว่า ระหว่างที่สถาบันการเงินและภาครัฐเองก็เร่งเดินหน้าให้ความช่วยเหลือในทุกด้าน ผู้ประกอบการเองก็อาจต้องเริ่มปรับตัวเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน “ผู้ประกอบการมีหลายเลเวล ธุรกิจขนาดใหญ่เราไม่ห่วง แต่ระดับกลางและเล็กก็ต้องพัฒนาขีดความสามารถของตัวเอง จริงๆ แล้วประเทศไทยเรามีความสามารถด้านมืออาชีพ เรามีวัตถุดิบที่ดีด้านเกษตร แต่จะทำอย่างไรให้สองสิ่งที่มาผสมผสานกัน เช่น เกษตรแปรรูป เพราะถึงอย่างไรประเทศเราก็ต้องพึ่งสินค้าเกษตรเป็นหลัก เรามีต้นทุนตรงนี้ถูกที่สุด เพราะผู้ประกอบการเวลาจะดูสินค้าก็ต้องดูวัตถุดิบ สำหรับคนไทย การเกษตรเป็นเรื่องใหญ่และเกี่ยวข้องกับคนเยอะมาก เผอิญว่า การส่งออกเป็นภาพใหญ่ของ GDP แต่การส่งออกไม่ใช่ธุรกิจส่วนใหญ่ของคนในประเทศ เมื่อภาคประชาชนเริ่มปรับตัว จากนั้นจึงเป็นเรื่องของการพึ่งกลไกของภาครัฐและเอกชนในการช่วยเหลือ ในการขับเคลื่อนเข้าหาสภาอุตสาหกรรม หอการค้ามากขึ้น รัฐเองก็ต้องใช้หน่วยงานต่างๆ ที่เป็นเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ในการขยายตลาดให้กับ SME”
EXAC (ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า)
EXIM BANK ก็ไม่นิ่งนอนใจที่จะคอยให้ความรู้ใหม่ๆ กับ SME ล่าสุด เปิดหน่วยงานใหม่ EXAC (ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า) เพื่อช่วยให้ SME ไทยแข็งแรงอย่างยั่งยืน “EXAC เป็นหน่วยงานใหม่ที่เปิดขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องการอบรม เป็น Service Center ในการให้ข่าวสาร ความรู้ ในอนาคตเราจะจัดทำเป็นศูนย์บ่มเพาะนักลงทุนเหล่านี้ ผู้ประกอบการมีโอกาสเปิดตลาดมากขึ้น ให้ความรู้มากขึ้น และจะทำความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรม ซึ่งทางนั้นเองเขาก็จะไปร่วมมือกับสภาธุรกิจไทย-พม่า หรือสภาต่างๆ EXIM BANK ทำหน้าที่ประสานหน่วยงานภาครัฐ เราเองให้ความรู้ในการที่จะผลักดันให้ SME เติบโตและแข็งแรง”
เป็นหน้าที่ที่ต้องช่วยให้เขาแข็งแรงและเติบโต เพราะเราต้องการเห็นธุรกิจเติบโตไปกับแบงก์
หนึ่งในกลยุทธ์ที่สุพันธ์ ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และยังดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วางไว้ในตอนนี้คือ ต้องโฟกัสไปที่การช่วยเหลือลูกค้า EXIM BANK เข้มแข็ง
“นี่คือนโยบายที่เราผลักดันอยู่ วันนี้เรามีศูนย์พัฒนาให้ความรู้ การจะทำให้ลูกค้าเข้มแข็ง ไม่ใช่การให้เงินทุน เราต้องให้ความรู้ ให้ข้อมูล หาตลาด ช่วยวิเคราะห์ ป้อนวิธีการใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เขาได้เรียนรู้ สร้างโอกาสให้เขาไปเจอกับคู่ค้าที่ดี ชี้ช่องทางให้เขาได้เจอวัตถุดิบที่ดีและถูกเพื่อลดต้นทุน เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ขายได้ นี่คือสิ่งที่ EXIM BANK ต้องทำก่อนเป็นอันดับแรก เป็นหน้าที่ที่ต้องช่วยให้เขาแข็งแรงและเติบโต เพราะเราต้องการเห็นธุรกิจเติบโตไปกับแบงก์ ยิ่งขยายธุรกิจ ก็ต้องการเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่เราจะทำให้ลูกค้าเติบโตแบบยั่งยืน”
ผลักดันให้ SME เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนในแบบที่ EXIM BANK ต้องการคือแบบไหน? สุพันธุ์บอกว่า “เข้มแข็งในที่นี่คือ จะต้องเข้มแข็งเรื่องระบบ ตลาด เรื่องการเงินจะต้องเข้มแข็ง ให้เขาสามารถพัฒนาองค์กรได้ด้วยตัวเอง ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีอะไรที่จะพัฒนาให้องค์กรเขาเข้มแข็งได้ มีตลาดตรงไหนที่สามารถให้เขาไปได้ และมีเทคโนโลยีทางการตลาดตรงไหนที่ทำให้เขาสามารถขายของได้ง่ายขึ้น
“เรื่องนวัตกรรมเป็นเรื่องสำคัญนะ บ้านเราต้องยอมรับว่า เราให้ความสำคัญตรงนี้ไม่เยอะ รัฐบาลควรจะให้คนที่ทำนวัตกรรมได้ประโยชน์ ส่งเสริมตรงนี้ให้มาก เพราะหลังๆ จีนเข็มแข็งขึ้นจากสินค้า Innovation ทั้งหมด มันจะส่งเสริมตั้งแต่การลดต้นทุน เสริมทั้งด้านการผลิต และเสริมผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ออกมา ทำให้ผู้บริโภคต้องการ ประเทศไทยควรจะมีเครื่องมือและการลงทุนเรื่องนวัตกรรมให้มากขึ้น ที่จีนบางบริษัทลงทุนด้านนวัตกรรมมากกว่า 10% ของยอดขาย ในขณะที่บ้านเราลงทุนไม่ถึง 1% ของ GDP และยิ่ง SME ขนาดกลางถึงขนาดเล็ก แทบจะไม่มีงบประมาณทำเรื่องนี้เลย”
สุพันธุ์ยังบอกอีกว่า เรื่องนวัตกรรมวันนี้ถือเป็นโจทย์ของคณะกรรมการชุดใหม่ เพราะจะทำให้ SME ของไทยเข้มแข็ง “เรากำลังดูว่าจะช่วยเรื่องการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการส่งออกให้กับลูกค้าเราได้อย่างไร ต้องมองด้วยว่า SME ที่เราดูแลและพยายามผลักดันให้เขาเข้มแข็ง นวัตกรรมใดที่จะช่วยให้เขาไปต่อหรือไปไกลกว่าเดิม เพราะนวัตกรรมทำให้เกิดรายได้หรือลดต้นทุน อีกสิ่งหนึ่งก็คือ ต้องลดต้นทุนให้ได้ก่อน ก็จะเกิดประโยชน์มากขึ้น ส่วนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้องใช้เวลา”
ถ้าเราจะช่วยเหลือประเทศชาติ เราต้องดูแล SME รายเล็กขึ้นมา ให้เขากลายเป็นธุรกิจขนาดกลาง และเติบโตจนเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ให้ได้
“โดยเฉพาะ SME ขนาดเล็ก กลุ่มเกษตร เรายังใช้การพัฒนาแบบเดิมๆ นี่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเกษตรกรต้องได้รับการพัฒนา วันนี้นวัตกรรมทางการเกษตรไปไกลมากที่จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และได้สินค้าคุณภาพดี แต่เราไม่มีนวัตกรรมเรื่องปุ๋ยที่ดี เพราะปุ๋ยเป็นปัจจัยหลัก เรายังต้องนำเข้าอยู่ ทำให้ SME กลุ่มเล็กๆ เติบโตได้ช้ากว่า เพราะโอกาสที่เขาจะได้เห็น ได้มีโอกาสลงทุนน้อยกว่า”
ก่อนหน้านี้ EXIM BANK ดูแลลูกค้ารายใหญ่เยอะ แต่ปีนี้จะหันมาดูแล SME รายย่อยมากขึ้น โดยเฉพาะ SME ที่ทำธุรกิจส่งออก “ประเทศไทยไม่ได้มี SME ที่ทำส่งออกเยอะมาก แต่ SME ที่ไม่ได้ส่งออกโดยตรงก็เยอะ เป็น ODM ให้เขา แบงก์มีหน้าที่ขยาย SME โดยหลัก และเมื่อเราหันมาดูแลกลุ่มย่อย ก็เริ่มมีลูกค้า SME จากทุกธุรกิจเข้ามามากขึ้น เราต้องทำมากกว่านั้น ทั้งระบบภายในแบงก์และบุคลากรต้องเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยผู้ประกอบการมากขึ้น”
ถ้าปลาตัวเล็กมีเยอะกว่า แล้วทำไมสถาบันการเงินส่วนมากถึงไม่เลือกจับปลาใหญ่ วิเคราะห์ได้อย่างน่าสนใจ และยังทำให้เห็นไปถึงวิสัยทัศน์ของ EXIM BANK ที่ต้องการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กอย่างแท้จริง “ลูกค้ารายเล็กต้องใช้เวลาดูแลมากกว่า ได้วงเงินน้อยกว่า โอกาสหนี้เสียมากกว่า นี่เป็นสัจธรรม แต่ถ้าเราจะช่วยเหลือประเทศชาติ เราต้องดูแล SME รายเล็กขึ้นมา ให้เขากลายเป็นธุรกิจขนาดกลาง และเติบโตจนเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ให้ได้ ในปีนี้เราพบว่า มีจำนวนลูกค้ามากขึ้น แปลว่า EXIM BANK โฟกัสไปที่ลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น เอาใจใส่มากขึ้น เราก็เข้มแข็งด้านบุคลากรมากขึ้น จึงทำให้มีเพียงพอที่จะไปดูแลลูกค้า ทุกวันนี้เราพยายามจะดูแลระบบไอที เทคโนโลยี เพื่อช่วยผู้ประกอบการได้ง่ายขึ้น ในการปล่อยสินเชื่อและดูแล”
สุพันธุ์ทิ้งท้ายถึงเรื่องทิศทางการเงินและการลงทุนในไทยที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อ SME ไทยในทุกธุรกิจว่า “การลงทุนเป็นโอกาสที่ดี หลังจากมีสงครามการค้า มีนักลงทุนเข้ามาเยอะมาก ประเทศจีน รวมถึงประเทศอื่นๆ สนใจมาลงทุนในประเทศไทย หรือย้ายฐานการผลิต นี่เป็นโอกาสของเรา เราได้เปรียบอาเซียนตรงที่เรามีสาธารณูปโภคพร้อม เรามีความแข็งแกร่งด้านการเงิน และชัยภูมิที่ดีในการกระจายตลาด นี่เป็นสิ่งที่ประเทศไทยมีความพร้อม หากเทียบกับเวียดนามที่ตอนนี้เหมือนเป็นดาวรุ่ง เนื่องจากค่าแรงถูก ที่ดินราคาถูก ต้องยอมรับว่า บางชัยภูมิเวียดนามกับเราแข่งขันกัน การส่งออกของเขาอาจได้เปรียบมาก แต่บ้านเราก็ได้เปรียบไม่น้อย เรามีชายแดนที่ติดกัมพูชา ลาว พม่า มาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดใหญ่
ถ้าเราคิดจะเป็นที่หนึ่งในตลาดอาเซียน อาจต้องไปเน้นที่เกษตรและอุตสาหกรรม
“โจทย์คือ อาจต้องพุ่งเป้าไปที่จะทำอย่างไรให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนหรือสร้างฐานการผลิตที่ไทย ทำอย่างไรให้เขาใช้ Supply Chain ของเรา ทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมไทยได้ประโยชน์จากการลงทุนของต่างชาติ ไม่ใช่ได้แค่ค่าแรง เพราะอีกหน่อยการลงทุนก็มาพร้อมเครื่องจักรหมด แรงงานคนก็ใช้น้อยลง ดังนั้น ถ้าเราจะยั่งยืนระยะยาว ก็ต้องให้เขาใช้ Supply Chain ของเรา
“แต่ถ้าเราคิดจะเป็นที่หนึ่งในตลาดอาเซียน อาจต้องไปเน้นที่เกษตรและอุตสาหกรรม ไทยยังมีผลิตภัณฑ์มากมายพวก Health Care หรือเครื่องสำอาง แม้จะเป็นรายได้จำนวนไม่เยอะถ้าเทียบกับอุตสาหกรรมหนักอย่างรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ แต่เราจะได้กลุ่มคนเยอะ ก็ต้องเลือกว่าจะมองอะไร มอง GDP หรือจะมองคนไทยอยู่ได้ ถ้ามอง GDP ก็ต้องเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมหนักๆ ยานยนตร์ อิเล็กทรอนิกส์ แต่ถ้าเอาคนส่วนมากอยู่ได้ก็ต้องหันมาพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม อาหาร เครื่องสำอาง ซึ่งเราเริ่มแข็งแรงแล้ว”
หรือการมองหากลุ่มประเทศตลาดใหม่ หรือ New Frontiers ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ EXIM BANK เริ่มกรุยทางให้กับ SME “กลุ่มประเทศเอเชียใต้ เอเชียกลาง หรือแอฟริกา กำลังเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ทิศทางการลงทุนของไทยในอนาคตก็อาจจะเบนเข็มไปสู่กลุ่มประเทศ New Frontiers มากขึ้น เนื่องจากเพิ่มเปิดรับการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ หรืออยู่ระหว่างพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค รวมถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของสังคมเมืองและกลุ่ม Middle Class ล้วนนำมาซึ่งความต้องการสินค้าและบริการ
“สิ่งที่ EXIM BANK จะช่วยผู้ประกอบการได้ในการรุกตลาด New Frontiers คือเสริมความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งการจัดเตรียมหลักสูตรฝึกอบรม เช่น ขั้นตอนการส่งออก การจัดการทางบัญชีและการเงิน หรือการสร้างเครือข่ายกรุยทางให้กับการรุกตลาดใหม่ สร้างเครือข่ายพันธมิตร และสนับสนุนสินเชื่อและป้องกันความเสี่ยงผ่านผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่ตอบรับกับโอกาสและรูปแบบการทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในตลาด New Frontiers เช่น สินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ซื้อแฟรนไชส์ไทยโดยเฉพาะใน CLMV รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการทำธุรกิจ เช่น บริการประกันการส่งออกและบริการการลงทุน ซึ่งครอบคลุมความเสี่ยงทางการค้าและความเสี่ยงทางการเมือง”
สุดท้ายแล้วหากเราสามารถนำจุดแข็งมาต่อยอด พัฒนาจุดอ่อน และหาช่องทางทำตลาดที่ต่อกรกับอาเซียนได้ หรือแม้แต่หาตลาดส่งออกที่เราเป็นที่หนึ่งได้ ทิศทางตัวเลขการส่งออกของไทยน่าจะมีแนวโนมที่ดีขึ้น โดยไม่ต้องหวั่นใจกับการแปรผันของเศรษฐกิจโลกมากนัก เมื่อนั้น EXIM BANK เองก็พร้อมที่จะเป็นหนึ่งในสปอนเซอร์หลักของผู้ส่งออกทั้งหมดในประเทศ และเป็นศูนย์กลางการให้ข้อมูลด้านส่งออกและช่วยเหลือเรื่องการเงินให้กับ SME