‘สนุก’ น่าจะเป็นความรู้สึกแรกและความรู้สึกเดียวที่เราสัมผัสได้จากการฝ่าดงระเบิดและห่ากระสุนตลอดระยะเวลา 2 ชั่วโมงที่หนังเรื่อง Midway (สหรัฐอเมริกาถล่มญี่ปุ่น) พาเราไปสำรวจหนึ่งในเวลาประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
เพราะฉะนั้นถ้าคุณคาดหวังความสนุก สะใจเวลาได้เห็นการขับเครื่องบินทิ้งระเบิดใส่เรือรบ ทำสงครามสู้รบทั้งบนแผ่นฟ้าและท้องทะเลด้วยสเปเชียลเอฟเฟกต์ตระการตาตามแบบหนังฟอร์มยักษ์ งานสร้างเข้าขั้นเนี้ยบ จำลองอาวุธและเครื่องบินได้อย่างสมจริง เราก็พูดได้ว่าผลงานของผู้กำกับ โรแลนด์ เอมเมอริช (Independence Day, Godzilla, The Day After Tomorrow, 2012 ฯลฯ) ตอบโจทย์ความต้องการนี้ได้แบบไม่ทำให้รู้สึกเสียดายเวลาและค่าตั๋ว
แต่สำหรับคอหนังสงครามที่อยากได้ยินเสียงหัวใจมากกว่าเสียงระเบิด อยากเห็นความบีบคั้น มวลบรรยากาศโดยรอบของพื้นที่สงคราม อยากเห็นความเจ็บปวด ดำดิ่งลงไปกับคนที่ต้องมีส่วนกับสงครามที่กำหนดชะตาชีวิตของมนุษยชาติแบบเต็มที่ Midway อาจจะมอบความรู้สึกเหล่านั้นให้ได้ไม่มากเท่าไรนัก
Midway เล่าเหตุการณ์ในช่วงปฏิบัติการมิดเวย์ สงครามทางอากาศยานที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดระหว่างกองทัพสหรัฐอเมริกาและกองทัพญี่ปุ่นในวันที่ 4-6 มิถุนายน 1942 โดยเล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์ 6 เดือนก่อนหน้า นับจากกองทัพอากาศญี่ปุ่นบุกทิ้งระเบิดทำลายกองทัพของสหรัฐอเมริกาที่อ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์
เป้าหมายต่อไปของญี่ปุ่นคือการบุกยึดเกาะมิดเวย์อะทอลล์ พื้นที่สำคัญที่อยู่กึ่งกลางระหว่างสองประเทศ ถ้าญี่ปุ่นยึดพื้นที่นี้ได้สำเร็จจะเพิ่มโอกาสในการโจมตีกองทัพสหรัฐอเมริกาได้สะดวกยิ่งขึ้น ส่วนภารกิจของกองทัพสหรัฐอเมริกาคือหยุดยั้งการโจมตีและ ‘แก้แค้น’ ให้กับผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์เพิร์ลฮาร์เบอร์ให้ได้ โดยมีการทำงานที่มีประสิทธิภาพของ ‘หน่วยข่าวกรอง’ กองทัพสหรัฐอเมริกาเข้ามาเป็นข้อได้เปรียบสำคัญในสงครามครั้งนี้
แม้ตัวหนังจะมีการปูพื้นฐานตัวละครและเส้นเรื่องอื่นๆ นอกจากการสู้รบอยู่บ้าง แต่เนื่องจากต้องเกลี่ยน้ำหนักส่วนใหญ่ให้กับฉากสู้รบ ทำให้เราไม่ทันได้เห็นความรู้สึกลึกๆ ของตัวละครทั้งหมดเท่าไร
คือมีทั้งความแค้น ความกลัว ความกดดัน ความเหนื่อยหน่าย ความเป็นห่วงของภรรยาที่เฝ้ารอข่าวของสามีอยู่ที่บ้าน มีทั้งพาร์ตเล่าความรู้สึกของทหารกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งยอมรับว่าทั้งหมดเป็นความตั้งใจที่ดีและควรชื่นชมของคนเขียนบทและผู้กำกับ
แต่อย่างที่บอกว่าเมื่อมีเวลาให้พูดถึงไม่มากนัก อาจมีบางครั้งที่เริ่มรู้สึกอินไปกับตัวละคร แต่ไม่นานนักก็กลับสู่โหมดรบอีกครั้ง ที่ถึงแม้ทำได้ดีทั้งหมด แต่ก็มีการฉายฉากซ้ำๆ ไม่มีอะไรแตกต่างให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ทำให้เรามีโอกาสเห็นมุมมองอื่นๆ ได้น้อยเหลือเกิน
รวมทั้งตัวละครจำนวนมากที่มีส่วนสำคัญกับปฏิบัติการมิดเวย์ ตรงนี้เราเข้าใจได้ว่าเป็นความจำเป็นที่ต้องเคารพบุคคลในประวัติศาสตร์หลายคน แต่เมื่อมีเยอะและมีเวลาให้ไม่มาก แถมทหารหลายคนก็มักจะอยู่ในชุดนักบินที่มีหมวกคลุม ทำให้แยกแยะได้ยากว่าใครเป็นใคร
ถ้าไม่นับตัวละครหลักอย่าง ริชาร์ด ดิ๊ก เบสต์ (รับบทโดย เอ็ด สไครน์) นักบินผู้ห้าวหาญ แต่เริ่มเกิดความวิตกกังวลและได้ซีนทิ้งระเบิดไป 3 ครั้งเต็มๆ, เชสเตอร์ นิมิตซ์ (รับบทโดย วูดดี้ ฮาร์เรลสัน) ผู้บัญชาการรบ และเอ็ดวิน เลย์ตัน (รับบทโดย แพททริก วิลสัน) หัวหน้าหน่วยข่าวกรอง
เราก็แทบจดจำหรือเชื่อมโยงความรู้สึกเข้ากับตัวละครอื่นๆ ไม่ได้เลย บางตัวละครเราไม่ทันนึกออกด้วยซ้ำว่าตายจากเราไปตั้งแต่เมื่อไร
ถ้ามองในมุมหนังบันทึกประวัติศาสตร์ Midway ถือว่าทำได้ตามมาตรฐานที่ย่นย่อปฏิบัติการที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนออกมาเป็นเส้นตรงที่เข้าใจได้ไม่ยาก (มีบางช่วงที่เร็วไปบ้าง และการบอกพิกัดบนแผนที่ที่ถ้าไม่มีความรู้ด้านภูมิศาสตร์ เราจะนึกภาพไม่ออกเลยว่าอยู่ตรงไหน)
แต่ก็มีความน่าเสียดายตรงที่รายละเอียดหลายๆ ช่วงเวลาที่ทำให้ปฏิบัติการมิดเวย์เป็นหนึ่งในสงครามที่สนุก ซับซ้อน พลิกไปพลิกมา หายไปเยอะพอสมควร
เพราะปฏิบัติการนี้มีวัตถุดิบหลายอย่างน่าสนใจ จนเราคิดไปถึงขนาดว่าน่าจะแบ่งออกเป็นซีรีส์ขนาดยาวที่มีช่วงให้พูดถึงตัวละครทีละคน และค่อยๆ คลายปริศนาและแผนการของแต่ละฝั่งที่ตอบโต้กันไปมาอย่างดุเดือดจนกลายเป็นมหากาพย์ซีรีส์ที่สนุกและน่าสนใจเรื่องหนึ่งได้เลย
ตัวอย่างภาพยนตร์ Midway
https://www.youtube.com/watch?v=fTULe3uFUAg
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์