×

กนง. มีมติ 5:2 ลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1.25% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

โดย SCB WEALTH
06.11.2019
  • LOADING...

เกิดอะไรขึ้น:

บ่ายวันนี้ (6 พฤศจิกายน) ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% อยู่ที่ระดับ 1.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และเป็นระดับใกล้เคียงกับวิกฤตการเงินโลกหรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551 

 

โดยการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้มีสาเหตุมาจากการมองเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกที่หดตัวจากผลกระทบของสงครามการค้า ซึ่งกระทบต่อการจ้างและอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจากราคาพลังงานที่ต่ำลงตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และการขยายตัวของธุรกิจ E-Commerce ที่มีการแข่งขันทางด้านราคาสูง รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยี ซึ่งช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่าในอดีต

 

ทั้งนี้ กนง. ยังมีความกังวลต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่า จึงทำให้มีการออก 4 มาตรการผ่อนปรนเกณฑ์เงินทุนไหลออก เพื่อลดแรงดันเงินบาทแข็งค่า ประกอบด้วย

 

  1. การอนุญาตให้ผู้ประกอบการไม่ต้องโอนรายได้จากการส่งออกกลับเข้าประเทศ
  2. การผ่อนปรนความเข้มงวดการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ
  3. การเปิดเสรีการโอนเงินออกนอกประเทศมากขึ้น 
  4. การอนุญาตให้ซื้อขายทองคำในประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศ

 

กระทบอย่างไร:

หลังทราบผลการประชุมของ กนง. ว่ามีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้เปิดตลาดช่วงบ่าย ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์พลิกปรับลดลงจากที่ราคาดีดตัวแรงในช่วงเช้า ส่วนหุ้นสินเชื่อเช่าซื้อ-ลิสซิ่ง และหุ้นกลุ่มกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ฯ ฟื้นตัวขึ้นจากช่วงเช้าที่ปรับตัวลง 

 

ขณะที่ภาพรวม SET Index วันนี้ไม่ได้ตอบรับในเชิงบวกต่อการลดดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากตลาดอาจตีความได้ว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวจนต้องได้รับการกระตุ้น นอกจากนี้อีกเหตุผลน่าจะเกิดจากสัปดาห์นี้ SET Index ปรับเพิ่มขึ้นไปแล้วกว่า 2.2% WTD จึงเห็นการพักตัวของดัชนีหุ้นไทยในวันนี้

 

มุมมองระยะสั้น:

SCBS มองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้จะส่งผลบวกต่อผลการดำเนินงานของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่เน้นปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อและกลุ่มลิซซิ่ง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยปล่อยกู้ส่วนใหญ่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ ขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมส่วนใหญ่มาจากหุ้นกู้และเงินกู้ยืม ซึ่งบางส่วนเป็นดอกเบี้ยลอยตัว จึงทำให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin: NIM) กว้างขึ้น 

 

เช่นเดียวกับหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่คาดจะได้อานิสงส์จากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ โดยผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์จะมีภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่ลดลง รวมถึงผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์จะตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น เนื่องจากได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลง ส่งผลให้ภาระการผ่อนชำระเงินของผู้ซื้อลดลง 

 

แต่อย่างไรก็ตาม SCBS มองว่า ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยังคงได้แรงกดดันหลักจากเกณฑ์การคุมเข้มสินเชื่อด้วยมาตรการ LTV ใหม่ของ ธปท. เช่นเดิม

 

สำหรับหุ้นกลุ่มที่ได้ผลกระทบเชิงลบ ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีสัดส่วนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยลอยตัวสูง ซึ่งจะทำให้มีดอกเบี้ยรับลดลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งเป็นต้นทุนทางการเงินหลักของธนาคารพาณิชย์ อาจมีการปรับลงได้ช้ากว่าการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin: NIM) ทิศทางที่ลดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยและกดดันต่อทิศทางผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ที่มีสัดส่วนสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวสูง

 

ขณะที่ผู้ประกอบการส่งออก SCBS คาดว่า ในระยะสั้นนี้จะได้ Sentiment เชิงบวกจาก 4 มาตรการผ่อนปรนเกณฑ์เงินทุนไหลออก ซึ่งจะช่วยให้ลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่าได้

 

มุมมองระยะยาว:

ระยะยาวยังคงต้องติดตามแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจว่าจะสามารถเติบโตได้ตามที่ ธปท. ประเมินหรือไม่ ซึ่ง กนง. จะมีการปรับประมาณการใหม่ในการประชุมเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ ตลอดจนติดตามทิศทางค่าเงินบาท หากเริ่มเห็นสัญญาการอ่อนค่า จะช่วยลดแรงกดดันต่อภาคการส่งออกได้

 

ข้อมูลพื้นฐาน:

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นหนึ่งในคณะกรรมการหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมีหน้าที่รับผิดในการกำหนดทิศทางของนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนให้ระบบเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว โดย กนง. จะดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) ซึ่งให้ความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพทางด้านราคา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X