การประชุมอาเซียนซัมมิต ครั้งที่ 35 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพและปิดฉากไปแล้ว มีเรื่องราวน่าสนใจทั้งในแง่เกมการเมืองระหว่างประเทศและเรื่องใหญ่ทางเศรษฐกิจที่ทั่วโลกจับตา นั่นคือกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP
สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ กล่าวกับ THE STANDARD ว่า RCEP เริ่มต้นในปี 1991 จาก ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่เรียกว่าความร่วมมือทางเขตเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (East Asia Economic Caucus – EAEC) คือ 10 ประเทศอาเซียน รวมกับจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน แต่เมื่อไม่สำเร็จในตอนนั้นก็มาเป็นอาเซียน +3 (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น) แล้วก็มาเป็นอาเซียน +6 โดยเพิ่มออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดียเข้ามา
จุดเริ่มต้นของ RCEP มาจากการผลักดันของจีนซึ่งกังวล TPP หรือข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกซึ่งเป็นของสหรัฐอเมริกาในสมัย บารัก โอบามา เป็นประธานาธิบดี ซึ่งไม่มีจีนอยู่ในนั้น เพราะฉะนั้นการผลักดัน RCEP ที่นำโดยจีนก็ไม่มีสหรัฐอเมริกาอยู่ในนั้นเช่นกัน
RCEP ในระยะยาวจะกลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก ตลาดร่วม เปิดเสรีสินค้า-บริการ และแรงงาน ซึ่งใช้เวลานับ 10 ปีเป็นอย่างต่ำ แต่ตัวนี้อย่าไปมองว่าไกล เพราะการเป็นเขตการค้าเสรี แต่ละประเทศจะค่อยๆ ลดกำแพงทางการค้าลงเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่มีอีกต่อไป
สิ่งที่จะเกิดขึ้นหากมี RCEP คือสินค้าเข้าออกระหว่างประเทศสมาชิกจะเหมือนอยู่ในประเทศเดียวกันโดยไม่จำกัดโควตา ประชากรกว่า 3,500 ล้านคนหรือครึ่งหนึ่งของโลก ด้วยขนาด GDP ราว 1 ใน 3 ของโลก
RCEP เริ่มต้นการเจรจาในปี 2012 กว่าจะมาถึงการเจรจากันที่ประเทศไทยก็ใช้เวลาไปแล้ว 6 ปี 6 เดือน
แต่ที่สุดแล้วการประชุมที่ประเทศไทยก็ยังปิดดีล RCEP ไม่สำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ ติดปัญหาที่ประเทศอินเดียซึ่งยังไม่เห็นด้วยในรายละเอียด ได้แก่
- อินเดียไม่อยากให้สินค้าจีนไหลทะลักเข้ามาจนควบคุมไม่ได้ เช่น เหล็ก สิ่งทอ ชิ้นส่วนรถยนต์ และกลัวผลิตภัณฑ์ประเภทนมจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ซึ่งเป็นคู่แข่งในตลาดโลกไหลเข้ามาในอินเดีย
- ส่วนอินเดียอยากให้เปิดเสรีด้านแรงงาน ให้เคลื่อนย้ายแรงงานได้อย่างเสรีในกลุ่มประเทศ RCEP ซึ่งประเทศอื่นๆ ก็กลัวแรงงานอินเดียซึ่งมีทักษะสูงไหลทะลักเข้ามาเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม RCEP ถือว่าคืบหน้าไปมากในการประชุมที่ประเทศไทย คืนวันที่ 3 พฤศจิกายน คณะทำงานของทั้ง 16 ประเทศประชุมกันเคร่งเครียดถึงเที่ยงคืน และสุดท้ายได้ข้อสรุปออกเป็นแถลงการณ์ 15+1 โดยอินเดียไม่ร่วมแถลงการณ์ด้วย แต่ย้ำว่าอินเดียไม่ได้ออกจาก RCEP และร่วมวงเจรจาใน RCEP ต่อไป ซึ่งภายในปีหน้าที่ประเทศเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียนซัมมิต เชื่อกันว่าเราจะได้เห็นพิธีลงนามในแถลงการณ์ร่วมกันของกลุ่มประเทศ RCEP เขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ในระหว่างนี้ยังต้องติดตามปฏิกิริยาของอินเดีย ซึ่งเป็นเพียงประเทศเดียวใน 16 ประเทศที่ติดปัญหา
ปิติ ศรีแสงนาม แห่งศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าจีนพยายามกดดันให้อินเดียลงนามในข้อตกลง RCEP ให้ได้ หรือไม่ก็ไม่ต้องมีอินเดียอยู่ใน RCEP เลย ในขณะที่ญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นกาวใจให้เกิดการประนีประนอม เพราะหาก RCEP ไม่มีอินเดีย ศักยภาพในเวทีโลกอาจจะลดลง เพราะประชากรจะหายไปราว 1,300 ล้านคน
สำหรับ RCEP คือหัวใจและไฮไลต์ของการประชุมอาเซียนซัมมิตที่ประเทศไทย ซึ่งมีจีนเป็นผู้ผลักดันในสายตาของสหรัฐฯ แม้จะมีนโยบายให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้ซึ่งเขาเรียกว่า ‘อินโดแปซิฟิก’ ก็ตาม
อย่างไรก็ดี ในแง่การเมืองโลกจะมองว่าสหรัฐอเมริกาเพลี่ยงพล้ำก็ไม่เต็มปากนัก เพราะถึงอย่างไร RCEP ก็ต้องเกิดขึ้นในโลกที่การค้าแบบพหุภาคีไม่เพียงพออีกต่อไป
จีนมีความสัมพันธ์กับทางอาเซียนและภูมิภาคเอเชียค่อนข้างเยอะ ทางฝั่งสหรัฐอเมริกาก็รู้สึกว่าภายหลังสงครามเย็น สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับการผงาดของจีนและรัสเซีย
สหรัฐอเมริกาต้องเดินเกมต่อด้วยการถ่วงดุลจีนด้านความมั่นคงในทะเลจีนใต้ สิ่งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะต้องทำและหนีไม่พ้นคือต้องเข้ามาถ่วงดุลจีนในภูมิภาคนี้
ขณะที่ โรเบิร์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทรัมป์ อ่านสารจากทรัมป์ในที่ประชุมอาเซียน ขอเชิญผู้นำอาเซียนไปร่วมประชุมสุดยอดนัดพิเศษกับทรัมป์ที่สหรัฐอเมริกาในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า
นี่คือการแก้เกมการเมืองโลกของสหรัฐอเมริกา ที่แม้เวทีประชุมอาเซียนครั้งนี้เขาจะไม่ได้อะไรเลย ในขณะที่จีนมีบทบาทนำอย่างโดดเด่น
แต่ขึ้นชื่อว่ามหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกา พวกเขาจะไม่ปล่อยให้ภูมิภาคอาเซียนตกเป็นของจีนแต่เพียงผู้เดียวแน่นอน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์