วันนี้ (26 พฤศจิกายน) มณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า การนอนหลับในรถ โดยสตาร์ทเครื่องยนต์และเปิดเครื่องปรับอากาศ จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย
โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขอแนะข้อควรปฏิบัติในการนอนหลับในรถอย่างปลอดภัย ดังนี้ จอดรถในบริเวณที่ปลอดภัย มีแสงไฟส่องสว่าง และอยู่ในจุดที่ผู้คนสัญจรผ่านสามารถมองเห็นได้ เช่น สถานีบริการน้ำมัน จุดพักรถริมทาง หรือป้อมตำรวจทางหลวง ฯลฯ ไม่จอดนอนในบริเวณที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น ลานจอดรถชั้นใต้ดิน
เนื่องจากจะทำให้อากาศไม่ไหลเวียน ทำให้ร่างกายสูดดมควันจากท่อไอเสียเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก ดับเครื่องยนต์และปิดเครื่องปรับอากาศ เพื่อไม่ให้ระบบปรับอากาศดูดควันจากท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร จะช่วยป้องกันการสูดดมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าสู่ร่างกายขณะหลับ ควรเปิดพัดลมแอร์แทนเครื่องปรับอากาศ เพื่อช่วยดูดอากาศภายนอกเข้ามาหมุนเวียนภายในห้องโดยสาร ลดกระจกลงทั้ง 4 ด้าน หรือด้านใดด้านหนึ่งเล็กน้อย เพื่อระบายอากาศ และให้อากาศในรถหมุนเวียนได้สะดวกขึ้น ไม่นอนหลับในรถเป็นเวลานาน โดยควรพักหลับประมาณ 30-40 นาที จะช่วยลดความอ่อนล้าได้
สำหรับวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ช่วยชีวิตอย่างปลอดภัย หากพบผู้ประสบเหตุ ให้เคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุออกจากรถ โดยนำไปอยู่บริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อให้ได้รับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย กรณีหายใจติดขัดหรือหยุดหายใจ ให้ผายปอด และรีบนำผู้ประสบเหตุส่งโรงพยาบาล หรือโทร.แจ้งทีมกู้ชีพกู้ภัยนำเครื่องช่วยหายใจมาพร้อมกับรถพยาบาล ในการนำส่งสถานพยาบาล
ทั้งนี้ ระบบปรับอากาศของรถยนต์จะดูดควันจากท่อไอเสีย ซึ่งเป็นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้ามาภายในรถ หากสูดดมเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากเป็นระยะเวลานานจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และอาจทำให้เสียชีวิตได้
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล