วันนี้ (27 พฤศจิกายน) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการวางตัวบุคคลที่จะทำหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า พรรคเพื่อไทยเห็นว่า บุคคลที่จะมาทำหน้าที่ดังกล่าวจะต้องยึดมั่นในหลักการ 4 เรื่อง
- จะต้องเป็นบุคคลที่มองเห็นปัญหา มองเห็นจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาประเทศอย่างไร
- จะต้องเป็นบุคคลที่ไม่ได้รับประโยชน์จากความไม่ชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ จะต้องไม่ใช่กลุ่มคนที่เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมา เพื่อสืบทอดอำนาจตนเองหรือผู้ที่ได้รับอานิสงส์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จากการสืบทอดและดำรงตำแหน่งต่างๆ
- จะต้องเป็นบุคคลที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย และสร้างให้ประเทศมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างถูกต้องตามหลักการประชาธิปไตย เป็นสากล โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ยึดรัฐราชการเป็นศูนย์กลางอย่างในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
- จะต้องเป็นบุคคลที่ฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน ไม่รับคำสั่งจากผู้มีอำนาจมาแก้ไข เพื่อประโยชน์ของการสืบทอดอำนาจต่อ
นอกจากนี้คุณหญิงสุดารัตน์มองว่า รายชื่อที่ถูกเปิดเผยมาจากฝั่งรัฐบาล มีเจตนาที่จะดึงเกมหรือแก้เกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะนั่นอาจหมายถึงความไม่จริงใจ โดยบุคคลที่จะมาทำหน้าที่เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญจะต้องเป็นผู้ที่มองเห็นปัญหาและจุดอ่อน รวมถึงมีความตั้งใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ขณะเดียวกันเห็นว่า บุคคลที่ถูกเสนอชื่อโดยรัฐบาลเป็นบุคคลที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คนเหล่านี้จึงไม่ต้องการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่อาจเข้ามาเพื่อเล่นเกมการเมืองเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงภารกิจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ เพราะทุกคนเห็นจุดอ่อนและปัญหาร่วมกันแม้แต่รัฐบาล ตั้งแต่ยุค คสช. ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกคำสั่งแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยมาตรา 44 ที่ตนเองเป็นผู้เขียนขึ้นมาหลายครั้ง จนกระทั่งมายุครัฐบาลเลือกตั้ง กรณีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก็ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยเตือนว่า อย่าส่งคนเข้ามาป่วนหรือยื้อเป็นเกมการเมือง วันนี้ขอความจริงใจ เพราะพรรคในฝ่ายรัฐบาลก็เสนอญัตติดังกล่าวเช่นกัน จึงขอความจริงใจให้ประชาชน อย่าพยายามยื้อ การศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนที่ผ่านมา
“แม้รัฐบาลจะมีเสียงมากกว่าฝ่ายค้าน แต่รัฐบาลจะอยู่ได้ด้วยความจริงใจ และได้รับความศรัทธาจากประชาชน” คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม คุณหญิงสุดารัตน์ย้ำด้วยว่า ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ โดยเริ่มต้นจากการปลดล็อกมาตรา 256 ซึ่งไม่ควรใช้เวลาศึกษานานเกินไป จากนั้นเปิดทางให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ดึงผู้รู้จริงทุกฝ่ายเข้ามา ร่วมกันแก้ไขให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล