ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา เดินทางไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) หรือศาลโลก ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ วานนี้ (10 ธันวาคม) เพื่อทำหน้าที่ผู้นำทีมกฎหมายต่อสู้คดีที่เมียนมาถูกกล่าวหาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮีนจา
คดีนี้เกิดขึ้นหลังแกมเบีย ประเทศเล็กๆ ในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เป็นฝ่ายยื่นฟ้องต่อเมียนมาในนามตัวแทน 57 ชาติสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) โดยกล่าวหาเมียนมาว่าละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แห่งองค์การสหประชาชาติ จากการที่กองทัพเมียนมานำกำลังเข้ากวาดล้างชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่เมื่อปี 2017 ซึ่งส่งผลให้ชาวโรฮีนจาหลายพันคนเสียชีวิต และกว่า 7 แสนคนต้องหนีการสู้รบข้ามชายแดนไปยังบังกลาเทศ แต่กองทัพเมียนมายืนยันปฏิเสธมาโดยตลอด และอ้างว่าเป็นการปราบปรามกลุ่มติดอาวุธในหมู่ชาวโรฮีนจา ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศ
การไต่สวนคดีเบื้องต้นจะใช้เวลา 3 วัน ในวันแรกนี้ฝ่ายแกมเบีย นำทีมโดย อาบูบาคาร์ ตัมบาดู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแกมเบีย ขอให้ศาลโลกมีคำสั่งดำเนินมาตรการฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชาวโรฮีนจาจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเมียนมาในทันที และขอให้เก็บหลักฐานเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงชดเชยชาวโรฮีนจาที่ตกเป็นเหยื่อ
“ผมยืนตรงหน้าคุณเพื่อปลุกความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของโลกนี้ และกระตุ้นเตือนเสียงของประชาคมโลก” ตัมบาดูกล่าว
ส่วนหนึ่งของคำฟ้องความหนา 46 หน้าที่แกมเบียยื่นต่อศาลโลก ระบุข้อกล่าวหาต่อเมียนมาที่ชัดเจนว่ามีความตั้งใจทำลายล้างชาวโรฮีนจาทั้งหมดหรือบางส่วนด้วยวิธีฆาตกรรมหมู่ ข่มขืน และจุดไฟเผาบ้านที่มีชาวโรฮีนจาถูกขังอยู่ภายใน
ขณะที่ซูจีจะขึ้นให้การต่อศาลเพื่อชี้แจงและแก้ต่างข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดังกล่าวในวันนี้ (11 ธันวาคม) คาดว่าเธอและทีมกฎหมายเมียนมาจะโต้แย้งข้อกล่าวหาว่าปฏิบัติการทั้งหมดของกองทัพเมียนมาเป็นการต่อต้านการก่อการร้ายที่กระทำอย่างถูกกฎหมาย เพื่อตอบโต้การโจมตีจากกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮีนจา
ที่ผ่านมาซูจีต้องตกอยู่ภายใต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงจากนานาชาติจากท่าทีนิ่งเฉยของเธอต่อการกวาดล้างชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ ซึ่งทำให้เธอถูกเรียกคืนหลายรางวัลเกียรติยศด้านสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ตาม ชาวเมียนมาในประเทศหลายพันคนต่างออกมาร่วมเดินขบวนทั้งในนครย่างกุ้งและหลายเมืองเพื่อแสดงความสนับสนุนและให้กำลังใจซูจีและทีมกฎหมายในการต่อสู้คดี ส่วนที่กรุงเฮก ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาหลายสิบคนจากบังกลาเทศและหลายประเทศในยุโรปเดินไปร่วมชุมนุมประท้วงที่หน้าศาลโลกเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม และขอให้เมียนมายุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา หนึ่งในนี้คือ ราฟิก โมฮัมเหม็ด วัย 33 ปี ที่ครอบครัวหนีออกจากเมียนมาตั้งแต่เขายังเด็ก
“เราผิดหวังในตัวเธอ (ซูจี) อย่างมาก ลุงของผมถูกทหารเมียนมายิงตายในปี 2017 เรามาที่นี่เพื่อทวงความยุติธรรม” โมฮัมเหม็ดกล่าว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- www.bbc.com/news/world-asia-50667966
- www.theguardian.com/world/2019/dec/10/aung-san-suu-kyi-court-hague-genocide-hearing-myanmar-rohingya
- www.aljazeera.com/news/2019/12/aung-san-suu-kyi-icj-myanmar-faces-genocide-case-191205102207677.html
- www.irrawaddy.com/news/burma/leaders-of-myanmars-religious-groups-express-support-for-state-counselors-legal-battle-in-the-hague.html