วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 เป็นวันที่คณะทหารซึ่งประกอบด้วย นายพลทหารบก พลทหารเรือ และนายพลทหารอากาศ จำนวน 9 คน คือ พล.อ. ผิน ชุณหะวัณ, พล.ท. เดช เดชประดิยุทธ, พล.ท. สฤษดิ์ ธนะรัชต์, พล.ร.ต. หลวงยุทธศาสตร์โกศล, พล.ร.ต. หลวงชำนาญอรรถยุทธ, พล.ร.ต. สุนทร สุนทรนาวิน, พล.อ.อ. ฟื้น รณภากาศฤทธาคนี, พล.อ.ท. หลวงเชิดวุฒากาศ และ พล.อ.ท. หลวงปรุงปรีชากาศ ซึ่งได้เรียกตัวเองว่า ‘คณะบริหารประเทศชั่วคราว’ ได้ยึดอำนาจล้มรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ของพวกตัวเอง และล้มรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในขณะนั้น
ตอนนั้น พ.ศ. 2494 รัฐบาลที่ถูกล้มไปก็คือ รัฐบาลที่มี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี หลังการยึดอำนาจแล้ว ก็ตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นมาใหม่
ทั้งนี้ สาเหตุเนื่องจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี อ้างว่า ไม่ได้รับความสะดวกในการบริหารราชการแผ่นดิน เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ขณะนั้น ไม่เอื้อให้เกิดประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน
คณะบริหารประเทศชั่วคราวได้แสดงความชื่นชมรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 และได้ประกาศนำกลับมาใช้อีก และต่อมา จอมพล ป. และคณะรัฐประหารได้แก้ไขเพิ่มเติม นำมาสู่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ซึ่งสาระสำคัญคือ มี ส.ส. 2 ประเภท ทั้งแบบเลือกตั้งและแต่งตั้ง
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้รัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อยู่ยืนนาน มาจนถึงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จึงถูก จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจล้มรัฐบาล แต่ไม่ได้ล้มรัฐธรรมนูญ
อ้างอิง:
- สถาบันพระปกเกล้า
- wiki.kpi.ac.th/index.php?title=29_พฤศจิกายน_พ.ศ._2494