ตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า จากต้นปี 2562 ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 7.41% เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และยังแข็งค่ากว่าสกุลเงินอื่นๆ ในตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย สาเหตุหลักเพราะปัจจัยพื้นฐานของไทยที่เกิดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ทั้งการส่งออกที่น้อยลง ทำให้ผู้ส่งออกนำเข้าในรูปแบบดอลลาร์สหรัฐลดลงไปด้วย
ทั้งนี้ปี 2563 ทางธนาคารมองว่าค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าน้อยลงคืออยู่ที่ 1-2% จากปีนี้ที่แข็งค่าถึง 7% และหากดูย้อนหลัง 4 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2559) ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่า 16% ทำให้ปีหน้าค่าเงินบาทมีโอกาสจะแข็งค่ากว่านี้ได้ยาก โดยทางธนาคารคาดว่าปี 2563 ช่วงที่เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าที่สุดคือไตรมาส 4/63 อยู่ที่ 29.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ช่วงที่มีโอกาสอ่อนค่าที่สุดคือไตรมาส 1/63 อยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
“ปี 2563 เรามองเงินบาทอยู่ในทิศทางแข็งค่า แต่เป็นการแข็งค่าที่ชะลอตัวลงจากปีนี้ เพราะตลาดระมัดระวังสัญญาณการดูแลค่าเงินบาทเพิ่มเติม จากก่อนหน้านี้ทางผู้กำกับได้ในปีหน้า”
ส่วนปี 2563 นี้มีปัจจัยเสี่ยงต่อค่าเงินบาท ได้แก่
- ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งอาจทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงและบาทแข็งค่าขึ้น
- การตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดทั้งปี 2563 เพราะปัจจุบันการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอาจไม่ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ หาก กนง. เลือกจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกอีกเพียง 1 ครั้ง
- สงครามการค้า (Trade War) ซึ่งคาดว่าจะยืดยาวไปถึงปีหน้า แม้ว่าการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ระยะที่ 1 จะสำเร็จก็ตาม
- กรณีสหราชอาณาจักรจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยวันที่ 31 มกราคม 2563 ถือเป็นเส้นตาย ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดมากนัก เพราะนักลงทุนรับทราบข่าวและปรับตัวมาระยะหนึ่งแล้ว
- การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะส่งผลต่อการออกนโยบายในช่วงหาเสียง อาจจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวค่าเงินบาท
- การสรรหาผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย วาระปี 2563-2568 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแนวทางนโยบายการเงินในอนาคต
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์